ชื่นชมความสำเร็จ 3 ปีซ้อน กับรางวัลด้านการบริการประชาชน

 

การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
 
          เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากคณะผู้เยี่ยมสำรวจจาก คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจ (อกพร.) ในการเยี่ยมสำรวจเพื่อรับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ในหัวข้อเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ  โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดี ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา  เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ หัวหน้าโครงการจัดตั้งภาควิชาฉุกเฉิน พร้อมด้วย อาจารย์นายแพทย์ศักดา อาจองค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลับมหิดล นำทีมอาจารย์แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

          อาจารย์นายแพทย์ศักดา อาจองค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งภาควิชาฉุกเฉิน  กล่าวเกี่ยวกับเรื่อง  การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ว่า ห้องฉุกเฉินเปรียบเสมือนองค์กรเล็กหรือชุมชน ๆ หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีความซับซ้อนในการให้การบริการผู้ป่วยที่ถูกย่อส่วนมาจากระบบใหญ่ของทั้งโรงพยาบาล โดยครอบคลุมกิจกรรมทั้งในด้านการดูแลรักษา ทั้งกรณีฉุกเฉิน ภาวะวิกฤติ  ให้กับผู้ป่วย การทำงานจึงครบกระบวนการตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไปจนกระทั่งผู้ป่วยกลับบ้าน ในปัจจุบันจากการจำกัดปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือ เตียง อุปกรณ์ ในการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ  ทำให้ห้องฉุกเฉินในหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประสบกับปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ คือ การท่วมท้นของผู้ป่วย (Overcrowding) ที่มารับบริการในห้องฉุกเฉินทั้งในและนอกเวลาราชการ เมื่อเกิดความไม่สมดุลของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลทำให้เกิด ปัญหาความครอบคลุมดูแล การล่าช้าในกระบวนการการดูแลและอาจนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตกับตัวผู้ป่วยเอง ญาติ และนอกจากนี้ยังส่งผลเสียกลับในทางด้านจิตใจของผู้ให้บริการพร้อม ๆ กันไป

          ปัญหาจุดเล็กเหล่านี้ทำให้ “หน่วยงานบริการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ ห้องฉุกเฉิน” ตระหนักและมองเห็นข้อผิดพลาดเหล่านี้และได้พยายามหาวิธีการต่าง ๆ มากมายมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทีมงานในการให้การรักษาดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยแพทย์ พยาบาล หน่วยงานสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ศึกษาทบทวนข้อมูลผลลัพธ์ ระบบการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง ธันวาคม ๒๕๕๐ พบว่า  จำนวนผู้มารับบริการเฉลี่ยอยู่ประมาณ ๑๘๐-๓๐๐ รายต่อวัน ระยะเวลาในการให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ประมาณ ๘-๑๐ ชั่วโมงต่อราย มีผู้ป่วยคั่งค้างที่นอนอยู่ห้องฉุกเฉินนานกว่า ๒๔ ชั่วโมงเฉลี่ยประมาณ ๘ ราย/วัน  การจัดเก็บตัวชี้วัดต่าง ๆ ของการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นเพียงการเก็บและนำมาวิเคราะห์ด้วยมือ ทำให้การรายงานผลล่าช้า  การดูแลโดยสหสาขาไม่สามารถมองเห็นภาพรวม ผู้ป่วยอยู่กระจัดกระจายเนื่องจากความจำกัดในด้านพื้นที่ ไม่ทราบปริมาณผู้ป่วยและตำแหน่งของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยหน่วยงานที่รับการปรึกษา ไม่ทราบตัวชี้วัดหลักที่สำคัญเมื่อต้องการทราบ  เมื่อวิเคราะห์ทั้งกระบวนการทั้งระบบบริการ พบว่ากระบวนการให้บริการแบบ Single End โดยผู้รับบริการเป็นผู้รู้ข้อมูลด้านเดียวและปัจจัยที่จำกัดในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบบริการ ตั้งแต่ผู้ป่วยมารับบริการการแพทย์ฉุกเฉินจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา โดยผ่านขั้นตอนตั้งแต่ การลงทะเบียน, ทำเวชระเบียน, ตรวจสอบสิทธิการรักษา, ผ่านระบบคัดกรอง(Triage), ผ่านกระบวนการรักษา, ส่งตรวจทางด้านปฏิบัติการหรือทางรังสีวินิจฉัย, การสั่งการรักษา, การลงวินิจฉัย, การสั่งยา, การจำหน่ายหรือส่งต่อผู้ป่วย

          ทุกคนในทีมงาน มองเห็นว่าในชีวิตปัจจุบันระบบสารสนเทศมีส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และช่วยเหลือเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันอย่างแยกออกจากกันได้ยาก ระบบสารสนเทศแหรือคอมพิวเตอร์ก็มีข้อผิดพลาดแต่ย่อมผิดพลาดน้อยกว่าตัวรายบุคคล โดยเฉพาะระบบที่ได้ออกแบบมาอย่างดีให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานชนิดที่ว่า อุปมาอุปมัยเสมือนช่างตัดเสื้อที่เก่ง จะรู้และเข้าใจในสัดส่วนของลูกค้าอย่างดี เช่นเดียวกันระบบสารสนเทศที่พัฒนาด้วยตัวขององค์กรเอง (In-house Development) ก็ย่อมเหมาะสมสำหรับแนวทางการทำงานของตนเองมากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ระบบ รู้ตัวบริบทขององค์กรได้ดีเท่ากับผู้ทำงานเอง นอกจากนี้แล้วยังช่วยประหยัดงบประมาณขององค์กรเองในการซื้อลิขสิทธิ์ของโปรแกรมบริหารจัดการต่างๆ ของต่างประเทศ หรือการจ้างองค์กรภายนอกมาพัฒนา (Outsourcing) ลงได้หลายสิบล้านบาท

          ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบลักษณะการทำงาน แนวคิด การดูแลผู้ป่วยแบบ tracer ตั้งแต่ เข้ารับบริการจนออกเสร็จสิ้นขั้นตอนหรือจากโรงพยาบาล ลดข้อผิดพลาด มีระบบเตือนภัยอัตโนมัติ เช่นการแพ้ยา มีระบบเวชระเบียนรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า EMR ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรในอนาคต สะดวกในการสื่อสาร ลดข้อผิดพลาดจากลายมือที่อ่านออกยาก รวมประสานการทำงานของทุกระบบ อาทิ เช่น ระบบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ระบบรังสีวินิจฉัย ระบบบันทึกเวชระเบียน ระบบการส่งยา และการบริหารจัดการการรักษาให้เป็นไปตามสิทธิที่พึงได้ของผู้ป่วย และช่วยลดขั้นตอนการรอคอย ลงเหลือเฉลี่ย ๔ ชม. ต่อราย ผู้ป่วยรับรู้ขั้นตอนการรับบริการ ลดความคับคั่งของห้องฉุกเฉิน และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยพึงพอใจต่อการรับบริการ เหมือนกับที่บุคลากรทุกคนฝันไว้...อยากเห็นรอยยิ้ม ของผู้ป่วยทุกคนหลังรับการบริการ และเชื่อมั่นในระบบบริการของเรา...

   

           อาจนับได้ว่า เป็นการตอกย้ำความสำเร็จด้านการบริการประชาชนถึง 3 ปีซ้อน ซึ่งในปีนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติ จาก อกพร. เรียนเชิญ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดี และ อาจารย์ นายแพทย์ ศักดา อาจองค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งภาควิชาฉุกเฉิน เข้ารับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณและเข็มที่ระลึกจาก อกพร. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณ.หอประชุมกองทัพเรือ ท่ามกลางความดีใจของผู้มาร่วมงาน อาทิเช่น บุคลากรโครงการจัดตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งนำทีมโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สันต์ หัตถีรัตน์ , คุณวิมลรัตน์ มาลีวรรณ , ผู้อำนวยการ/คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล ต่างยินดีกันถ้วนหน้า และต่างมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพบริการของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป.