แนะนำมหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อพิจารณาจากประวัติของมหาวิทยาลัยแล้วจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีอายุยาวนานมากกว่า ๑๐๐ ปี มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยกว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เริ่มที่โรงศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทยากร โรงเรียนราชแพทยาลัย โดยเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๒   จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล

ยุคโรงศิริราชพยาบาล 

พ.ศ. ๒๔๒๙, ๒๒ มีนาคม :
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะคอมมิตี้จัดสร้างโรงพยาบาล และ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๒๐๐ ชั่ง (๑๖,๐๐๐ บาท) ให้เป็นทุน คณะคอมมิตี้ ขอพระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลัง ซึ่งร้างอยู่ตั้งแต่ รัชกาลที่ ๓ มาเป็นที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรก
พ.ศ. ๒๔๓๐, ๓๑ พฤษภาคม :
     สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์เมื่อเสร็จการพระเมรุ แล้วพระราชทานสิ่งของทั้งปวงในงานพระเมรุ พร้อมทั้งเงินพระมรดกของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ จำนวน ๗๐๐ ชั่ง (๕๖,๐๐๐ บาท) ให้โรงพยาบาล
พ.ศ. ๒๔๓๑, ๒๖ เมษายน:
     เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาล
พ.ศ. ๒๔๓๑, ๓๑ ธันวาคม :
     พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "โรงศิริราชพยาบาล"

ยุคโรงเรียนแพทยากร

พ.ศ. ๒๔๓๒, มีนาคม :
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น
พ.ศ. ๒๔๓๒, พฤษภาคม :
     เปิดโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล รับนักเรียนซึ่งมีพื้นความรู้อ่านออกเขียนได้ ใช้เวลาเรียน ๓ ปี จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ ซึ่งนักเรียนแพทย์รุ่นแรก มี ๑๕ คน
พ.ศ. ๒๔๓๔, ๑ มกราคม : 
     นายแพทย์ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์
พ.ศ. ๒๔๓๕ :
     นักเรียนแพทย์รุ่นแรกสำเร็จการศึกษา มีจำนวน ๙ คน
พ.ศ. ๒๔๓๖, ๓๑ พฤษภาคม :
     ตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า "โรงเรียนแพทยากร"
พ.ศ. ๒๔๓๙ :
     สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้น ในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๔๐ :
     สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภา ผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกเรียน และเรือนพักนักเรียนแพทย์ขึ้นใหม่

ยุคโรงเรียนราชแพทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๔๓, ๓ มกราคม :
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์ และพระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย ในโอกาสนั้นโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตรให้แพทย์ รุ่นที่ ๘ จำนวน ๙ คน และพยาบาลรุ่นแรก จำนวน ๑๐ คนด้วย
พ.ศ. ๒๔๔๕ :
     นายแพทย์ ยอร์ซ บี แมคฟาร์แลนด์ (ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นผู้อำนวยการทั้งฝ่ายโรงพยาบาล และฝ่ายโรงเรียนแพทย์
พ.ศ. ๒๔๔๖ :
     ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เป็น ๔ ปี
พ.ศ. ๒๔๕๖ :
     พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ชัยนาท - นเรนทร) ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ โปรดให้ปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยเพิ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และขยายหลักสูตรแพทย์ เป็น ๕ ปี และรับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖
พ.ศ. ๒๔๕๘ :
     พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้า เจ้าอยุ่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาท นเรนทร เป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย เลิกการสอน วิชาแพทย์ไทย ในหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เปิดสอน ประกาศนียบัตร แพทย์ปรุงยา (เภสัชศาสตร์) หลักสูตร ๓ ปี
พ.ศ. ๒๔๕๙, ๒๖ มีนาคม :
     พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็น "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย"
พ.ศ. ๒๔๖๐, ๖ เมษายน :
     รวมโรงเรียนราชแพทยาลัย เป็น "คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล"
พ.ศ. ๒๔๖๑ :
     ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เป็น ๖ ปี โดย ๔ ปีแรกเรียนวิชาเตรียมแพทย์และปรีคลินิกที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ ๒ ปีหลัง เรียนวิชาคลินิกที่ศิริราช
พ.ศ. ๒๔๖๒:
     ศาสตราจารย์ เอ จี . เอลลิส เข้ามาเป็นอาจารย์สอนพยาธิวิทยาเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๖๔:
     เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ มูลนิธิฯ ส่งนายแพทย์ ริชาร์ด เอม เพียร์ส ประธานกรรมการฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาเข้ามาดูกิจการของการศึกษาแพทย์ในประเทศไทย ในการเจรจากับกระทรวงธรรมการ ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับภาระเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในที่สุดได้ตกลงกันในหลักการ ดังนี้
   ๑. ขยายหลักสูตรแพทย์เป็นระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต
   ๒. ย้ายปรีคลินิกกลับมา ศิริราช
   ๓. มูลนิธิฯ ส่งศาสตราจารย์เข้ามาช่วยวางหลักสูตร และจัดการเรียนการสอน
   ๔. ให้ทุนแก่อาจารย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ
   ๕. จัดสร้างอาคารโรงพยาบาลศิริราชโดยออกเงินฝ่ายละครึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้างตึก ๒ หลัง พระราชทานทุนให้แพทย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกจำนวนมาก และในบางระยะยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนิสิตแพทย์ด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๖ :
     รับนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นแรกจากนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ ต่อมา มูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนพยาบาล และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๑ :
     แพทย์ปริญญารุ่นแรกสำเร็จการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๒, ๒๔ กันยายน :
     สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิง นิสิตแพทย์ได้รับเกียรติฯให้อัญเชิญเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในริ้วขบวนด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๓, ๒๕ ตุลาคม :
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ให้แพทย์ปริญญารุ่นที่ ๑ และรุ่นที่ ๒ ณ ห้องประชุมตึกอักษรศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นได้พระราชทานเหรียญรางวัลให้ผู้ที่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๕ :
     ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฏีบัณฑิต ๑ คน และแพทย์หญิงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในปีนี้ ๓ คน

ยุคมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๑ กุมภาพันธ์ :
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เรียกว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล" มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม (จากราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๒ เล่มที่ ๘๖ ตอนที่ ๑๗)
พ.ศ. ๒๕๑๒, ๑๔ ธันวาคม :
     จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๓ หน้า ๓๔)
พ.ศ. ๒๕๑๓, ๒๗ มีนาคม :
     ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๕ นายกสภามหาวิทยาลัย ได้แจ้งให้ทราบว่าตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ให้อัญเชิญสมเด็จพระราชชนนีฯ ดำรงตำแหน่งกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทรงรับเชิญแล้วโดยมี นาย สัญญา ธรรมศักดิ์ และนายพจน์ สารสิน เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอีกจำนวนประมาณ ๓๕ คน และได้มีการประชุมครั้งแรก ณ วังสระประทุม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องมหาวิทยาลัยมหิดลขอซื้อที่ดิน ๑,๒๔๑ ไร่เศษ ที่ อ.ศาลายา จังหวัดนครปฐม ระยะทาง ๒๑ ก.ม. จากวงเวียนใหญ่ ธนบุรี เลี้ยวขวาเข้าสาย ๔ ผ่านบริเวณพุทธมณฑลเข้าไปอีก ๖ ก.ม. ด้านเหนือจดถนนไปอำเภอนครชัยศรีขนานกับทางรถไฟตรงสถานีศาลายาด้านใต้ติดกับบริเวณพุทธมณฑล ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอซื้อ เพื่อขยายกิจการของมหาวิทยาลัยมหิดลจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นชอบตามอาณาเขตดังกล่าว
พ.ศ. ๒๕๑๔, ๑๘ มกราคม :
    ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๗ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบกับข้อเสนอของประธานกรรมการบริหารพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ว่าเห็นชอบด้วยในการจัดซื้อที่ดิน ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สำหรับโครงการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนการก่อสร้าง หรือโครงการที่จะดำเนินการในสถานที่ใหม่นี้ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พิจารณาภายในกรอบของแผนพัฒนาการฯ ฉบับที่ ๓ และขอให้สำนักงบประมาณ พิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินงบประมาณ ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ส่วนในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน และการชำระเงินงวดแรก ขอให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานงบประมาณ ร่วมกันเจรจาทำความตกลง กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต่อไป
สำหรับคณะกรรมการที่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจัดทำแผนหลักได้ประชุมกันหลายครั้ง และสรุปความเห็นของที่ประชุมได้ดังต่อไปนี้คือ
๑. แผนหลักที่ศาลายา ควรทำเป็นแผนที่สมบูรณ์ระยะ ๒๐ ปี โดยกำหนดความสำคัญของโครงการ และระยะเวลาไว้การดำเนินการจะเลือกดำเนินการตามความเหมาะสม
๒. โครงการที่ควรดำเนินการในขั้นต้น คือ
    จัดให้จัดการศึกษาปี ๑ - ๒ ของทุกคณะไปศึกษาที่ศาลายาให้มากที่สุด
    เพิ่มการรับนักศึกษา โดยมีนโยบายเน้นหนักไปในทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการการศึกษาและอื่นๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบในอนาคต
    ควรให้คณะวิทยาศาสตร์ขยายจำนวนนักศึกษาวิทยาศาสตร์ และขยายการผลิตอาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฯลฯ ได้มากขึ้น
    ควรให้คณะต่างๆ ซึ่งมีบริเวณคับแคบมีโอกาสปรับปรุงขยายสถานที่ เช่น คณะเทคนิคการแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลศิริราชฯ เป็นต้น
    โครงการก่อตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะดำเนินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อไปอาจขยายการผลิตผู้ที่มีความรู้ระดับกลาง ซึ่งประเทศกำลังขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาจารย์และอุปกรณ์เหมาะสม 
พ.ศ. ๒๕๑๔, ๑๗ กุมภาพันธ์ :
     ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการ ขายโอนที่ดินที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ ๑,๒๔๒ ไร่ ๒๐ ตารางวา ขายให้มหาวิทยาลัย ใช้เป็นพื้นที่ขยายกิจการ พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นพระราชปณิธานสืบเนื่อง เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเริ่มดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว
พ.ศ. ๒๕๑๔, ๑๔ พฤศจิกายน :
     จัดตั้งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (จากราชกิจจานุเบกษา ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๓๖ หน้า ๘๑๐)
พ.ศ. ๒๕๑๕, ๑๓ เมษายน :
     ได้มีคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๒๑ ประกาศให้ โอนคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะที่ ๑ และคณะเภสัชศาสตร์ คณะที่ ๑ ไปสังกัดเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
พ.ศ. ๒๕๑๕ :
     โอนมหาวิทยาลัยมหิดล จากสำนักนายกรัฐมนตรีไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
พ.ศ. ๒๕๑๕, ๒๓ มิถุนายน :
     ยกฐานะโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ที่จัดตั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นคณะพยาบาลศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๐๓ ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖ ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
พ.ศ. ๒๕๑๕, ๑๕ พฤศจิกายน :
     ที่ประชุมเห็นชอบกับแผนและการคำนวณโครงการศาลายาของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาเสนอ
พ.ศ. ๒๕๑๖ :
     ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ อนุมัติให้ตัดคำว่า "พญาไท" ท้ายคำของคณะทันตแพทย์ศาสตร์พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์พญาไท
พ.ศ. ๒๕๑๘, ๒๘ สิงหาคม :
      มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งโฉนดที่ดินตำบลศาลายาขึ้นทะเบียนราชพัสดุ
พ.ศ. ๒๕๑๙ :
      เริ่มดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา โดยมีปัญหาในการดำเนินการ เช่น การจำกัดของงบประมาณ ระยะเวลาของการก่อสร้างอยู่ในสมัยซึ่งประเทศชาติมีความยุ่งยากทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมหลายประการ ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบถึงราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย เกิดการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ขาดแคลนช่างฝีมือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็มีปัญหาในการดำรงความมุ่งหมาย และนโยบาย เพราะใช้เวลาวางแผนและดำเนินการต่อเนื่องนานนับสิบปี
พ.ศ. ๒๕๒๐, ๑๓ มกราคม :
      จัดตั้งสถาบันวิจัยโภชนาการ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการ และภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐) ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี (จากราชกิจจานุเบกษา ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๘ หน้า ๒๓)
พ.ศ. ๒๕๒๐, ๒ กุมภาพันธ์ :
      ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓๘ ศาสตราจารย์ณัฐ ภมรประวัติ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาและวางแผนได้แถลงการดำเนินงาน และความคืบหน้าของโครงการศาลายา จากนั้นได้มีการตั้งกรรมการดำเนินงานขึ้น ๑ ชุด โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดวางแผนผังหลัก และได้เริ่มการดำเนินงานในระยะแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๑๗
พ.ศ. ๒๕๒๑, ๓๐ มกราคม :
       ยกฐานะโครงการการศึกษาและวิจัยสิ่งแวดล้อมที่จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ (จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๑๘ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑)
พ.ศ. ๒๕๒๓ :
       มหาวิทยาลัยมหิดลมีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้จัดหาที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งของหน่วยงานทั้ง ๓ เขตของมหาวิทยาลัย และมีพื้นที่เพียงพอเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้น ๓ สัปดาห์ กรมธนารักษ์ แจ้งอนุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุ ที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๕๒๔, ๓๐ พฤศจิกายน :
       มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของอาจารย์ และนักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามประกาศแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ ๒ ของทบวงมหาวิทยาลัย (พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๒๐๕ ฉบับพิเศษหน้า ๑๓)
พ.ศ. ๒๕๒๖, ๒๓ กรกฎาคม :
        สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา โดยระยะแรกมีหน่วยงานที่ได้เข้าไปปฏิบัติงานตามลำดับดังนี้
   สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ (เดิมชื่อโครงการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ) ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
  ศูนย์ศาลายา (เติมชื่อโครงการศูนย์ศาลายา) ตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
   คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔
   คณะวิทยาศาสตร์ (ในส่วนที่รับผิดชอบการเรียนของนักศึกษาปีที่ ๑) ตั้งแต่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕
   คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖
   สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน (เดิมชื่อศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานแห่งอาเชียน) ตั้งแต่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖
พ.ศ. ๒๕๒๖, ๒๑ พฤศจิกายน :
       สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ย้ายสำนักงานจากตึกอำนวยการ ชั้น ๒ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ไปปฏิบัติงานในสำนักงานใหม่ของสถาบันที่ศาลายา ตั้งแต่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖
พ.ศ. ๒๕๒๗, มีนาคม :
       สถาบันวิจัยโภชนาการ ย้ายสำนักงานจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ไปปฏิบัติงานในสำนักงานใหม่ของสถาบันที่ศาลายา ตั้งแต่ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
พ.ศ. ๒๕๒๘ :
       แพทย์รุ่นที่จบการศึกษา ๒๕๒๗ รับปริญญาปี ๒๕๒๘ เป็นรุ่นแรกที่เรียนภายใน ๖ ปี โดยรวมแพทย์ฝึกหัดไปด้วย ฉะนั้นจึงไม่ต้องไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก ๑ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๙, ๑๔ กุมภาพันธ์ :
       สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธียกเสาเอกเรือนไทย "ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเซียอาคเนย์" นับเป็นศิริมงคลแก่หน่วยงานนี้เป็นอย่างยิ่ง ทางมหาวิทยาลัยได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเป็นเงินทั้งสิ้น ๙ ล้านบาท โดยทางคุณระเบียบ คุณเกษม เป็นผู้บริจาคให้ ๕ ล้านบาท และมหาวิทยาลัยสมทบให้อีก ๔ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินทรงเปิดเรือนไทยดังกล่าว
พ.ศ. ๒๕๔๙, ๔ สิงหาคม :
       ยกฐานะกองห้องสมุด ที่จัดตั้งเป็น กองสังกัดสำนักงานอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้เป็นสำนักหอสมุด และยกฐานะโครงการศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยสังกัดสำนักงานอธิการบดี ให้เป็นสำนักคอมพิวเตอร์ตามลำดับ (จากราชกิจจานุเบกษา ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๔๐ ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐)
พ.ศ. ๒๕๓๐, ๑๕ กันยายน :
      ยกฐานะโครงการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๙๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓ - ๑๔)
พ.ศ. ๒๕๓๐, ๑๑ พฤศจิกายน :
      พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๑๒ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙๗ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๒๙)
พ.ศ. ๒๕๓๑, ๑๘ กรกฎาคม :
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี และมหาวิทยาลัยได้ย้ายสำนักงานอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มาทำการ ณ อาคารใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๑, ๖ ตุลาคม :
      พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๑ มหาวิทยาลัยจึงได้ยกฐานะศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามโครงการความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ ขึ้นเป็นสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางด้านส่งเสริมสนับสนุน ดำเนินงานวิจัยและให้บริการด้านการเรียน การสอน เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีตลอดจน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางด้านสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ ในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการเรียนการสอน และการวิจัย และความรู้ ทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน ระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลดีแก่ประเทศ ผู้เป็นสมาชิกด้วยกันและเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๖๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ - ๓)
พ.ศ. ๒๕๓๒, ๔ ธันวาคม :
      โครงการการศึกษาปริญญาตรี สำหรับนักศึกษานานาชาติ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน สำหรับนักศึกษานานาชาติ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
พ.ศ. ๒๕๓๒, ๑๘ ธันวาคม :
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งศูนย์ศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๒ การขยายพื้นที่ทำการของมหาวิทยาลัย ไปยังตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โครงการศูนย์ศาลายา ซึ่งจัดตั้งเป็นการภายในตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ดังกล่าว การประกาศจัดตั้งศูนย์ศาลายา ขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการยกฐานะโครงการศูนย์ศาลายา ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการจัดการศึกษาวิชาพื้นฐาน สำหรับนักศึกษาทุกคณะในชั้นปีที่ ๑ และปีที่ ๒ ซึ่งเรียนร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าว และเป็นหน่วยงานบริหาร และให้บริการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานเรื่องการจัดการศึกษาต่อเนื่องในลักษณะสหสาขาวิชา (ราชกิจจานุเบกษา ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๒ เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๒๗ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ - ๓)
พ.ศ. ๒๕๓๓, ๑๘ สิงหาคม :
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อ ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งช่วยลดสภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และสนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานศักยภาพขีดความสามารถและ ความพร้อมเปิดสอนสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓ เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๕๘ ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓ -๒๕)
พ.ศ. ๒๕๓๔, ๑๐ ตุลาคม : 
       เริ่มดำเนินการก่อสร้างกลุ่มอาคารอำนวยการ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

 โดยสรุปในช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ดำเนินการอยู่นั้น ได้มีการจัดตั้งคณะใหม่และโอนย้ายคณะดังนี้ การจัดตั้งคณะใหม่ รวม ๑๐ คณะ คือ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พ.ศ. ๒๔๙๑

คณะสาธารณสุขศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๙๑

คณะเทคนิคการแพทย์

พ.ศ. ๒๕๐๐

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๕๐๒

คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (คณะเวชศาสตร์เขตร้อนในปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๕๐๓

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

พ.ศ. ๒๕๐๓

บัณฑิตวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๐๗

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

พ.ศ. ๒๕๐๘

คณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท

พ.ศ. ๒๕๑๑

คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท

พ.ศ. ๒๕๑๑

มีการโอนคณะ ๕ คณะดังนี้ 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ โอนไปสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๙๗

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ โอนไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๕๐๘

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๑๐

คณะทันตแพทยศาสตร์ โอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๑๕

คณะเภสัชศาสตร์ โอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๑๕

ต่อมาในยุคของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการพัฒนาและจัดตั้งหน่วยงานในระดับ คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย ขึ้นอีกดังต่อไปนี้
 
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย/อธิการบดี
 
พระอัพภันตราพาธพิศาล  ๑๒ มี.ค. ๒๔๘๕ - ๑๖ เม.ย. ๒๔๘๘
หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์  ๑๗ เม.ย. ๒๔๘๘ - ๑๕ ก.ย. ๒๕๐๐
หลวงพิณพากย์พิทยาเภท  ๑๖ ก.ย. ๒๕๐๐ - ๑๕ ส.ค. ๒๕๐๑
ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง  ๑๖ ส.ค. ๒๕๐๑ - ๒ มิ.ย. ๒๕๐๗
ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์  ๓ มิ.ย. ๒๕๐๗ - ๘ ธ.ค. ๒๕๑๒
ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชชวาล โอสถานนท์  ๙ ธ.ค. ๒๕๑๒ - ๓๐ พ.ย. ๒๕๑๔
ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช  ๑ ธ.ค. ๒๕๑๔ -  ๘ ธ.ค. ๒๕๒๒
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ  ๙ ธ.ค. ๒๕๒๒ - ๘ ธ.ค. ๒๕๓๔
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี  ๙ ธ.ค. ๒๕๓๔ - ๘ ธ.ค. ๒๕๓๘
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ๙ ธ.ค. ๒๕๓๘ - ๘ ธ.ค. ๒๕๔๒
ศาสตราจารย์เกียรติคุณพรชัย มาตังคสมบัติ  ๙ ธ.ค. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
 

         ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย สำนักอธิการบดี, คณะ ๑๔ คณะ, สถาบัน ๘ สถาบัน, สำนัก ๔ สำนัก, ศูนย์ ๓ ศูนย์ และวิทยาลัย ๖ วิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีสถาบันสมทบอีก ๒๐ แห่ง หน่วยงานต่างๆ ที่สัดกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างกัน ๓ พื้นที่ คือ
 
๑ พื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๗๒ ไร่ เป็นที่ตั้งของ 
          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
          คณะเทคนิคการแพทย์
          คณะพยาบาลศาสตร์ 
๒ พื้นที่เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๙๘ ไร่ แบ่งเป็น ๓ บริเวณ คือ
          บริเวณถนนศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งของ 
             คณะเภสัชศาส
          บริเวณถนนพระราม ๖ เป็นที่ตั้งของ 
             คณะวิทยาศาสตร์
             คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
             สำนักคอมพิวเตอร์
             ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา
             สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้
          บริเวณถนนราชวิถี ซึ่งมีบริเวณติดต่อกับถนนโยธีอีกด้านหนึ่งด้วยเป็นที่ตั้งของ 
             คณะสาธารณสุขศาสตร์
             คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
             โครงการศูนย์ทดสอบวัคซีน
             คณะทันตแพทย์ศาสตร์
๓ พื้นที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ ๑,๒๓๙ ไร่ ๑ งาน ๖๑ ตารางวา เป็นที่ตั้งของ
             สำนักงานอธิการบดี
             งานตรวจสอบภายใน
             คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
             คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
             คณะวิศวกรรมศาสตร์
             คณะวิทยาศาสตร์ (เฉพาะส่วนที่ดำเนินการสอนนักศึกษาชั้นปีที่ ๑-๒)
             บัณฑิตวิทยาลัย
             คณะสัตวแพทยศาสตร์
             สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
             สถาบันวิจัยโภชนาการ
             สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
             สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
             สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน
             สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
             สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์
             สำนักหอสมุด
             สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ
             ศูนย์ศาลายา
             ศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ
             วิทยาลัยราชสุดา
             วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
             วิทยาลัยนานาชาติ
             วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
             วิทยาลัยศาสนศึกษา 

          นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีหน่วยงานที่ตั้งภายนอกมหาวิทยาลัย คือ วิทยาลัยการจัดการ ตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ เลขที่ ๑๘ ชั้น ๔ อาคาร ๒ อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์คพลาซ่า ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร สำหรับการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และเลขที่ ๑๘๓ ชั้น ๑๓ อาคารรัจนาการ ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สำหรับการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาไทย และมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการขยายการจัดการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค ๓ แห่งใน ๓ จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดนครสวรรค์, จังหวัดอำนาจเจริญ ตามนโยบายขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไปยังส่วนภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี เป็นวิทยาเขตสารสนเทศแรก ณ หมู่บ้านไตรรัตน์ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 

 สถาบันสมทบ
สถาบันสมทบ มีทั้งหมด ๒๐ แห่งดังนี้ 
(๑) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
(๒) วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
(๓) วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล
(๔) วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
(๕) วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ
(๖) วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ
และสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
(๗) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
(๘) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
(๙) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
(๑๐) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
(๑๑) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
(๑๒) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
(๑๓) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
(๑๔) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศรีธัญญา
(๑๕) วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี
(๑๖) วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
(๑๗) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
(๑๘) โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
(๑๙) โรงพยาบาลราชบุรี
(๒๐) โรงพยาบาลสวรรค์ประชา
 
คำขวัญ  พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง
ปรัชญา  ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ
ปณิธาน    ปัญญาของแผ่นดิน
วิสัยทัศน์  มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก
พันธกิจ  สร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อสังคมไทย และประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ

ตรามหาวิทยาลัย
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒
สีน้ำเงินแก่
      สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระยศในขณะนั้น) พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๒
ต้นกันภัยมหิดล
      สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานพระราชวินิจฉัยชี้ขาดให้ต้นกันภัยมหิดล เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์