หน่วยวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา ดัชนีวัดสถานการณ์ระบบสุขภาพชุมชนเมือง ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2 ภายในงานมี Recap and Review: นำเสนอการรายงานสถานการณ์ผ่านชุดตัวชี้วัด (Indicators) ที่การกลั่นกรองและปรับปรุงโดยคณะผู้วิจัย ซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือกแบบมีส่วนมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิคเดลฟายแบบปรับปรุง (Modified Delphi Technique) ผ่านวิธีการความเหมาะสมของแรนด์และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (RAND/UCLA Appropriateness Method) โดย นพ.ณัฐวุฒิ เอี่ยงธนรัตน์ และคณะทำงานผู้จัดการประชุมฯ และ Consultation Meeting: การประชุมรับฟังข้อเสนอและระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์ (Situational Proxy Indicators) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประเมินสมรรถนะและติดตามพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของระบบตามช่วงเวลา เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายระยะยาวบนฐานความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์สู่เป้าหมายการเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive City) โดยตัวอย่างประเด็นที่จะปรึกษาหารือ เช่น
(1) ตัวชี้วัดด้านโครงสร้างและการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมประเด็นโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การผูกขาด และการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่
(2) ตัวชี้วัดด้านการพัฒนาทุนมนุษย์และการเรียนรู้ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทักษะแรงงาน และการเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิต
(3) ตัวชี้วัดด้านการเข้าถึงบริการและสวัสดิการ ซึ่งรวมการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการข้อมูล และเทคโนโลยี
(4) ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล ซึ่งครอบคลุมการมีส่วนร่วมของประชาชน แรงงานสัมพันธ์ การกระจายอำนาจ และการบูรณาการนโยบายระหว่างภาคส่วน
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง เลอ เบล แอร์ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์ต กรุงเทพฯ