ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ (HLA)
 |
รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงดวงตะวัน ธรรมาณิชานนท์
หัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ (HLA) |
การส่งตรวจ HLA antibody
สั่งตรวจทาง on line และให้ส่ง Clotted blood ของผู้ป่วย 3 - 5 ml มายังห้องปฏิบิติการตรวจเนื้อเยื่อ การทดสอบนี้ใช้เวลา 3 วัน รายงานผลเป็นบวกหรือลบ ในกรณีรีบด่วน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อเป็นราย ๆ ไป
การตรวจเนื้อเยื่อสำหรับ Related Bone Marrow Transplantation
ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อมีบริการการตรวจเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ที่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นผู้บริจาคไขกระดูกให้ โดยจะทำการตรวจเฉพาะ วันจันทร์ และวันอังคาร มีขั้นตอนดังนี้
1. แพทย์หรือพยาบาลที่รับผิดชอบจะเป็นผู้โทรศัพท์นัดหมายวันตรวจเนื้อเยื่อให้กับผู้ป่วยและผู้บริจาคไขกระดูก
2. ผู้ป่วยและผู้บริจาคไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด นำใบสั่งตรวจมายังห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ
พร้อมกันเวลา 08.30 น.เพื่อรับการเจาะเลือดตรวจ (ถ้ามาสายเกิน 09.00 น. อาจต้องมีการเลื่อนนัดใหม่)
3. เตรียมบัตรโรงพยาบาลและบัตรประชาชนทั้งของผู้ป่วยและผู้บริจาคมาด้วยในวันเจาะเลือดตรวจเนื้อเยื่อ
4. ชำระเงินค่าตรวจแล้วนำใบเสร็จกลับมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจตรวจเนื้อเยื่อ
5. เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อจะแจ้งเบอร์โทรศัพท์ของห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสอบถามผลการตรวจขั้นตอนที่ 1 ว่าผ่านหรือไม่ในวันถัดไป ถ้าผ่านจะต้องทำการตรวจเพิ่มในขั้นตอนที่ 2 (เป็นการตรวจ HLA
Class II) ซึ่งจะต้องมีการชำระเงินค่าตรวจเพิ่มอีก (ถ้าไม่ผ่านขั้นตอนที่ 1 จะไม่ต้องชำระเงินเพิ่ม) โดยผู้ป่วยหรือญาติมาติดต่อที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อขอรับใบสั่งตรวจเพิ่มและไปชำระเงินสำหรับการตรวจ HLA Class II
6. การรับผลการตรวจ
ทางห้องปฏิบัติการจะดำเนินการตรวจขั้นตอนที่ 2 ต่อ ภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้มาดำเนินการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหลังจากชำระเงินขั้นตอนที่ 2 ไปอีก 2 อาทิตย์ ผู้ป่วยสามารถมารับผลการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ
สำหรับผู้ที่ตรวจเฉพาะขั้นตอนที่ 1 แล้วไม่ผ่าน ให้รับผลได้ภายหลังจากที่เจาะเลือดตรวจแล้ว 1 อาทิตย์
การตรวจเนื้อเยื่อสำหรับ Unrelated Bone Marrow Transplantation
ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อมีบริการการตรวจเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือมี แต่ผลการตรวจเนื้อเยื่อไม่ตรงกันผู้ป่วย จำเป็นต้องขอรับบริจาคจากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง โดยจะทำการเจาะเลือดตรวจได้ในวันจันทร์ - วันศุกร์(เว้นวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 08.30 - 10.00 น.
ในกรณีนี้ต้องมีบิดาและมารดาของผู้ป่วยมาตรวจพร้อมกันกับผู้ป่วยด้วย เพื่อต้องการให้ได้ผลการตรวจครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด
การตรวจเนื้อเยื่อสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อให้บริการตรวจเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต โดยผู้บริจาคต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ป่วย เช่น บิดา มารดา บุตรธิดา ลุง ป้า น้า อา และหลาน ซึ่งปกติจะทำการตรวจเฉพาะวันพุธและวันพฤหัสบดี มีขั้นตอนดังนี้
1. แพทย์เป็นผู้เขียนใบสั่งตรวจเนื้อเยื่อให้กับผู้ป่วยและผู้บริจาคไต (ผู้บริจาคไตต้องผ่านขั้นตอนในการตรวจหมู่โลหิต ABO และตรวจสุขภาพมาแล้ว)
2. ผู้ป่วยและผู้บริจาคไตนำใบสั่งตรวจจากแพทย์มายังห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อในเวลาราชการ เพื่อซักประวัติและนัดหมายวัน ตรวจเนื้อเยื่อให้กับผู้ป่วยและผู้บริจาคไตพร้อมกัน วันที่นัดเจาะเลือดตรวจจะต้องนัดก่อนวันล้างไต เพื่อให้ได้ผลภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด
3. เตรียมบัตรโรงพยาบาลและบัตรประจำตัวประชาชนทั้งของผู้ป่วยและผู้บริจาคไตมาด้วย ในวันที่มารับการเจาะเลือดตรวจ เนื้อเยื่อพร้อมกันที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ เวลา 08.30 - 09.00 น. (ถ้ามาสายเกิน 09.00 น. อาจต้องมีการเลื่อนนัดใหม่)
4. เจ้าหน้าที่ห้องตรวจเนื้อเยื่อจะเป็นผู้เจาะเลือดผู้ป่วยและผู้บริจาคไตโดยเจาะเลือดประมาณ 50 ซีซี สำหรับการตรวจเนื้อเยื่อตาม รายการดังนี้
รายการที่ต้องทำการตรวจเพื่อการปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วย : หมู่เลือด ABO, HLA-AB, DNA Typing (รหัส 500001), HLA-DRB, DQB DNA
Typing (รหัส 500002), Autoantibody (การตรวจภูมิต้านทานต่อตัวเอง, รหัส 500003)
HLA Antibody screening (ภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดขาว, รหัส 500006) กรณี HLA antibody เป็นบวกต้องตรวจ PRA class I (รหัส 500007) และ/หรือ PRA class II (รหัส 500008)
ผู้บริจาคไต : หมู่เลือด ABO, HLA-ABDR (รหัส 500001 และ 500002), lymphocyte crossmatch
(ทดสอบความเข้ากันได้กับผู้ป่วย, รหัส 500004)
5.ชำระเงินค่าตรวจแล้วนำใบเสร็จมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อ
การให้บริการการตรวจเนื้อเยื่อสำหรับผู้บริจาคที่ต้องการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้วจากสภากาชาดไทย
มีขั้นตอนเหมือนกับผู้ป่วยที่มีผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ ยกเว้นไม่ต้องตรวจเนื้อเยื่อและความเข้ากันได้ของ ผู้บริจาคที่มีชีวิต และผู้ป่วยไม่ต้องมารับผลการตรวจเนื้อเยื่อด้วยตัวเอง ห้องตรวจเนื้อเยื่อจะประสานงานกับห้องโครงการปลูกถ่ายอวัยวะของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะส่งเจ้าหน้าที่มารับผลแทน และเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งผลการตรวจเนื้อเยื่อไปเข้าคิวรอไตผู้บริจาคที่สภากาชาดไทยต่อไป
การตรวจ HLA ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ (disease association)
สามารถส่งตรวจได้ โดยโทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจเนื้อเยื่อเพื่อขอรายละเอียดการนำส่งตัวอย่าง