คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

1. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ -70 ปี สุขภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะบริจาคโลหิต

  • ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17 ปี ไม่ถึง 18 ปี ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง แต่อายุ 18 ปี สามารถตัดสินใจบริจาคโลหิตได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการมีสิทธิเลือกตั้ง
  • ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 60-65 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 3 เดือน ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ
  • ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 65 -70 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 6 เดือน  และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่ 

2. สุขภาพแข็งแรง และพักผ่อนเพียงพอ

ผู้บริจาคโลหิตแต่ละคนมีพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อนแตกต่างกัน หากการนอนหลับพักผ่อนนั้นเป็นไปตามปกติ และเพียงพอกับร่างกายของเขา โดยไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ สุขภาพพร้อมในวันที่มาบริจาคโลหิต ก็พิจารณาให้บริจาคได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องจำนวนชั่วโมงของการนอน

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคโลหิต

ผู้บริจาคโลหิตแต่ละคนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแต่ละมื้อในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ผู้บริจาคโลหิตอาจยังไม่ได้รับประทานอาหารประจำมื้อ แต่ก็ปกติดี ไม่มีอาการหิวจัด อ่อนเพลีย จะเป็นลม ก็รับบริจาคโลหิตได้ ยกเว้นผู้บริจาคโลหิตที่รับประทานอาหารมันจัด เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก่อนมาบริจาคโลหิตไม่ถึง 3 ชั่วโมง จะมีผลทำให้พลาสมาขาวขุ่น ไม่สามารถจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเพื่อไปให้แก่ผู้ป่วยได้ ต้องทิ้งไป และพลาสมา ที่ขาวขุ่นอาจรบกวนการบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องอัตโนมัติ (platelet apheresis) เนื่องจากเครื่องไม่สามารถ นับระดับเกล็ดเลือดที่เก็บได้อย่างถูกต้อง

4. การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร

  • โลหิตของหญิงตั้งครรภ์ มีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ ควรเก็บโลหิตของตนเองเอาไว้ให้เพียงพอสำหรับทารก และเพื่อเป็นโลหิตสำรองในร่างกาย เพราะขณะคลอดบุตรอาจมีการเสียโลหิตเป็นจำนวนมากการบริจาคโลหิต อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ในข้อนี้ ถ้าตอบ “ใช่” ให้งดบริจาคโลหิตชั่วคราว
  • ผู้บริจาคหญิงที่กำลังให้นมบุตร ต้องการสารอาหารเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำนม และอาจต้องมีการตื่นบ่อยครั้งเพื่อให้นมบุตร เป็นผลทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้าตอบ “ใช่” งดบริจาคโลหิตชั่วคราว

5. สตรีอยู่ระหว่างมีประจำเดือน

ไม่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต ถ้าขณะนั้นมีสุขภาพแข็งแรง มีประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดี ไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้  และสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้ หากสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ    

6. การสักหรือการเจาะผิวหนัง

การเจาะหูและการกระทำอื่นๆ ข้างต้น ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่สะอาด ปราศจากเชื้อ โดยผู้ชำนาญและเป็นเข็มหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวเฉพาะตัว ก็ปลอดภัยจากการติดเชื้อ แต่ก็ควรเว้นระยะเวลาให้แผลอักเสบจากการเจาะหู หายสนิท อย่างน้อย 7 วัน แต่หากผู้บริจาคโลหิตไม่มั่นใจว่าการเจาะหูทำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ มีการใช้เครื่องมือร่วมกัน หรือเจาะในสถานที่ที่มีคุณภาพด้านความสะอาดต่ำ ก็อาจจะติดเชื้อโรคทางกระแสโลหิต เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชไอวี เป็นต้น จึงควรงดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ปีหลังการเจาะหู เจาะอวัยวะ และอื่นๆ ข้างต้น เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองจึงต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้บริจาคโลหิต

7. ท้องเสีย ท้องร่วง ควรงดบริจาคโลหิต 7 วัน

ผู้บริจาคอาจจะยังมีอาการอ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำในร่างกาย ถึงแม้จะหยุดท้องเสียแล้วถ้าหากฝืนบริจาคโลหิต อาจอ่อนเพลียมากขึ้นและมีอาการเป็นลมหน้ามืดได้ ส่วนผู้ป่วยที่รับโลหิตอาจได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงที่อาจติดต่อทางกระแสโลหิต

8. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา

การที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะทางจิตใจที่มีความวิตกกังวล หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

9. ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หรือผ่าตัดเล็ก

  • ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ คือ การผ่าตัดที่ต้องมีการใช้ยาสลบ หรือให้ยาชาเข้าไขสันหลัง  มีการสูญเสียโลหิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างทดแทนขึ้นโดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่อาจเสียโลหิตมาก  เนื้อเยื่อของร่างกายต้องใช้เวลาและสารอาหารในการซ่อมแซม  จึงควรเว้นการบริจาคโลหิต 6 เดือน  หากบางรายต้องรับโลหิตด้วยต้องเว้น 1 ปี
  • ผู้บริจาคที่ได้รับการผ่าตัดเล็ก คือ การผ่าตัดที่ไม่ต้องใช้ยาสลบ แต่ใช้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ และไม่ต้องมีการช่วยหายใจ  ควรเว้นการบริจาคอย่างน้อย  7  วัน  เพื่อให้ผู้บริจาคมีสุขภาพแข็งแรงดีพอที่จะบริจาคโลหิต และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด

10.ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน ต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน

การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน และการรักษาอื่นๆ ในช่องปากซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลหรือการอักเสบภายใน 3 วัน อาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ (transient bacteremia) ซึ่งเชื้อโรคในกระแสเลือด อาจติดต่อไปสู่ผู้ป่วยได้ หากมีการผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าฟันคุด ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ

11. เคยมีประวัติติดยาเสพติดหรือเพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี

ผู้ที่เคยมีประวัติติดยาเสพติดชนิดต่างๆ หรือเพิ่งพ้นโทษ อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคที่มีการติดต่อทางโลหิตและน้ำเหลือง โดยเฉพาะโรคเอดส์และโรคตับอักเสบ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ รวมทั้งอาจใช้ยาเสพติดชนิดฉีด โดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงงดบริจาคโลหิต และรอให้ผ่าน 3 ปีเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพ้นจากระยะฟักตัวของโรคต่างๆ ที่อาจได้รับมาแล้ว

12. เดินทางหรือพำนักในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุมในระยะ 1 ปี หรือเคยป่วยเป็น โรคมาลาเรียในระยะ 3 ปี

เนื่องจากยังไม่มีการตรวจเชื้อมาลาเรียทางห้องปฏิบัติการที่ไวเพียงพอ และสะดวกรวดเร็วเหมาะสมในการตรวจโลหิตบริจาค จึงต้องใช้การซักประวัติเป็นหลักในการคัดกรองผู้บริจาค ถ้าเข้าไปอยู่ในพื้นที่มาลาเรียชุกชุม ถึงแม้ไม่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ต้องเว้นการบริจาค 1 ปี ถ้าป่วยเป็นโรคนี้ต้องหายแล้ว 3 ปี สามารถหาข้อมูลพื้นที่มาลาเรียชุกชุมได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

13. มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

  • ท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของท่าน
    การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ท่ีไม่ใช่คู่ประจํา มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
  • ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน(ตอบเฉพาะชาย)
    จากหลักฐานทางการแพทย์จนถึงปัจจุบันยังยืนยันว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men, MSM) มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
  • คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
    คู่ของผู้บริจาคโลหิตที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงทางเพศ แม้ไม่ใช่ MSM มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อท่ีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอักเสบซึ่งอาจจะติดต่อมายังผู้บริจาคโลหิตได้
  • คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (ตอบเฉพาะหญิงที่มีคู่เป็นชาย)
    คู่ของผู้บริจาคโลหิตที่เป็นชาย หากไปมีเพศสัมพันธ์กับชายจากหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าชาย ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจจะติดต่อมายังผู้บริจาคโลหิตได้

หัวข้อแบบสอบถามสัมภาษณ์คัดกรองในข้อนี้ เน้นที่พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โดยมิได้มุ่งกลุ่มบุคคล หรืออาชีพ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและธนาคารเลือดซึ่งรับผิดชอบการให้บริการโลหิต มีหน้าที่ต้องจัดหาโลหิตที่เพียงพอ และปลอดภัยจากผู้บริจาคโลหิตที่สมัครใจ จากกลุ่มผู้บริจาคที่มีความเสี่ยงตํ่า ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก โดยอาศัยหลักฐานทางการแพทย์และข้อมูลปัจจุบัน จึงจําเป็นต้องงดรับบริจาคโลหิตถาวร ในกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ก็ตาม เพราะอาจมีปัญหาในคุณภาพของถุงยางอนามัยและการใช้ที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้ไม่สม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

ผู้บริจาคโลหิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวเมื่ออ่านแบบสอบถามแล้ว อาจงดบริจาคโลหิตด้วยตนเองโดยไม่เข้ามาพบเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรอง ซึ่งคือวัตถุประสงค์ของการคัดกรองด้วยตนเอง (self deferral) แต่หากผู้บริจาคโลหิตไม่แน่ใจ และเข้ามาพบเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองเพื่อซักถาม เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองต้องให้ข้อมูลด้วยความสุภาพ เคารพในสิทธิส่วนบุคคล และอธิบายให้ผู้บริจาคโลหิตเข้าใจและยอมรับ แต่หากผู้บริจาค โลหิตไม่ตอบความจริง แต่เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ควรบริจาคโลหิต ก็ควรใช้ทักษะในการสอบถามประเด็นแวดล้อมอื่นๆ โดยสุภาพ หากจําเป็นต้องปฏิเสธการรับบริจาคโลหิตต้องอธิบายเหตุผลอย่างนุ่มนวลและท่าทีเป็นมิตร

14. ผู้บริจาคที่เคยได้รับโลหิตจากผู้บริจาคในประเทศอังกฤษหรือเคยพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2539 หรือเคยพำนักในทวีปยุโรป รวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523- ปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ และประเทศในยุโรป รวมทั้งมีรายงานการติดเชื้อวัวบ้าจากการรับโลหิต จึงงดรับบริจาคโลหิตถาวร

15. การรับประทานยาแก้ปวด

  • กรณีรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล  ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใดๆแล้ว จึงสามารถบริจาคโลหิตได
  • กรณีรับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใดๆแล้ว ให้เว้นอย่าง น้อย 3 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ เนื่องจากยาแอสไพริน ทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ

16. กรณีที่ผู้บริจาคโลหิตรับประทานยาปฏิชีวนะ (แก้อักเสบจากการติดเชื้อ)

หลังจากรับประทานยามื้อสุดท้าย และไม่มีอาการผิดปกติใดๆแล้ว ให้เว้น 1 สัปดาห์ จึงสามารถบริจาคโลหิตได้

17. เคยเป็นโรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบมีหลายชนิด ผู้ที่เคยเป็นโรคตับอักเสบแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดใด หรือไม่สามารถบอกได้ว่าหายขาดหรือไม่มีเชื้อโรคตับอักเสบแล้ว ให้งดบริจาคโลหิต และปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจติดตามภาวะของโรคต่อไป

18. ผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วย

  • เป็นไข้หวัดธรรมดา หลังจากหายดีแล้ว 7 วัน บริจาคโลหิตได้ กรณีเป็นไข้วัดใหญ่ หลังจากหายดีแแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถบริจาคโลหิตได้
  • โรคความดันโลหิตสูง หากได้รับการรักษาจนควบคุมความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ ความดันโลหิต Systilic ไม่เกิน 160 มม.ปรอท และความดันโลหิต Diastolic ไม่เกิน 100 มม.ปรอท และร่างกายปกติดีไม่มีโรคแทรกซ้อน รับประทานยาแล้วควบคุมความดันโลหิตได้ดี สามารถบริจาคโลหิตได้  
  • โรคภูมิแพ้ หากอาการไม่รุนแรง เช่น จาม คัดจมูก ทานยาแก้แพ้ และไม่มีอาการแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้  แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ผื่นคันทั้งตัว ไอ หอบหืด หรือใช้ยาลดภูมิต้านทานให้งดบริจาคโลหิจจนกว่าจะหายดีแล้ว 4 สัปดาห์ จึงบริจาคโลหิตได้
  • โรคไขมันนเลือดสูง หากรับประทานยาลดไขมัน และควบคุมอาหาร จนระดับไมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถบริจาคได้ ถ้าคอเลสเตอรอล สูงเพียงอย่างเดียว บริจาคโลหิตได้ หากไตรกลีเซอไรด์สูง ให้งดบริจาคโลหิตชั่วคราว จนกว่าจะควบคุมอยู่ในเกณฑ์ปกติ  
  • โรคเบาหวาน หากควบคุมเบาหวานได้ดี ด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาล ไม่ใช้อินซูลิน และไม่มีปัยโรคแทรกซ้อน สามารถบริจาคโลหิตได้
  • โรควัณโรค หลังรักษาหายดีแล้ว 2 ปี จึงสามารถบริจาคโลหิตได้
  • โรคไมเกรน หากไม่มีอาการ และหยุดยาแล้ว 7 วัน สามารถบริจาคโลหิตได้
  • โรคหอบหืด หากควบคุมอาการได้ด้วยยา สามารถบริจาคโลหิตได้ หากมีประวัติเป็นดรคหอบหืดชนิดรุนแรง และเป็นบ่อยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ของแพทย์ 
  • เป็นไทรอยด์ไม่เป็นพิษ ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ ไม่มีอาการของโรค เช่น กินจุ น้ำหนักลด เหงื่อออกง่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น สามารถบริจาคโลหิตได้ กรณีไทรอยด์เป็นพิษ แม้ว่ารักษาหายแล้ว ต้องงดบริจาคโลหิตถาวร

**ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต *

19. การบริจาคโลหิตไม่ทำให้อ้วน

เพราะสาเหตุแท้จริงที่ทำให้อ้วน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การรับประทานอาหารมากเกินไป  โดยเฉพาะแป้ง และไขมัน ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม  ขาดการออกกำลังกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นมีโอกาสน้ำหนักเพิ่มได้ง่าย  เนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญน้อยลง  

กลับสู่หน้าการบริจาคโลหิต