พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งโรงพยาบาลยะลา

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งโรงพยาบาลยะลา

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งโรงพยาบาลยะลา

ตัวผมเองเคยนั่งคิดว่า

อาชีพอะไรที่เป็นอาชีพที่มีคนอยากทำมากที่สุด

อาชีพอะไรที่ต้องทำงานหนักมากที่สุด

อาชีพอะไรที่ต้องมีความเสียสละเพื่อคนอื่นมากที่สุด

.

.

“หมอ”

คำสั้น ๆ ที่มีความหมาย และนัยยะลึกซึ้งมากมายแล้วแต่คนจะตีความ

แต่คำว่า “หมอ” ในความหมายของผม คือผู้ที่เสียสละ

ผู้ที่ทำให้มีความหวังในการมีชีวิต ไม่ว่าจะเผชิญความเหนื่อย อ่อนล้า ความอดทนในการรักษา ในการดูแลคนไข้ทั้งที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พ่อแม่ของตัวเอง

“หมอ” เป็นอาชีพ ไม่ใช่สิ วิชาชีพหนึ่งที่มีเกียรติที่สุดอาชีพหนึ่ง

..

Behind The Scene ฉบับนี้ ผมมีเรื่องราวของคุณหมอท่านหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะรู้จักว่า คุณหมอทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดยะลา ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมเองได้สัมภาษณ์คุณหมอ พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลยะลา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี รุ่นที่ 27 ผู้เป็นแพทย์ที่เสียสละตัวเองในการรักษาคนไข้ในพื้นที่เสี่ยง

เหตุใดจึงเลือกเรียนหมอ และเรียนศัลยแพทย์

ก็ไม่คิดว่าโตขึ้นจะต้องเป็นหมอ คือที่บ้านหมอเอง พ่อจะขายยา แต่ไม่ได้เป็นเภสัชกร คือขายยาแบบเมื่อก่อน ก็เลยจะคุ้นเคยกับการเจ็บป่วยของคน แล้วพอมาเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สมัยนั้นหมอจะรู้จักอาชีพอยู่ไม่กี่อาชีพ จะมีหมอ วิศวะ สถาปัตย์ สมัยก่อนช่วยพ่อเฝ้าหน้าร้าน ช่วยนับยาและขายลูกอม เลยตั้งใจว่าอยากจะทำงานแบบที่อยู่กับโต๊ะ ไม่ต้องลุกบ่อย ๆ เหมือนที่ลุกไปขายลูกอม ต่อมามีเพื่อนมาชวนไปสอบหมอ ก็เลยไปสอบ ก็ปรากฏว่าได้เรียนหมอ และเรียนจนจบ แต่เพิ่งมารู้หลังจากที่เรียนหมอจบว่า ตัวเองชอบผ่าตัด ซึ่งก่อนหน้านั้นชอบทางด้านสมอง ซึ่งไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถผ่าตัดสมองได้ ตัวเองจะเรียนได้ เพราะสมัยเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ได้เรียนแค่ 2 สัปดาห์ดูจะเป็นวิชาที่ยาก ไม่สามารถเข้าถึงได้ มันค่อนข้างยากมาก แต่พอเรียนจบได้ไปทำงานจริง ได้เห็นเคสที่มีปัญหาที่ต้องทำการผ่าตัดสมองค่อนข้างเยอะ ได้เข้าช่วยรุ่นพี่ผ่าตัดที่โรงพยาบาล ก็เลยรู้สึกว่าเป็นวิชาที่สัมผัสได้จริงแล้วก็เป็นโรคที่รู้สึกว่าผ่าตัดแล้วเห็นผล ช่วยคนได้ชัดเจน ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนประสาทศัลยศาสตร์

การผ่าตัดยากไหม

สำหรับหมอแล้ว การผ่าตัดมีทั้งที่ยากและไม่ยาก รู้สึกว่าพอตั้งใจทำแล้ว อ่านหนังสือแล้ว ดูคนอื่นผ่าตัดแล้ว ดูคลิป ศึกษาจากที่เราเรียนมา ถ้าเรามีพื้นฐานที่ดี หากเราเจอเคส เราก็สามารถวางแผนการรักษาได้ เพียงแต่ว่าทักษะในการผ่าตัดนั้นก็ต้องหมั่นฝึกฝน หากอยากให้คล่อง ก็ต้องฝึกบ่อย ๆ ก็ต้องฝึกจากหุ่นเย็บ แล้วก็จะทำได้เองตามที่เราตั้งใจ

ทำไมถึงไปทำงานที่ยะลา

ต้องบอกว่าเดิมทีไม่ได้อยากไป แต่จับฉลากแล้วบังเอิญได้ไป แล้วก็พอมาเรียนเฉพาะทาง ก็ขอทุนมาเรียน ก็คิดว่าพอใช้ทุนครบก็จะย้ายออก แต่ด้วยว่าอาจจะอยู่แล้วเคยชินกับที่นี่ (ยะลา) แล้วก็ไม่มีหมอ สงสารชาวบ้าน ในพื้นที่ขาดแคลนหมอ เลยอยู่ทำงานที่นี่ หมออยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545

หมอผ่าตัดรักษาอะไรบ้าง

ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดเกี่ยวกับเส้นประสาท ผ่าตัดกระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกเอว หรือเส้นประสาทที่มือที่เท้า โรคเกี่ยวกับระบบประสาทสมองก็ด้วย เนื่องจากว่าแถวนั้นอาจจะหมอน้อย ก็เลยทำเกือบทุกอย่าง

เคสที่ต้องผ่าตัด ส่วนมากจะเป็นอุบัติเหตุ เส้นเลือดแตกจากความดัน จากสถานการณ์ความไม่สงบ จากเหตุระเบิด เหตุถูกยิงก็มีบ้างประปราย ซึ่งช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ สถานการณ์ดีขึ้นมาก ไม่ได้มีเหตุการณ์ใหญ่ มีแต่เหตุการณ์เล็ก ๆ โดยตำแหน่งตอนนี้ก็จะเป็นประสาทศัลยแพทย์เพียงคนเดียวในโรงพยาบาลยะลา ที่ผ่านมามีหมอมาใช้ทุนและหมอมาช่วยเป็นระยะล่าสุดมีน้อง ๆ หมอที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาช่วยด้วยชั่วคราว

เป็นหมอในพื้นที่ กลัวระเบิดหรือเหตุการณ์ความไม่สงบไหม

ถามว่ากลัวระเบิดมั้ย ก็กลัว ที่ยะลาจะมีอยู่ 2 อย่างก็คือ ระเบิด กับยิง ถ้ายิงก็แปลว่าเขาตั้งใจมายิงเรา ส่วนระเบิดก็อาจจะสร้างสถานการณ์ ต้องการทำลายคนเยอะ ๆ ใจหมอก็คิดว่า กรณียิงเนี่ย เราไม่ใช่เป้าหมาย แล้วถึงเขามาทำเรา เขาก็คงไม่ได้ค่าหัว ส่วนเรื่องระเบิด ถ้าช่วงที่ดูแล้วเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็จะมีข่าวออกมาก่อน ก็จะไม่ไปตรงชุมชนที่คาดว่าจะมีระเบิด ก็เลยอยู่ได้ ส่วนใหญ่ก็คือ ถ้าระเบิดไปแล้ว ก็จะออกมาเที่ยวได้ เพราะจะไม่ระเบิดติดกัน แต่ช่วงไหนที่เงียบ ๆ มีข่าวมาก็ต้องระวัง ก็จะพยายามไม่ออกไปไหนในช่วงนั้น

ชาวบ้านมีความห่วงใยสถานการณ์กับความเป็นหมอของเราไหม

ชาวบ้านเขาก็เป็นห่วง ก็จะมีมาบอกว่าช่วงนี้หมออย่าออกนะ อย่าออกไปแถวนั้นนะ อะไรอย่างนี้ หรือว่าบางทีพอมีเหตุเกิดปุ๊บ ก็มีคนโทรมาบอกว่าเกิดระเบิดตรงนี้นะ วันนี้ได้ข่าวว่ามีเหลืออีก 5 ลูก 10 ลูกก็ว่าไป ก็อย่าออกไป ก็เหมือนมาช่วยเตือนเราด้วย

แผนในอนาคตจะเป็นหมออยู่ที่นี่ไปตลอดไหม

อนาคตก็ยังอยู่ เนื่องจากที่ยะลา หมอทางสมองขาดแคลน จะมีหมอมาอยู่ แล้วก็ย้ายเป็นช่วง ๆ แบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่า การเติบโตของงานด้านระบบประสาท อาจจะยังไม่ได้ดั่งที่ใจคิด อยากให้แผนกผ่าตัดสมองโรงพยาบาลยะลาสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ก็ตั้งใจว่ามีน้องหมอที่จบเฉพาะทางมาหลายคน ก็จะสร้างทีม พอทีมแข็งแกร่งได้ หมอก็จะขยับขยายออกมา

การเป็นหมอในเมืองกับหมอต่างจังหวัด ต่างกันเยอะไหม

ก็น่าจะต่างหลายอย่าง เคสก็น่าจะต่าง เพราะในต่างจังหวัดกว่าคนไข้จะมาอาการก็หนักแล้ว แล้วเครื่องมือในการผ่าตัดก็อาจจะไม่สะดวกเท่าในเมือง หรือว่าการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่สิ้นเปลืองเราก็ใช้ไม่ได้ แต่ทั้งนี้ โรงพยาบาลยะลาก็ถือว่ายังดูแลเคสที่ยาก ๆ ได้ สามารถเลือกอุปกรณ์ได้ตามความเหมาะสม ส่วนคนไข้ต่างจังหวัดหมอก็ว่าน่าจะมีความน่ารัก ไว้ใจหมอให้ดูแลรักษา ไว้ใจให้ผ่าตัดรักษา แม้ในช่วงที่มีภาวะแทรกซ้อน ใจเขาก็สู้ และรับได้ ก็ทำให้เรายิ่งมีความตั้งใจช่วย

ความตั้งใจในอนาคตกับการเป็นประสาทศัลยแพทย์

อยากจะสร้างทีมศัลยแพทย์ในโรงพยาบาลยะลาให้แข็งแกร่งก่อน จากนั้นก็อาจจะไปช่วยจังหวัดใกล้เคียงต่ออยากจะให้ชาวบ้านต่างจังหวัดมีคุณภาพในการดูแลชีวิต ดูแลรักษาได้ใกล้เคียงคนในกรุงเทพ ถ้าย้ายก็คงจะอยู่ภาคใต้เหมือนเดิม เพราะบ้านก็อยู่ตรัง

บทบาทการเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์

ที่ยะลา จะได้สอนนักศึกษาแพทย์ของศูนย์แพทย์ยะลาที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เด็กส่วนใหญ่ที่เรียนแพทย์ก็จะเป็นคนพื้นที่ ก็ตรงตามเป้าหมายของศูนย์แพทย์ที่อยากจะให้หมอที่จบจากศูนย์แพทย์อยู่ในพื้นที่ แล้วนักศึกษาแพทย์ที่นี่ส่วนมากก็จะเป็นมุสลิม ก็จะมีความเข้าใจบริบทของศาสนาได้มากกว่าหมอด้วยซ้ำ ก็พยายามเน้นสอนหลักวิชาการและหลักความเป็นหมอ

อาจารย์ที่เป็นบรมครูของเรา

ต้องขอบคุณภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รับหมอเป็นresident เพราะสมัยก่อน resident ประสาทศัลยกรรมที่เป็นผู้หญิง หาได้ยาก แต่พอหมอมาสมัครที่ภาควิชา อาจารย์ประเสริฐ ศัลยวิวรรธน์ ก็บอกว่าจริง ๆ เขาไม่มั่นใจนะว่าผู้หญิงจะเรียนได้หรือเปล่า ก็ไม่ค่อยมีหมอผ่าตัดเป็นผู้หญิง ก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่เรียนจบประสาทศัลยกรรมของรามาธิบดี อาจารย์ประเสริฐบอกว่าที่รับเรียนเพราะว่า คะแนนตอนจบแพทย์ดี แต่ว่าจะให้ลองเรียนดูก่อน ถ้าเรียนไม่ได้จะให้ไปเรียนศัลยศาสตร์ทั่วไป สุดท้ายก็เรียนจนจบ

มีอาจารย์ที่เป็นไอดอลก็คือ อาจารย์ศิระ บุญยรัตเวช อาจารย์สอนการผ่าตัด สอนการดูเคสแบบที่เราเข้าใจได้ง่ายแบบที่เราเข้าใจธรรมชาติของโรค เข้าใจการผ่าตัด ทำให้หมอรู้สึกว่าเรียนประสาทศัลยกรรมแล้วไม่ได้ยาก ซึ่งอาจารย์ก็จะคอยสอนเทคนิคการผ่าตัดให้

ฝากอะไรถึงแพทย์รุ่นน้อง

หมอใช้หลักง่าย ๆ ก็คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาเราทำงาน แน่นอนว่ามีความเหนื่อย ความล้า มีความขี้เกียจ ให้พยายามคิดว่า เอาเราเองเป็นคนไข้ แล้วเราอยากได้แบบไหน เราอยากให้หมอดูแลเราแบบไหน เราอยากให้พยาบาลดูแลเราแบบใด อยากให้คนทำความสะอาดถูเตียงที่เรานอน ถูห้องพักที่เรานอนแบบไหน เราก็ควรจะดูแลเขาแบบนั้นเราอยากจะให้คนไข้ได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็ว ถ้าเขาไม่ผ่า แล้วพิการ เราก็ควรจะลุกไปผ่าเลยเดี๋ยวนั้น เราไม่อยากจะให้พยาบาลโดนเราด่าเยอะ ๆ เวลาที่ทำงานไม่ถูกใจ เราก็อย่าไปด่าเขาเยอะ เพราะเราต้องทำงานเป็นทีมจึงต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาเราทำงาน 
แน่นอนว่ามีความเหนื่อย ความล้า มีความขี้เกียจ 
ให้พยายามคิดว่า เอาเราเองเป็นคนไข้ แล้วเราอยากได้แบบไหน
เราอยากให้หมอดูแลเราแบบไหน เราอยากให้พยาบาลดูแลเราแบบใด 
อยากให้คนทำความสะอาดถูเตียงที่เรานอน ถูห้องพักที่เรานอนแบบไหน 
เราก็ควรจะดูแลเขาแบบนั้น”

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งโรงพยาบาลยะลา

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งโรงพยาบาลยะลา

ประวัติการศึกษาและการทำงาน

  • มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบูรณะรำลึก จังหวัดตรัง
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
  • ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2540
  • ประสาทศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2545
  • Attended course MSc program in Neurovasculardisease Paris Sud University and Mahidol University พ.ศ. 2548

รางวัลที่ได้รับ

  • แพทย์ดีเด่น
    ชมรมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป พ.ศ. 2550
  • ประสาทศัลยแพทย์ดีเด่น
    วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555
  • ศัลยแพทย์ดีเด่น
    ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
  • ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดีดีเด่น
    ด้านสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและสถาบัน สมาคมศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี พ.ศ. 2561

 

ผู้เขียน :  ดนัย อังควัฒนวิทย์ ภาพ: เมธี บัวจู
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 33 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th