สิว (ตอนที่ 1)

สิว (ตอนที่ 1)

สิว (ตอนที่ 1)

สิว คือปัญหาผิวหนังที่เชื่อว่าทุกคนเคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ตาม คอลัมน์ Beauty-full ฉบับนี้มีเรื่องราวของ “สิว” มาฝาก ท่านผู้อ่านกันครับ

สิวคืออะไร?

สิว  คือการอุดตันของระบบต่อมไขมันในรูขุมขน โดยปกติแล้วไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันจะออกมาตามรูขุมขน หากมีการอุดตันของทางเดินก็จะท?าให้เกิดสิวอุดตัน  ซึ่งจะพบเป็นลักษณะตุ่มเม็ดเล็ก ๆ ที่มีลักษณะเป็นไตสีขาว ๆ อยู่ข้างใน หากมีตัวกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น แบคทีเรีย ก็อาจจะทำให้เกิดการอักเสบได้ และหากสิวอักเสบมากขึ้นแล้ว ก็จะกลายเป็นตุ่มหนอง เป็นสิวหัวช้าง และเป็นซีสต์ได้

ชนิดของสิว

สิวมีหลายชนิด แต่สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้ 2 ชนิดตามลักษณะที่พบ ได้แก่ 

  1. สิวที่ไม่มีการอักเสบ เช่น สิวอุดตันหัวขาว (สิวอุดตันหัวปิด) สิวอุดตันหัวดำ (สิวอุดตันหัวเปิด)
  2. สิวที่มีการอักเสบ เช่น สิวที่เป็นตุ่มแดง (สิวอักเสบ) สิวที่มีหนอง (สิวตุ่มหนอง) สิวอักเสบขนาดใหญ่ (สิวหัวช้าง) และสิวที่มีการทำลายของผิวข้างในจนเป็นโพรงคล้ายซีสต์

กลไกการเกิดสิว

ผิวหนังของคนเราจะมีต่อมไขมันอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งมีหน้าที่สร้างน้ำมันและไขมัน น้ำมันและไขมันที่ถูกสร้างขึ้นนี้จะถูกขับออกทางท่อน้ำมันซึ่งมีรูเปิดเดียวกับรูขุมขนเมื่อมีการกระตุ้นต่อมไขมัน น้ำมันและไขมันจะถูกสร้างมากขึ้น หากระบายออกจากท่อไขมันไม่ทัน จะเกิดการสะสมและค้างในรูขุมขน น้ำมันและไขมันก็จะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังบริเวณดังกล่าวสร้างสารเคราตินมากขึ้น สารเคราตินก็จะจับตัวแน่นกับน้ำมันและไขมัน เกิดเป็นสิวอุดตัน ที่เรียกว่า โคมิโดน ต่อมาการอุดตันนั้นทำให้เกิดสภาพไร้ออกซิเจนในรูขุมขน  แบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว หรือโพรพิโอนิแบคทีเรียม แอคเน่ จะเจริญเติบโตได้ดี และทำให้เกิดการย่อยสลายไขมันและเป็นจุดเริ่มต้นของสิวอักเสบ จะเห็นได้ว่าสิวมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าอก หลังช่วงบน ไหล่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ต่อมไขมันทำงานมา

สิว (ตอนที่ 1)

สาเหตุของการเกิดสิว

ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดสิวอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีผลต่อการเกิดสิว และยังมีปัจจัยอื่นที่อาจมีผลต่อการเกิดสิว เช่น กรรมพันธุ์ อารมณ์ อาหารอากาศ ยา โดยรวมแล้วสามารถแบ่งปัจจัยหลักได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ปัจจัยภายในร่างกาย และปัจจัยภายนอกร่างกาย

สิว (ตอนที่ 1)

ปัจจัยภายในร่างกาย

ปัจจัยที่เกิดจากร่างกายเราเอง เช่น ระดับฮอร์โมน การตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมน กรรมพันธุ์ โรคเรื้อรัง และผิวพรรณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเราตั้งแต่กำเนิด สำหรับฮอร์โมนที่มีผลต่อการเกิดสิว ได้แก่ฮอร์โมนเพศแอนโดรเจน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมไขมันได้ โดยส่วนมากแล้วฮอร์โมนจะมากขึ้นเมื่อเราเข้าสู่วัยรุ่น จึงมักพบสิวได้มากในวัยนี้และอาจอยู่ได้นานหลายปี

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากนอกร่างกายของเรา เช่น ยา ครีม และเครื่องสำอางบางชนิด สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ และอาหาร ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ สำหรับอาหารพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารหวาน และอาหารจำพวกแป้งเป็นประจำอาจทำให้เกิดสิวได้ง่าย การใช้เครื่องสำอางเช่น แป้ง ครีมบางชนิด เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดสิว เนื่องจากส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิดจะอุดตันรูขุมขนได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถพบสิวได้ในคนที่เลยช่วงวัยรุ่นไปแล้ว การระคายผิวบนใบหน้า เช่น การล้างหน้าที่มีการถูมาก หรือการบีบสิว รวมทั้งการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดสิวเพิ่มขึ้นได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์

สิว (ตอนที่ 1)

เรื่องของสิวยังไม่จบฉบับหน้ายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสิวมาฝากกันต่อ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิว รวมทั้งการปฏิบัติตัวในกรณีที่เป็นสิว

ผู้เขียน : ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 27 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th