การศึกษาต่อเนื่อง

 

             ปัจจุบันความรู้ต่างๆ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีพัฒนาการที่รวดเร็วตลอดเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาการบริการสุขภาพ โดยจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจึงต้องพัฒนาความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ทักษะ ตลอดจนเจตคติของตนเองอย่างต่อเนื่อง   โครงการศูนย์เครือข่ายการศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่จะเอื้ออำนวยให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีการศึกษาต่อเนื่องตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีหลายมาตราที่ระบุถึงแนวคิด หลักการและกำหนดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ส่วนทางการแพทย์ แพทยสภาได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2543  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดไป มีการจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะ และเจตคติทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้คงไว้ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์ทุกคนที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับนี้ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2545-2549 มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำมีมาตรฐานสากล เน้นการวิจัยการศึกษา บริการวิชาการและเป็นศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อคุณภาพแห่งชีวิตและสังคม
 

   

            สำหรับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในวิสัยทัศน์รามาธิบดี (ทิศทางการพัฒนาคณะฯ พ.ศ. 2543-2552) ด้านการจัดการศึกษา ได้กำหนดให้คณะฯ เป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนโดยไม่ต้องเดินทาง เพื่อลดระยะเวลาและลดภาระค่าใช้จ่าย อาทิ การศึกษาผ่านทางไปรษณีย์ วิทยุ โทรทัศน์ และดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันทั่วโลก การจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย world wide web โดยอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ตก็เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องด้วยมีจุดเด่นในด้านความเร็วและสามารถติดต่อสื่อสารได้กว้างไกล สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้หลายรูปแบบ รวมทั้งแบบ realtime ด้วย นอกจากนี้ในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่ทั่วประเทศก็มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสามารถติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตได้อยู่แล้ว  ส่วนที่ยังไม่มีก็จะสามารถจัดหาได้โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนักเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่พึงได้รับในภายภาคหน้า 

 

            ในช่วงแรกของการจัดตั้งโครงการศูนย์เครือข่ายการศึกษาต่อเนื่อง ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  โครงการฯ สังกัดอยู่ภายใต้การบริหารงานของงานแพทยศาสตรศึกษาโดยการกำกับดูแลของศาสตราจารย์อร่าม  โรจนสกุล  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา การดำเนินงานส่วนใหญ่คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ระดับหลังปริญญา ให้การรับรองหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์  จัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของการให้ความรู้ผ่านสื่อทางไกล อาทิ จัดทำเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ ภายใต้ชื่อ http://RamaCME.mahidol.ac.th จัดทำเว็บไซต์การศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล (Intranet) ผลิตสื่อวิดีทัศน์กิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของ Video CD ผลิตจุลสารข่าวศูนย์การศึกษาต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ  เป็นต้น  
 

            จากนั้นในปี พ.ศ. 2548 มีการปรับโครงสร้างงานบริการวิชาการและวิจัยใหม่  โดยให้โครงการศูนย์เครือข่ายการศึกษาต่อเนื่อง โอนย้ายมาสังกัดภายใต้การบริหารงานของงานบริการวิชาการและวิจัย โดยการกำกับดูแลของ ศาสตราจารย์กฤษฏา  รัตนโอฬาร  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  จนกระทั่งปัจจุบันศูนย์เครือข่ายการศึกษาต่อเนื่อง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ศาสตราจารย์วชิร  คชการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลทิพย์  วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ ขอบข่ายการดำเนินงานจึงขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ในเว็บไซต์ http://RamaCME.mahidol.ac.th ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษาต่อเนื่องด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการจัดจำหน่ายสื่อการศึกษาต่อเนื่องภายใต้โครงการของศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกรับสมาชิกจุลสารข่าวฯ เพื่อเป็นการหารายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานของคณะฯ และรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาแล้ว โครงการฯ ยังได้รับมอบหมายให้จัดทำเว็บไซต์ในชื่อ http://RamaClinic.mahidol.ac.th (เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2548)  เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทางสุขภาพนั่นคือประชาชน ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้บริการที่เข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 5 ของเว็บไซต์โรงเรียนแพทย์ที่จัดทำเว็บไซต์เพื่อให้บริการประชาชน โดยสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) 
 

            ทั้งนี้ จากสรุปผลการดำเนินงานและการประเมินผลโครงการฯ ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้รับการยอมรับและได้รับความสนใจ รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากคณะผู้บริหาร และรองคณบดีฝ่ายวิชาการผู้กำกับดูแล ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผลงานในภาพรวมนับว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านของปริมาณงาน ความหลากหลายของสื่อการศึกษาต่อเนื่องที่ผลิต  สอดคล้องกับหลักและแนวคิดในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต  และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป และยังเป็นการสนองตอบต่อวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ การเป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย และเป็นประทีปส่องทางด้านสุขภาพของประเทศ (To be a leading medical faculty in Asia and a guiding light for national health advocacy)  และพันธกิจในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีพันธกิจในการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตทางการแพทย์และสาธารณสุข  ทำการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการแพทย์ ให้บริการทางการแพทย์และทางวิชาการ รวมทั้งรณรงค์และชี้นำสังคมด้านสุขภาพอนามัยเพื่อพัฒนาสาธารณสุขของประเทศ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาไทย

วัตถุประสงค์ของหน่วยงาน

  1. เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง ของบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา จากทั่วประเทศ  และขยายขอบเขตให้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย
  2. เป็นแหล่งสนับสนุนแนวทางการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Education) ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปในทุกระดับ อาชีพ และการศึกษา
  3. เป็นแหล่งสนับสนุนการผลิต  และพัฒนาสื่อการศึกษาต่อเนื่องทุกรูปแบบ  โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก
  4. เป็นแหล่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการศึกษาต่อเนื่อง
  5. เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานแก่สาธารณชน
  6. เป็นแหล่งหารายได้ เพื่อสนับสนุนกิจการของคณะฯ สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับให้สามารถพึ่งพาตนเองได้