ขั้นตอนและค่าบริการการตรวจ DNA

ติดต่อสอบถาม   
 
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00-15.00 น. (ปิดพักเที่ยง)
โทร. 02-200-4210, 02-200-4211
       02-201-1145, 02-201-1186
 
      **ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป   ต้องนัดหมายล่วงหน้า
 

 

 DNA คืออะไร ??

           DNA(Dexoxy Ribonucleic Acid) เป็นสารพันธุกรรมอยู่ในส่วนองค์ประกอบย่อยของเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เช่น เม็ดเลือดขาว ตัวอสุจิ กระดูก กล้ามเนื้อ เยื่อบุกระพุ้งแก้ม เป็นต้น

           สารพันธุกรรม DNA จะพบได้ในองค์ประกอบย่อยของเซลล์ร่างกาย 2 แห่ง คือ ภายในนิวเคลียส (Nuclear DNA) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของเซลล์ ซึ่งสาร DNA ที่พบในนิวเคลียสของเซลล์นี้ ครึ่งหนึ่ง (50%) จะได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดา และอีกครึ่งหนึ่ง (50%) จะได้รับการถ่ายทอดมาจากมารดา โดยที่ DNA ในนิวเคลียสของเซลล์นี้จะได้ไม่ซ้ำกันในแต่ละคน ยกเว้นกรณีเดียวกันเท่านั้น คือ ฝาแฝดที่มีการปฏิสนธิมาจากไข่ใบเดียวกันและอสุจิตัวเดียวกัน
 

        เทคนิควิธีการตรวจ DNA ที่มีบริการอยู่ในปัจจุบัน

            1. การตรวจลายพิมพ์ DNA (DNA Fingerprint)

                   เป็นเทคนิควิธีการตรวจที่สกัดสาร DNA จากนิวเคลียสของเซลล์ซึ่งเทคนิควิธีการตรวจแบบนี้สามารถตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตระหว่างบุคคลในการเป็น บิดา-มารดา-บุตร

            2. การตรวจสารพันธุกรรม DNA ที่อยู่ในไมโตคอนเดรียของเซลล์ (Mitochondrial DNA)

                   เป็นเทคนิคการตรวจที่สกัดสาร DNA จากส่วนองค์ประกอบย่อยของเซลล์ที่มีชื่อว่า ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเทคนิควิธีการตรวจแบบนี้สามารถใช้ตรวจเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตระหว่างบุคคลที่สืบสายพันธุ์มาจากมารดาเดียวกัน เช่น พี่-น้อง ร่วมมารดาเดียวกัน ลูกพี่-ลูกน้อง ที่มีมารดาเป็นพี่สาว-น้องสาว ที่ถือกำเนิดจากยายคนเดียวกัน

            3. การตรวจสารพันธุกรรมในโครโมโซมเพศชาย (Y-STR)
 

        การตรวจ DNA ทางนิติเวช

           บทบาทของการตรวจสารพันธุกรรม DNA ต่องานทางด้านนิติเวช มีดังนี้

               1. การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (Identification) ในกรณีศพนิรนาม หรือ บุคคลสูญหาย เพื่อพิสูจน์ว่า ผู้ตายคือใคร หรือตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตระหว่างผู้ตายกับญาติที่มาติดต่อขอรับศพ

               2. การตรวจพิสูจน์ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันระหว่างวัตถุพยานต่างๆ เช่น คราบเลือด คราบอสุจิ เส้นผม เส้นขน ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อ ที่พบติดบนร่างกายของผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด หรือพบในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ
 

        ขั้นตอนการตรวจ DNA 

             1. มาติดต่อพร้อมกันที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ (ผู้รับการตรวจต้องมาด้วยตนเอง)

             2. นำหลักฐานมาแสดงตน

             3. ชำระค่าตรวจเป็นเงินสดเท่านั้น

             4. ถ่ายรูปพร้อมกันโดยเจ้าหน้าที่

             5. ป้ายเยื่อบุข้างแก้มพร้อมกันโดยเจ้าหน้าที่

             6. ไม่ต้องงดน้ำ และอาหาร

             7. นัดฟังผลการตรวจ ประมาณ 2 เดือน
 

        เอกสารและค่าบริการ การตรวจ DNA

             1. สำเนาบัตรประชาชน หรือ พาสปอร์ต (ต่างชาติ)

             2. สำเนาสูติบัตรกรณียังไม่มีบัตรประชาชน

             3. ตรวจบิดา-มารดา-บุตร คนละ 6,500 บาท

             4. ตรวจความสัมพันธ์ระหว่าง พี่-น้อง เพศชายเท่านั้น (โครโมโซมเพศชาย) เพื่อพิสูจน์สายสัมพันธุ์ทางฝ่ายบิดา เช่น 
                 ปู่-หลานชาย , อา-หลานชาย ค่าตรวจคนละ 6,500 บาท

             5. ตรวจความสัมพันธ์ระหว่าง พี่-น้อง ที่สืบสายพันธุ์ทางฝ่ายมารดา กรณีมารดาเสียชีวิต (ไมโตคอนเดรีย) ค่าตรวจคนละ  8,500 บาท

             6. ตรวจความสัมพันธ์ระหว่าง พี่-น้อง เพศหญิงที่ร่วมบิดาเดียวกัน หรือ ความสัมพันธ์ ย่า-หลาน ค่าตรวจคนละ 7,500 บาท

 


หมายเหตุ   1. ในกรณีที่ตรวจเฉพาะบิดาและบุตร หากบุตรอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ มารดาต้องมาเซ็นต์เอกสารแทนบุตรด้วย หากมารดาเสียชีวิต
                   ให้นำใบมรณบัตรพร้อมสำเนามาด้วย
               2. กรณีชื่อบิดาในสูติบัตรเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนเดียวกับที่มาตรวจ บิดาในสูติบัตรต้องมาด้วย

        ทางนิติเวชไม่รับตรวจในกรณีต่อไปนี้

             1. น้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ หรือส่วนประกอบใดๆ ของทารกที่กำลังอยู่ในครรภ์

             2. เลือด น้ำลาย เส้นผม หรือ วัตถุพยานใดๆ ก็ตามที่นำมาส่งโดยไม่มีหนังสือขอตรวจจากหน่วยงานในราชการ
 

        โครงการพันธุกรรมสานสัมพันธ์ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์  
 
            - ชั้น 3 หลังห้องบริจาคโลหิต
 
            - เดินเข้าทางห้องเจาะเลือด
 
            - ห้องตรวจโครงการพันธุกรรมสานสัมพันธ์ อยู่ทางซ้ายมือห้องที่ 2