ประวัติโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี

ประวัติโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี

วันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีขึ้น ซึ่งนับเป็นคณะแพทยศาสตร์อีกคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนี้ได้กำหนดให้คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีหน้าที่จัดการศึกษาทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ทำให้โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้ถือกำเนิดและเริ่มก่อตั้งพร้อมกับคณะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมตามหนังสือรามาธิบดี ปี พ.ศ. 2508-2528 ซึ่งอ้างหลักฐานในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 57/92 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2509 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขายที่ดินจำนวน 120 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา แก่กระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในลักษณะที่เกือบจะเรียกได้ว่า "ให้เปล่า" หลังจากที่รัฐบาลซื้อไว้แล้ว จึงจัดสรรแบ่งให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งชาติเอเชียอาคเนย์ (สปอ.) จำนวน 38 ไร่ คณะวิทยาศาสตร์ 40 ไร่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติอีก 5 ไร่ และเหลือเป็นเนื้อที่ก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวน 37 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ซึ่งอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีก็รวมอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ด้วย โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังติดกับทางรถไฟ บริเวณเดียวกันกับหอพักพยาบาล และหอพักนักศึกษาพยาบาล

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 ซึ่งโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีก็เป็นหนึ่งใน 10 ภาควิชาแรกของคณะฯ เดิมใช้ชื่อว่า ภาควิชาโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้เสนอขอเปลี่ยนเป็น ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ และได้รับอนุมัติให้ใช้ชื่อใหม่ในปี พ.ศ. 2518 ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ได้ดำเนินภารกิจสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกา โดยดูแลทั้งด้านการจัดการศึกษาและด้านบริการพยาบาล ในด้านการศึกษา ได้เปิดดำเนินการสอนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลในปี พ.ศ. 2512 รับนักเรียนรุ่นแรก 100 คน และเปิดรับนักศึกษาพยาบาลปริญญาตรี โดยในระยะเริ่มแรกได้ขอให้โรงเรียนผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ผลิตนักศึกษาให้ก่อนจำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2512 ปี พ.ศ. 2513 ได้เปิดรับนักศึกษาพยาบาลเข้าเรียนในหลักสูตรของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นโดยคณาจารย์ผู้มาบุกเบิกโรงเรียนเป็นครั้งแรก ต่อมาได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2520 และ 2533 ตามลำดับ สำหรับหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางระยะสั้น 4 เดือน เริ่มเปิดสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบัน

 

ในส่วนจำนวนรับนักศึกษาแต่ละรุ่น โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้ดำเนินการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีครั้งแรกรุ่นละประมาณ 60 คน โดยมีการเพิ่มจำนวนรับมากขึ้นตามลำดับตามความต้องการของประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันรับนักศึกษารุ่นละ 250 คน ระดับปริญญาโท รับรุ่นละประมาณ 100 คน ปริญญาเอก รับรุ่นละประมาณ 10 คน ส่วนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางจำนวนประมาณ 10 หลักสูตร รับปีละประมาณ 300 คน เมื่อรวมทุกหลักสูตรแล้วโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีสามารถผลิตบุคลากรสู่สังคมปีละประมาณกว่า 600 คน

 

ในปี พ.ศ. 2547 อาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีอายุใช้งานมานานมากกว่า 42 ปี เริ่มมีการชำรุดทรุดโทรม ต้องการซ่อมแซมเป็นระยะ ๆ หัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ สุปาณี เสนาดิสัย และคณะกรรมการบริหารภาควิชาฯ ในยุคนั้น มีความเห็นร่วมกันว่า บริเวณชำรุดของอาคารหลายจุดน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่โครงสร้างของอาคาร อาจก่อให้เกิดอันตรายกับนักศึกษาและบุคลากรที่ใช้อาคารดังกล่าว จึงทำบันทึกรายงานต่อท่านคณบดีเพื่อทราบ ต่อมาได้มีการประเมินความแข็งแรงของอาคารโดยฝ่ายวิศวกรของคณะฯ และฝ่ายโยธาของกรุงเทพมหานคร จนได้ข้อสรุปว่า ไม่สมควรใช้อาคารนี้ต่อไป ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินการขออนุมัติก่อสร้างอาคารใหม่จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งคณะกรรมการประจำคณะฯ เห็นชอบ และมีหนังสือถึงสำนักการโยธากรุงเทพมหานครเพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงเรียนพยาบาล เนื่องจากอาคารนี้มีความสูงเกิน 12 เมตร ทำให้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ต่อมาคณะฯ ได้รับหนังสือตอบจากกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มีนาคม 2547 ชี้แจงเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภทในท้องที่แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงวัดสามพระยา แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร พ.ศ. 2526

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2547 ภาควิชาพยาบาลศาสตร์จึงรวบรวมข้อมูลให้คณะฯ เพื่อนำเรียนไปยังสำนักราชเลขา เพื่อทูลเกล้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อสร้างอาคารโรงเรียนพยาบาลหลังใหม่มีความสูง 9 ชั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 เพื่อใช้เป็นโรงเรียนในการผลิตพยาบาลทุกระดับทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก การศึกษาเฉพาะทาง และเป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่องสำหรับพยาบาลทั่วประเทศ มีบางส่วนเป็นห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ บัณฑิตศึกษา และมีห้องสมุด ซึ่งนำความปลาบปลื้มสู่นักศึกษาพยาบาล อาจารย์ของบุคลากรของภาควิชาพยาบาลศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างหาที่สุดมิได้

อาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีหลังใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นมาแทนที่อาคารหลังเดิม ได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2553 โดยใช้ชื่อว่า "อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี" นับเป็นอาคารเพื่อการศึกษาที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนรู้อย่างครบถ้วน ประกอบด้วย

 
ชั้นที่ 1 มีพื้นที่โล่งสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ หน่วยบริการการศึกษาพยาบาล ห้องจำหน่ายหนังสือและตำราทางการแพทย์และพยาบาลชั้นลอย (ชั้น M) มีห้องสโมสรนักศึกษารามาธิบดี
ชั้นที่ 2 มีหอจดหมายเหตุ ห้องสมุด งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ และห้องสัมมนาย่อย
ชั้นที่ 3 มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 200 ชุด ห้องปฏิบัติการทักษะทางคลินิก
ชั้นที่ 4 มีสำนักงานผู้อำนวยการโรงเรียนฯ สำนักประสานงานองค์การอนามัยโลกด้านการศึกษาพยาบาล สำนักงานหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต สำนักงานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาพยาบาลศาสตร์ งานกิจการนักศึกษา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล หน่วยบริการการศึกษาพยาบาล ห้องประชุมจำนวน 3 ห้อง
ชั้นที่ 5-7 มีห้องพักอาจารย์พยาบาล ห้องประชุมสัมมนาขนาดต่าง ๆ จำนวน 27 ห้อง
ชั้นที่ 8 มีโรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาล หลักสูตรระบาดวิทยาคลินิก หลักสูตรอนามัยเจริญพันธุ์และวางแผนประชากรหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ และห้องประชุมสัมมนาขนาดต่าง ๆ จำนวน 12 ห้อง
ชั้นที่ 9 มีหอเกียรติยศ ห้องประชุมใหญ่และห้องประชุมสัมมนาขนาดต่าง ๆ จำนวน 8 ห้อง 

ด้านการบริหาร ในปี พ.ศ.2553 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีนโยบายแบ่งการบริหารการศึกษารวมถึงบริการวิชาการและการวิจัย ออกจากการบริการรักษาพยาบาล ทำให้ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ในปัจจุบันมีหน้าที่รับผิดชอบหลักเฉพาะด้านการศึกษา การบริการวิชาการและการวิจัยสาขาพยาบาลศาสตร์เท่านั้น สำหรับการบริการรักษาพยาบาลได้แยกไปสังกัดโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงมีการประสานกันในทุกด้าน ทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในปี พ.ศ.2554 ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้นโดยเปลี่ยนการบริหารจากภาควิชาพยาบาลศาสตร์ มาเป็นโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างการบริหารงานใหม่เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในการที่จะทำให้พันธกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะฯ และมหาวิทยาลัยสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย