หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน

 
รายละเอียดหลักสูตร
 

หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร
สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน

 
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
ภาษาอังกฤษ Board Certified Training Program in Community Nurse Practitioner
ชื่อวุฒิบัตร
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
ชื่อย่อ วพย. การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม Diplomate, Thai Board of Advanced Community Nurse Practitioner
ชื่อย่อ Dip. ACNP

ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันหลัก ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล

ปรัชญาของหลักสูตร

การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้มีความรู้ความชำนาญขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน มีความจำเป็นต้องดำเนินการฝึกอบรมทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคคล ครอบครัว และ ชุมชน ทั้งในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการบาดเจ็บ การรักษาโรคเบื้องต้น การจัดการและการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ตลอดจนการดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยง หรือ กลุ่มด้อยโอกาสในชุมชน โดยเสริมพลังอำนาจบุคคล ครอบครัว และกลุ่มทางสังคมในการดูแลสุขภาพตนเองและพึ่งพากันเองอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประเมินและออกแบบระบบบริการสุขภาพ พัฒนานโยบายสาธารณะและเครื่องมือตลอดจนวิธีการเพื่อการจัดการกับปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนได้อย่างเป็นระบบ

คำนิยาม

การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน เป็นสาขาวิชาเฉพาะทางการพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพ ปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพการจัดการกับปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของครอบครัว/ชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การออกแบบการเสริมความเข้มแข็งของบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการครอบครัวหรือองค์กรในชุมชน และการเสริมพลังอำนาจบุคคลและกลุ่มทางสังคม โดยเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาล ระบาดวิทยา ประชากรศึกษา การแพทย์ เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล ความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นคนรวมทั้งการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพบุคคล ครอบครัวและชุมชน

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

พยาบาลที่จบหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. มีความสามารถในการวิเคราะห์ ปัญหาด้านสุขภาพและปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคล ครอบครัว และชุมชน

2. มีความสามารถในการออกแบบโครงการ/กิจกรรมการพยาบาลเพื่อการเสริมความเข้มแข็งให้บุคคล ครอบครัว และระบบบริการสุขภาพชุมชนในการจัดการและดูแลกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเฉพาะโรค กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และต่อเนื่อง

3. มีความสามารถในการเสริมความเข้มแข็งในการจัดการครอบครัว และองค์กรในชุมชน และการเสริมพลังอำนาจบุคคล และกลุ่มทางสังคม ในการดูแลสุขภาพ และการจัดการกับปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคล ครอบครัว และชุมชน

4. มีความสามารถในการทำงานร่วมกับองค์กรชุมชน หน่วยงาน และ บุคลากรด้านสุขภาพ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วย กลุ่มเป้าหมาย และครอบครัว การเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน และการเสริมพลังอำนาจบุคคล และกลุ่มทางสังคมในชุมชน

5. มีความสามารถในการสอน ฝึกทักษะเป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติให้การปรึกษาแก่ผู้ป่วยผู้ใช้บริการ ครอบครัว ผู้ดูแล นักศึกษา เจ้าหน้าที่ในทีมสุขภาพและหน่วยงานอื่นได้อย่างเหมาะสม

6. มีความสามารถในการพัฒนาและนำใช้ระบบข้อมูล สารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิตอลในการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ การเปลี่ยนแปลง/ปรับปรุงระบบครอบครัว ระบบบริการสุขภาพชุมชน การเสริมพลังอำนาจบุคคล ครอบครัว และกลุ่มทางสังคม

7. มีความสามารถในการเป็นผู้นำในองค์กรและระบบเพื่อปรับปรุงคุณภาพ และมีความคิดเชิงระบบ

8. มีคุณธรรม และจริยธรรม เป็นผู้ชี้นำความถูกต้องและสื่อความคิดที่ดีงามด้านสุขภาพให้กับสังคม มีความไวเชิงวัฒนธรรม และมีทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรมในการพยาบาลในสาขาที่เชี่ยวชาญ

9. มีความสามารถเชิงวิชาการ และการคิดเชิงวิเคราะห์ ในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

10. มีความสามารถในการปรับปรุงสุขภาพของคนในชาติโดยการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การจัดการกับภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของครอบครัวและชุมชน

11. มีความสามารถในการจัดการและการประเมินผลลัพธ์ของการบริการสุขภาพ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม

คุณสมบัติผู้เข้าฝึกอบรม

1. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทพยาบาลศาสตร์ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนหรือการพยาบาลชุมชน หรือการพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว จากหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง

2. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาล ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาล ชั้นหนึ่ง และการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

3. มีหนังสือจากสถาบันต้นสังกัดอนุมัติให้เข้าฝึกอบรม

4. มีคุณสมบัติอื่นตามที่วิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยกำหนด

วิธีการคัดเลือก

ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

เกณฑ์การสำเร็จการฝึกอบรม

1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีเวลาฝึกอบรมตามข้อกำหนดของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย

2. ศึกษารายวิชาและฝึกปฏิบัติครบถ้วนตามโครงสร้างของหลักสูตร และผ่านเกณฑ์การประเมินผลทุกรายวิชา

3. ส่งงานวิจัยต้นฉบับและตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถเขียนเป็นบทความทางวิชาการลงในวารสารเหล่านั้นได้โดยเป็นผู้นิพนธ์ชื่อแรก (first author) และอาจมีอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเป็นผู้นิพนธ์หลัก (corresponding author)

การสิ้นสุดสภาพ

1. ได้รับอนุมัติจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของสภาการพยาบาลให้ลาออก

2. สภาการพยาบาลให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

3. พ้นสภาพสมาชิกสภาการพยาบาล

4. ถูกให้ออกเนื่องจากการกระทำผิดอย่างร้ายแรงซึ่งสถาบันการฝึกอบรมแต่ละสถาบันเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สถาบันฝึกอบรมพิจารณาทบทวนได้

5. ตาย

การฝึกอบรม

ระบบการฝึกอบรม

เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

ระยะเวลาการฝึกอบรม

1. การฝึกอบรม ให้เป็นไปตามระเบียบของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้าฝึกอบรมเต็มเวลาในสถาบันหลัก สถาบันร่วมผลิต หรือสถาบันแหล่งฝึก อย่างน้อย 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี

2. กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาฝึกอบรมเกิน 5 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถาบันหลัก และผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ

การประเมินผู้เข้าฝึกอบรม

การประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมสถาบันหลักเป็นผู้กำหนด

ภาคทฤษฎี ประเมินโดยการสอบข้อเขียน ประเมินผลการสัมมนา การทำรายงาน การนำเสนอผลงานวิชาการ และวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ภาคปฏิบัติ ประเมินปริมาณงานขั้นต่ำ คุณภาพของงาน การสอบรายกรณีศึกษา และการสอบปากเปล่า ทั้งนี้ปริมาณงานขั้นต่ำในภาคปฏิบัติของแต่ละกลุ่มที่กำหนดไว้ดังนี้

กลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัว

ปีที่ ๑ การดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคลในทุกช่วงวัย อย่างน้อย ๕๐ ราย และครอบครัว อย่างน้อย ๒๐ ครอบครัว จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาวะ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพของครอบครัว ติดตามประเมินผลลัพธ์

ปีที่ ๒ การดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคลที่มีปัญหาซับซ้อนอย่างน้อย ๕๐ ราย และออกแบบการดูแลครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อนและพบบ่อย อย่างน้อย ๒๐ ครอบครัว

ปีที่ ๓ พัฒนา จัดการ และกำกับระบบการดูแล ในครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อน ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยเน้นผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว กลุ่ม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มระบบสุขภาพชุมชน

ปีที่ ๑ ให้การดูแลและรักษาโรคเบื้องต้นในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ อย่างน้อย ๓๐ ราย ประเมินสุขภาพชุมชนขั้นสูง ครอบคลุมบุคคล ครอบครัว กลุ่มเฉพาะในชุมชน โดยเลือกใช้เครื่องมือทางระบาดวิทยา การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการศึกษาทางประชากร อย่างน้อย ๑ ชุมชน

ปีที่ ๒ สร้างเครื่องมือในการจัดการข้อมูลสุขภาพชุมชน อย่างน้อย ๑ ชุด และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพชุมชน อย่างน้อย ๒ แห่ง

ปีที่ ๓ จัดทำกรณีศึกษาการพัฒนานวัตกรรม/รูปแบบ/ระบบ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพชุมชนใน ๑ ตำบล รวมถึงการจัดระบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มหรือองค์กรในชุมชน อย่างน้อย ๑ ชุมชน

การขอรับวุฒิบัตรฯ

ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เสนอต่อสภาการพยาบาล เพื่อขออนุมัติ “วุฒิบัตร” แสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาล ชั้นหนึ่งและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

2. มีหนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ในแขนงเฉพาะทางที่จะขอรับวุฒิบัตร จากสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

3. มีใบรับรองผลการปฏิบัติงานและเสนอชื่อเข้าสอบจากผู้รับผิดชอบหลักสูตรฝึกอบรมฯ ในสถาบันหลัก

4. มีรายงานประสบการณ์การปฏิบัติการพยาบาล รวมตลอดหลักสูตรตามแบบรายงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ได้กำหนดไว้พร้อมคำรับรองของผู้สมัครสอบและผู้รับผิดชอบการฝึกปฏิบัติ

5. มีรายงานการดูแลผู้ป่วย หรือผู้ใช้บริการหรือครอบครัวโดยละเอียดจำนวน ๕ กรณีตามแบบรายงานการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ/ ครอบครัว หรือรายงานการวิเคราะห์ระบบสุขภาพชุมชน/ รายงานการพัฒนานวัตกรรม/รูปแบบ/ระบบ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพชุมชนโดยละเอียด จำนวน ๑ ชุมชน

6. ตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

7. ผ่านการสอบเพื่อประเมินความรู้ทักษะและเจตคติด้านการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนอันประกอบด้วยการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่าตามเนื้อหาหลักสูตรซึ่งกำหนดความรู้ความสามารถทางวิชาชีพและทักษะการพยาบาลเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน

หลักสูตรการฝึกอบรม

โครงสร้างหลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม ๓ ปี รวม ๙๒ หน่วยกิต

ภาคทฤษฎี โดยการบรรยาย นำเสนอทางวิชาการ สัมมนาวิชาการ วารสารสโมสร การประชุมวิชาการ ใช้เวลารวมกัน ไม่น้อยกว่า ๑๘ หน่วยกิต หรือ ๒๗๐ ชั่วโมง ประกอบด้วย

1. กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า ๙ หน่วยกิต

2. กลุ่มวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต

3. กลุ่มวิชาเลือกการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ไม่น้อยกว่า ๖ หน่วยกิต

ภาคปฏิบัติ ๕๐ หน่วยกิต ต้องมีระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติงานในสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ชั่วโมง (ฝึก ๖๐ ชั่วโมง เท่ากับ ๑ หน่วยกิต)

การวิจัย เทียบได้ ๒๔ หน่วยกิต

วิชาของการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตร

ภาคทฤษฎี มี ๒ หมวดวิชา รวมไม่น้อยกว่า ๑๘ หน่วยกิต

กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า ๙ หน่วยกิต ประกอบด้วย

- ภาวะผู้นำและการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในระบบการดูแลสุขภาพที่มีความซับซ้อน ๓(๒-๒-๕)

- การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ๒(๑-๒-๓)

- ระบบสุขภาพ นโยบายสุขภาพระบบสารสนเทศในการดูแลสุขภาพ ๒(๑-๒-๓)

- การวัดและจัดการผลลัพธ์ในระบบบริการสุขภาพ ๒(๒-๐-๔)

กลุ่มวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต

- การประเมินสุขภาพครอบครัวและชุมชนขั้นสูง ๓(๒-๓-๔)

กลุ่มวิชาเลือกการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ไม่น้อยกว่า ๖ หน่วยกิต สามารถเลือกได้ใน ๒ กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัว ประกอบด้วย

- เภสัชวิทยาขั้นสูงสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว ๓(๓-๐-๖)

- การจัดการภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังและความพิการในครอบครัว ๓(๓-๐-๖)

กลุ่มระบบสุขภาพชุมชน ประกอบด้วย

- การสร้างระบบข้อมูลชุมชน เพื่อการพัฒนาสุขภาพ ๑(๑-๐-๒)

- การพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชน ๓(๓-๐-๖)

- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ๒(๒-๐-๔)

ภาคปฏิบัติ ๕๐ หน่วยกิต ต้องปฏิบัติงานในแขนงที่เลือกรวมไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ชั่วโมง

การวิจัย ๒๔ หน่วยกิต เป็นการทำงานศึกษาวิจัยต้นฉบับอย่างน้อย ๑ ฉบับ

รายละเอียดการฝึกอบรม

กลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัว

ปีที่ ๑ ฝึกปฏิบัติประเมินครอบครัวขั้นสูง

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนเป็นรายบุคคล โดยเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินภาวะสุขภาพครอบครัว รวมทั้งเครื่องมือทางระบาดวิทยา หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การเรียนการสอนในรายวิชาทฤษฎีและทำกิจกรรมตามที่กำหนดในรายวิชาต่าง ๆ

2. การฝึกปฏิบัติงานในแหล่งฝึก เน้นรับผิดชอบผู้ป่วยและครอบครัว/ผู้ใช้บริการโดยให้การพยาบาลโดยตรง (Direct care) เป็นรายบุคคล/รายครอบครัว และพัฒนาทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่จำเป็น ในสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ตามเกณฑ์ปริมาณงานขั้นต่ำของแขนงเวชปฏิบัติครอบครัว

3. การประชุมทางวิชาการในแหล่งฝึกร่วมกับทีม อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

4. การร่วมประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย๑ ครั้ง/เดือน

5. นำเสนอการศึกษารายกรณี (Case study) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

6. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

7. การนำเสนอบทความฟื้นฟูวิชาการ/ ทบทวนวรรณกรรม ๑ ฉบับ

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล

9. การสอบวัดความรู้และทักษะประจำปีที่ ๑

ปีที่ ๒ ฝึกจัดการระบบการดูแลสุขภาพครอบครัวและประเมินผลลัพธ์การดูแล

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนในกลุ่มที่เลือก พัฒนาระบบ นวัตกรรม จัดการและประเมินผลลัพธ์ และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1. การฝึกปฏิบัติงานในแหล่งฝึก เน้นรับผิดชอบผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการโดยการพยาบาลรายกลุ่มที่เลือกสรร มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่ลึกซึ้งกับกลุ่มผู้ป่วย/ครอบครัว/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรร การออกแบบนวัตกรรมหรือระบบการดูแลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ทางการพยาบาล

2. การประชุมทางวิชาการในแหล่งฝึก ร่วมกับทีมการพยาบาล อย่างน้อย ๒ ครั้ง/สัปดาห์

3. การร่วมการประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย๒ ครั้ง/เดือน

4. การนำเสนอการศึกษารายกรณี (Case study) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

5. การนำกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

6. การนำเสนอบทความวิชาการ/ทบทวนวรรณกรรม ๑ ฉบับ

7. การนำเสนอนวัตกรรมหรือระบบการดูแลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการบริการ อย่างน้อย ๑ ครั้ง ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการวิจัยที่จะดำเนินการต่อในชั้นปีที่ ๓ เพื่อสำเร็จหลักสูตร

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ ๑

9. การสอบวัดความรู้และทักษะประจำปีที่ ๒

ปีที่ ๓ ฝึกพัฒนานวัตกรรม/รูปแบบ/ระบบ เพื่อแก้ปัญหาระบบบริการสุขภาพครอบครัว

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพทางการพยาบาลด้วยกระบวนการวิจัยทางคลินิก และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การปฏิบัติงานในคลินิก โดยใช้ทักษะการพยาบาลขั้นสูงในการนำนวัตกรรมหรือระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรรไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของการบริการ ด้วยกระบวนการวิจัยทางคลินิก และการมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงาน

2. การประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย ๒ ครั้ง/เดือน

3. การนำเสนอการศึกษารายกรณี (Case study) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

4. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน

5. การทำโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการโดยใช้ผลการวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือ การศึกษาการนำนวัตกรรม/ระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วย/ครอบครัว/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรร จำนวน ๑ เรื่อง โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการดังนี้

- การประชุมทีมผู้มีส่วนร่วมในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวในโครงการวิจัยอย่างน้อย ๑ครั้ง/เดือนเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ

- การนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของโครงการวิจัยในกลุ่มผู้เข้าฝึกอบรมและอาจารย์ ๑ ครั้ง/เดือน

- การเสนอผลการวิจัยในหน่วยงาน

- นำเสนอผลการวิจัยในที่ประชุมทางวิชาการ ได้แก่ การประชุมวิชาการของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย หรือการประชุมในระดับชาติหรือนานาชาติ และ

- ตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

6. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ ๑ และปีที่ ๒ และ

7. การสอบประมวลความรู้และทักษะเพื่อรับวุฒิบัตรฯ