หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต(สาขาวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์)

 
 
รายละเอียดหลักสูตร
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการผดุงครรภ์
หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๑

 
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการผดุงครรภ์
ภาษาอังกฤษ Master of Nursing Science Program in Midwifery
ชือปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การผดุงครรภ์)
ชื่อย่อ พย.ม. (การผดุงครรภ์)
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม Master of Nursing Science (Midwifery)
ชื่อย่อ M.N.S. (Midwifery)

ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ปรัชญาของหลักสูตร

      การผดุงครรภ์เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำการดูแลและการช่วยเหลือสตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด และระยะให้นมบุตร รวมถึงทารกแรกเกิดและครอบครัว ทั้งในภาวะปกติ ภาวะเสี่ยง ภาวะเจ็บป่วย ภาวะแทรกซ้อน ภาวะฉุกเฉิน และวิกฤติ การตรวจครรภ์ การทำคลอด การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อน สร้างรูปแบบ/แนวปฏิบัติ/โครงการเพื่อปรับปรุงคุณภาพการดูแล โดยเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาล การผดุงครรภ์ ศาสตร์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล และความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการปฏิบัติและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสตรี ครอบครัว องค์กร และระบบบริการสุขภาพ

      การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต สามารถติดตามความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่เสมอ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีความคิดสร้างสรรค์ มีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

๑. สร้างมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม เชิงวิชาการและมีจรรยาบรรณวิชาชีพ

๒. สร้างมหาบัณฑิตที่มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์การผดุงครรภ์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

๓. สร้างมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการปฏิบัติการผดุงครรภ์ การสอน การทำวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพบริการพยาบาลและผดุงครรภ์ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด และระยะให้นมบุตร รวมถึงทารกแรกเกิดและครอบครัวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

๔. พัฒนามหาบัณฑิตที่มีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม สามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองและพัฒนาตนเองให้มีความเป็นผู้นำ และมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

๕. สร้างมหาบัณฑิตที่มีทักษะด้านดิจิทัล สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการข้อมูลทางการวิจัยและการพยาบาล

๖. พัฒนามหาบัณฑิตที่มีทักษะในการปฏิบัติการผดุงครรภ์แก่สตรีวัยเจริญพันธุ์ในระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด และระยะให้นมบุตร รวมถึงทารกแรกเกิดและครอบครัว

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Program Learning Outcomes: PLOs)

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความรู้ ความสามารถ ดังนี้

๑. มีคุณธรรมจริยธรรมสามารถเป็นผู้ชี้นำความถูกต้องและสื่อความคิดที่ดีงามให้กับสังคมและมีทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรมในการปฏิบัติการผดุงครรภ์

๒. มีความรอบรู้ในเนื้อหาสาระของศาสตร์ทางการพยาบาล การผดุงครรภ์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสตรีวัยเจริญพันธุ์ระยะมีบุตร ในภาวะการตั้งครรภ์ปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งครอบครัว

๓. มีความสามารถบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลสตรีวัยเจริญพันธุ์ระยะมีบุตร ที่ตั้งครรภ์ปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อน และครอบครัวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพและกฎหมาย

๔. มีความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเองและแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ มีทักษะด้านดิจิทัล สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง บริหารจัดการข้อมูลและบูรณาการความรู้ด้านสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการผดุงครรภ์ และการนำเสนอต่อบุคคลอื่น

๕. เป็นผู้นำทางคลินิกด้านการผดุงครรภ์ สามารถบริหารจัดการประสานความร่วมมือในวิชาชีพและสหสาขาวิชาชีพ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทางด้านสุขภาพในการดูแลสตรีวัยเจริญพันธุ์และครอบครัวในระยะมีบุตร

๖. มีความสามารถทำการวิจัยหรือโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการผดุงครรภ์ ตลอดจนเผยแพร่ผลการวิจัยอย่างมีมาตรฐาน

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

๑. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาลและผดุงครรภ์) หรือพยาบาลศาสตรบัณฑิต

๒. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

๓. มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้น ๑

๔. มีประสบการณ์การทำงานในด้านการพยาบาล การศึกษาพยาบาล และ/หรือการบริหารการพยาบาลหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างน้อย ๑ ปี โดยนับถึงวันยื่นใบสมัคร

๕. ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีผลการสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

๖. กรณีผู้สมัครเข้าศึกษาไม่มีสัญชาติไทย ต้องสำเร็จหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ หรือเทียบเท่า และได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยสภาวิชาชีพ หรือองค์กรที่รับผิดชอบในประเทศของผู้สมัคร กรณีไม่มีระบบการให้ใบอนุญาตฯ ต้องมีใบรับรองการขึ้นทะเบียนในประเทศของผู้สมัคร หรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพพยาบาล (Nursing Regulatory Authority) ในประเทศของผู้สมัคร

๗. ผู้สมัครเข้าศึกษาซึ่งอยู่นอกเหนือจากเกณฑ์ดังกล่าวนี้ อาจได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าศึกษา ตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร โดยดำเนินการร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย

วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

จัดการเรียนการสอนในวัน-เวลาราชการ

โครงสร้างหลักสูตร

      จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๐ หลักสูตรปริญญาโท แผน ก แบบ ก ๒ ดังนี้

(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๓ หน่วยกิต
(๓) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
(๔) วิทยานิพนธ์ ๑๒ หน่วยกิต
รวมไม่น้อยกว่า ๓๗ หน่วยกิต

 

รายวิชาในหลักสูตร

(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๖๐๑ การวิจัยทางการพยาบาล ๓ (๓-๐-๖)
RANS 601 Nursing Research  
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓)
RANS 603 Statistics  
รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ๒(๒-๐-๔)
RANS 662 Theoretical Foundation in Advanced Nursing Practice  
รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔)
RANS 663 Health Policy and Nursing Leadership  
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๓ หน่วยกิต
รมพผ ๕๐๑ วิทยาการอนามัยเจริญพันธุ์ ๓(๓-๐-๖)
RANM 501 Reproductive Health Science  
รมพผ ๕๐๓ การผดุงครรภ์ ๑ ๒(๒-๐-๔)
RANM 503 Midwifery I  
รมพผ ๕๐๔ การผดุงครรภ์ ๒ ๒(๒-๐-๔)
RANM 504 Midwifery II  
รมพผ ๕๐๖ ปฏิบัติการผดุงครรภ์ ๑ ๓(๐-๙-๓)
RANM 506 Midwifery Practicum I  
รมพผ ๕๐๗ ปฏิบัติการผดุงครรภ์ ๒ ๓(๐-๙-๓)
RANM 507 Midwifery Practicum II  
(๓) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
รมพผ ๕๐๘ นวัตกรรมทางการผดุงครรภ์ ๓(๒-๓-๕)
RANM 508 Midwifery Innovation  
รมพย ๕๔๓ แนวคิดและการปฏิบัติทางการพยาบาลขั้นสูง ๓(๑-๖-๔)
RANS 543 Concept and Practice in Advanced Nursing  
รมพย ๕๔๕ การจัดการทางการพยาบาล ๓(๒-๓-๕)
RANS 545 Nursing Management  
รมพย ๕๔๙ เครื่องมือสำหรับการวิจัยและการวัดผลลัพธ์ ๓(๒-๓-๕)
RANS 549 Instruments for Research and Outcome Measures  
รมพย ๕๖๔ การสอนในคลินิก ๓(๒-๓-๕)
RANS 564 Teaching in Clinical Setting  
รมพย ๖๘๘ เทคโนโลยีและการจัดการสารสนเทศทางการพยาบาล ๓(๒-๓-๕)
RANS 688 Technology and Management of Nursing Information  

 

     นอกจากรายวิชาในหมวดวิชาเลือกข้างต้นแล้ว นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนได้จากรายวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตามความสนใจ และตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตร หรืออาจารย์ที่ปรึกษาเห็นสมควร

(๔) วิทยานิพนธ์ หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๑๒(๐-๓๖-๐)
RANS 698 Thesis  

 

ชั้นปี ภาคการศึกษาที่ ๑ ภาคการศึกษาที่ ๒
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓) รมพย ๖๐๑ วิจัยทางการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
  รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการ ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ๒(๒-๐-๔) รมพผ ๕๐๔ การผดุงครรภ์ ๒ ๒(๒-๐-๔)
  รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับ ภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔) รมพผ ๕๐๖ ปฏิบัติการผดุงครรภ์ ๑ ๓(๐-๙-๓)
  รมพผ ๕๐๑ วิทยาการอนามัยเจริญพันธุ์ ๓(๓-๐-๖) รมพผ ๕๐๗ ปฏิบัติการผดุงครรภ์ ๒ ๓(๐-๙-๓)
  รมพผ ๕๐๓ การผดุงครรภ์ ๑ ๒(๒-๐-๔)      
  รวม ๑๑ หน่วยกิต รวม ๑๑ หน่วยกิต
วิชาเลือก ๓ หน่วยกิต รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)
  รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)      
  รวม ๙ หน่วยกิต รวม ๖ หน่วยกิต
 

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

๑. ใช้เวลาในการศึกษาตามแผนการศึกษา

๒. ต้องศึกษารายวิชาต่างๆ ตามโครงสร้างของหลักสูตร คือ ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า ๒๕ หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ ๑๒ หน่วยกิต รวมจำนวนหน่วยกิตที่ต้องศึกษาตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๓๗ หน่วยกิต

๓. ต้องได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐

๔. ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

๕. ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมผ่านตามเกณฑ์ของ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

๖. ต้องเสนอวิทยานิพนธ์ และสอบวิทยานิพนธ์ผ่าน โดยคณะกรรมการที่บัณฑิตวิทยาลัยแต่งตั้ง และการสอบเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

๗. ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการเผยแพร่หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceedings) ตามประกาศบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๖ หรือฉบับปรับปรุงล่าสุด

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

๑. นักวิชาการ นักวิจัยสาขาการผดุงครรภ์

๒. พยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการผดุงครรภ์

๓. อาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องด้านการผดุงครรภ์