หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต(สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ)

 
 
รายละเอียดหลักสูตร
 
ชื่อสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาเขต/คณะ/ภาควิชา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
 
ชื่อหลักสูตร  
ภาษาไทย : หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ
ภาษาอังกฤษ : Master of Nursing Science Program in Gerontological Nurse Practitioner
 
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา  
ภาษาไทย ชื่อเต็ม : พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ)
ชื่อย่อ : พย.ม. (การพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ)
ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม : Master of Nursing Science (Gerontological Nurse Practitioner)
ชื่อย่อ : M.N.S. (Gerontological Nurse Practitioner)
 
วิชาเอก : ไม่มี
 
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร : ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
           โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รูปแบบของหลักสูตร
๑. รูปแบบ หลักสูตรระดับปริญญาโท
๒. ภาษาที่ใช้ ภาษาไทย
๓. การรับเข้าศึกษา รับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่ใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
๔. ความร่วมมือกับสถาบันอื่น เป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยเฉพาะ
๕. การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว
 
ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร
สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุม การคัดกรอง การวินิจฉัยและการรักษาโรคเบื้องต้น รวมทั้งการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน และการส่งต่อ การวางแผน การให้การพยาบาล และการประเมินผลลัพธ์ ในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มสุขภาพดี กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเจ็บป่วยเฉียบพลัน เรื้อรัง การดูแลระยะยาว (long-term care) และระยะท้ายของชีวิต ทั้งในชุมชนหรือในสถาบันบริการสุขภาพระยะยาว โดยการดูแลนั้นเชื่อมโยงศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์การสูงอายุ พยาธิสรีรและเภสัชวิทยา เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย กับศิลปะการพยาบาล ความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นคนอย่างเป็นองค์รวม การสร้างนวัตกรรม แนวปฏิบัติ รูปแบบและระบบการพยาบาลและระบบบริการสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการคัดกรองและการรักษาโรคเบื้องต้น การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินและการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการใช้ยาตามข้อกำหนดการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคของสภาการพยาบาลตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาล การศึกษาในหลักสูตรเชื่อว่าจะสร้างพยาบาลวิชาชีพที่สามารถปฏิบัติงานการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นผู้นำในการสร้างระบบ สร้างทีม และบริหารจัดการสุขภาพ สอดคล้องกับสมรรถนะพยาบาลเวชปฎิบัติและพยาบาลผู้สูงอายุที่สภาพยาบาลกำหนด เพื่อให้ผู้สูงอายุดำรงไว้ซึ่งสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตสามารถติดตามความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่เสมอ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และ สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
 
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว มหาบัณฑิตจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้
๑. มีคุณธรรม จริยธรรมเชิงวิชาการและทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรม และมีความไวเชิงวัฒนธรรมในการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ
๒. มีความรอบรู้ และความเข้าใจในเนื้อหาสาระของศาสตร์ทางการพยาบาลผู้สูงอายุและเวชปฎิบัติ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
๓. สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบูรณาการความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาลผู้สูงอายุ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำวิจัยในผู้สูงอายุทั้งในภาวะปกติ ภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน เรื้อรัง การดูแลระยะยาว และระยะท้ายของชีวิต และครอบครัว อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
๔. มีภาวะผู้นำ สามารถบริหารจัดการ และริเริ่ม หรือออกแบบการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งมีทักษะในการสื่อสารและทํางานร่วมกับบุคลากรทีมสุขภาพและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
๕. มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทอล และสารสนเทศ ทั้งการสืบค้น วิเคราะห์ และประมวลผลในการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม
๖. มีทักษะในการปฎิบัติการพยาบาล การรักษาโรคที่พบบ่อยเบื้องต้นในผู้สูงอายุ การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน และการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามข้อกำหนดของวิชาชีพ ในการดูแลผู้สูงอายุตลอดวิถีของสุขภาวะและการเจ็บป่วย
 
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Program Learning Outcomes)
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความรู้ ความสามารถ ดังนี้
๑. ประยุกต์หลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุในบริบทต่างๆ ทั้งการคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น การดูแลระยะเฉียบพลันและการดูแลระยะยาวในสถานบริการและชุมชนได้อย่าง มีคุณธรรมและจริยธรรมเชิงวิชาการ
๒. ประยุกต์เนื้อหาสาระของศาสตร์ทางการพยาบาลผู้สูงอายุและเวชปฏิบัติ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และความไวเชิงวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการออกแบบการจัดการ ประเมินผลลัพธ์ และปรับปรุงผลลัพธ์ที่พึงประสงค์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุและครอบครัว โดยคำนึงถึงความไวเชิงวัฒนธรรม
๓. สร้างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ และในทุกระยะของวิถีการเจ็บป่วย ทั้งภาวะเรื้อรัง พึ่งพิง ระยะยาว และระยะท้ายของชีวิต เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักฐานทางวิชาการ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและคุณธรรม จริยธรรม
๔. แสดงออกถึงภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ และริเริ่ม หรือออกแบบการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งมีทักษะในการสื่อสารและทํางานเป็นทีม การร่วมมือกับทีมสุขภาพและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดการดูแลผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
๕. ประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทอลและสารสนเทศ เลือกข้อมูลที่เชื่อถือได้ และประมวลผลมาใช้ในการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว จัดการกับความเสี่ยงปรับปรุงคุณภาพการบริการ และการติดต่อสื่อสารในการประสานการดูแลอย่างต่อเนื่อง
๖. ปฏิบัติการพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาวะ การป้องกันโรค การคัดกรองและส่งต่อ การรักษาโรคที่พบบ่อยเบื้องต้นในผู้สูงอายุ การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพ และการจัดการดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพิง หรือเจ็บป่วยเรื้อรังให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง การดูแลระยะท้ายของชีวิต โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและเครือข่ายทางสังคม และการคำนึงถึงความต่างทางวัฒนธรรม
 
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
๑. นักวิชาการ นักวิจัย สาขาการพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ
๒. พยาบาลวิชาชีพที่มีความสามารถในการพยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ
๓. อาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

สถานที่จัดการเรียนการสอน

๑. โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาเขตพญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล

ระบบการจัดการศึกษา

๑. ระบบใช้ระบบการจัดการศึกษาแบบหน่วยกิตระบบทวิภาค
๒. การจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน -ไม่มี-
๓. การเทียบเคียงหน่วยกิตในระบบทวิภาค -ไม่มี-
 

การดำเนินการหลักสูตร

- วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอนจัดการเรียนการสอนในวัน - เวลาราชการ
 

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

๑. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาลและผดุงครรภ์) หรือพยาบาลศาสตรบัณฑิต หรือประกาศนียบัตรทางการพยาบาลเทียบเท่าปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาที่สภาการพยาบาล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้การรับรอง
๒. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
๓. มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้น ๑ หรือ การพยาบาลชั้น ๑
๔. มีประสบการณ์การทำงานในด้านการพยาบาล การศึกษาพยาบาล และ/หรือการบริหารการพยาบาลหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างน้อย ๑ ปี โดยนับถึงวันยื่นใบสมัคร
๕. ต้องมีผลการสอบภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
๖. กรณีผู้เข้าศึกษาไม่มีสัญชาติไทย ผู้เข้าศึกษาต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ที่ไม่หมดอายุในประเทศที่ตนสำเร็จการศึกษา กรณีไม่มีระบบการให้ใบอนุญาตฯ ต้องมีใบรับรองการขึ้นทะเบียนในประเทศของตน หรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพพยาบาล (Nursing Regulatory Authority) ในประเทศของผู้สมัคร
๗. ผู้สมัครเข้าศึกษาซึ่งอยู่นอกเหนือจากเกณฑ์ข้างต้น อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษา ตามดุลยพินิจของประธานหลักสูตรและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
 

รายละเอียดหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต
- รายวิชาภาคทฤษฎี บรรยาย/อภิปรายไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง/ภาคการศึกษาปกติ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
- รายวิชาภาคปฎิบัติทางคลินิก ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง/ภาคการศึกษาปกติ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
- วิทยานิพนธ์ ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง/ภาคการศึกษาปกติ มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระบบทวิภาค
 
โครงสร้างหลักสูตร
จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๐ แผน ก แบบ ก ๒ ดังนี้
(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๒ หน่วยกิต
(๓) หมวดวิชาเลือกไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
(๔) วิทยานิพนธ์t ๑๒ หน่วยกิต
รวมไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต
 

รายวิชาในหลักสูตร

(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รรมพย ๖๐๑ การวิจัยทางการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
RANS 601 Nursing Research  
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓)
RANS 603 Statistics  
รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ๒(๒-๐-๔)
RANS 662 Theoretical Foundation in Advanced Nursing Practice  
รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔)
RANS 663 Health Policy and Nursing Leadership  
 
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๒ หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพส ๕๐๖ พยาธิสรีรวิทยาและเภสัชวิทยาสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ ๒(๒-๐-๔)
RAGN 506 Pathophysiology and Pharmacology for Gerontological Nurse Practitioner  
รมพส ๕๐๗ การพยาบาลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการรักษาโรคเบื้องต้น ๓(๓-๐-๖)
RAGN 507 Nursing Care of Older Persons with Common Health Problems and Medical Care  
รมพส ๕๐๘ ปฏิบัติการพยาบาลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการรักษาโรคเบื้องต้น ๓(๐-๙-๓)
RAGN 508 Nursing Practicum in Common Health Problems and Primary Medical Care in Older Persons  
รมพส ๕๐๙ การพยาบาลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ๑(๑-๐-๒)
RAGN 509 Nursing Care of Older Persons with Illnesses  
รมพส ๕๑๐ ปฏิบัติการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ๓(๐-๙-๓)
RAGN 510 Gerontological Nurse Practitioner Practicum in Older Persons with Illnesses  
 
(๓) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๕๔๓ แนวคิดและการปฏิบัติทางการพยาบาลขั้นสูง ๓(๑-๖-๔)
RANS 543 Concept and Advanced Practice Nursing  
รมพย ๕๔๔ การบำบัดเสริมและการบำบัดทางเลือกสำหรับการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
RANS 544 Complementary and Alternative Therapy for Nursing  
รมพย ๕๔๙ เครื่องมือสำหรับการวิจัยและการวัดผลลัพธ์ ๓(๒-๓-๕)
RANS 549 Instruments for Research and Outcome Measures  
รมพย ๕๕๑ การดูแลระยะยาวและต่อเนื่อง ๓(๓-๐-๖)
RANS 551 Long-term and Continuity Care  
รมพย ๕๕๒ การดูแลแบบประคับประคอง ๓(๒-๓-๕)
RANS 552 Palliative Care  
รมพย ๕๕๔ ประเด็นร่วมสมัยของสุขภาพผู้สูงอายุ ๓(๓-๐-๖)
RANS 554 Contemporary Issues on Aging Health  
รมพย ๕๖๔ การสอนในคลินิก ๓(๒-๓-๕)
RANS 564 Teaching in Clinical Setting  
รมพย ๖๘๘ เทคโนโลยีและการจัดการสารสนเทศทางการพยาบาล ๓(๒-๓-๕)
RANS 688 Technology and Management of Nursing Information  
 
รายวิชาเปิดใหม่
นอกจากรายวิชาในหมวดวิชาเลือกข้างต้นแล้ว นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนได้จากรายวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลหรือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆตามความสนใจ และตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตร หรืออาจารย์ที่ปรึกษาเห็นสมควร
 
(๔) วิทยานิพนธ์
หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๑๒(๐-๓๖-๐)
RANS 698 Thesis  
 
แผนการศึกษา
ชั้นปี ภาคการศึกษาที่ ๑ ภาคการศึกษาที่ ๒
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓) รมพย ๖๐๑ การวิจัยทางการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
  รมพส ๕๐๖ พยาธิสรีรวิทยาและเภสัชวิทยาสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ ๒(๒-๐-๔) รมพส ๕๐๘ ปฏิบัติการพยาบาลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และการรักษาโรคเบื้องต้น ๓(๐-๙-๓)
  รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาล ๒(๒-๐-๔) รมพส ๕๐๙ การพยาบาลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ๑(๑-๐-๒)
  รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔) รมพส ๕๑๐ ปฏิบัติการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ๓(๐-๙-๓)
  รมพส ๕๐๗ การพยาบาลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการรักษาโรคเบื้องต้น ๓(๓-๐-๖)    
  รวม ๑๑ หน่วยกิต   รวม ๑๐ หน่วยกิต  
วิชาเลือก ๓ หน่วยกิต รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)
  รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)