โครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cells) ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล

07 | AFFORDABLE AND CLEAN ENERGY

โครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cells) ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มาและความสำคัญ

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้กำหนดนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยใช้แผน “9 to Zero” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” ซึ่งเป็นแผนของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยให้สุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี ด้วย 9 หลักการ ดังนี้ การใช้พลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลดหรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์ และการพัฒนารูปแบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวันนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะแรก ด้วยก้าวที่ 1 คือ การใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายไว้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำสัญญาข้อตกลงทำความร่วมมือกับ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด เพื่อดำเนิน “โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์” โดยร่วมกันติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 14 เมกกะวัตต์ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,487 ตันต่อปี หรือ 21% พร้อมทั้งวางแผนในการขยายพื้นที่ในการติดตั้ง Solar Rooftop ไปยังพื้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกคณะ/สถาบัน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยังยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

รายละเอียดของกิจกรรม/โครงการ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นส่วนงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop บริเวณดาดฟ้าอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ศาลายา และอาคารหอพักนักศึกษาพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาลายา โดยตอนนี้การก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้นเรียบร้อย แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการขออนุญาตกับการไฟฟ้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเปิดใช้งานระบบได้ ซึ่งหากเปิดใช้งานระบบจะส่งผลให้ได้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ศาลายา และอาคารหอพักนักศึกษาพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาลายา ลดลงได้ตามเป้าหมายในภาพรวมของมหาวิทยาลัย

วันที่

6 ธันวาคม 2565

ตัวชี้วัด

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (17 SDGs Goal) เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา