หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเด็ก

 
รายละเอียดหลักสูตร
 

หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร
สาขาการพยาบาลเด็ก

 
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเด็ก
ภาษาอังกฤษ Board Certified Training Program in Pediatric Nursing
ชื่อวุฒิบัตร
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
สาขาการพยาบาลเด็ก
ชื่อย่อ วพย. การพยาบาลเด็ก
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม Diplomate, Thai Board of Advanced Practice in Pediatric Nursing
ชื่อย่อ Dip. APPN

ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันหลัก ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล

ปรัชญาของหลักสูตร

      การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้มีความรู้ความชำนาญขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเด็ก และการพัฒนาวิชาการในสาขานี้ให้มีมาตรฐานสากลเป็นความจำเป็น เพื่อให้เด็กทุกวัยและทุกภาวะสุขภาพได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลช่วยเหลือ บำบัดรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพที่มีคุณภาพสูงสุด โดยพัฒนาการดำเนินงานที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พัฒนาระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ จนเกิดผลลัพธ์ทางการพยาบาลที่ส่งผลให้เด็กและครอบครัวมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบบริการสุขภาพ

คำนิยาม

      การพยาบาลเด็กเป็นสาขาวิชาเฉพาะทางการพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสุขภาพแก่เด็กและครอบครัว โดยมุ่งเน้นการประเมินสภาพ การวินิจฉัย การวางแผนและการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพทุกระยะพัฒนาการ ระยะเจ็บป่วย และระยะสุดท้ายของชีวิต การพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการระบบบริการเด็กกลุ่มใดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อไปนี้ ทารกแรกเกิด เด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยง เด็กโรคเรื้อรังและพิการ เด็กในภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน โดยเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ทางการแพทย์ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล และความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นคน ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการปฏิบัติและเกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อเด็กและครอบครัว องค์กร และระบบบริการสุขภาพของประเทศ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเด็ก จะมีคุณสมบัติดังนี้

1. มีความสามารถในการออกแบบและปฏิบัติการดูแลโดยตรง (Direct care) ในผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีคุณภาพ

2. มีความสามารถในการบริหารจัดการการดูแล (Care management) รวมถึงการพัฒนาและกำกับการดูแลกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ อย่างต่อเนื่อง

3. มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถนำเสนอรายงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านสิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการ ตลอดจนสื่ออื่น ๆ

4. มีความสามารถในการทำงานร่วมกับบุคลากรด้านสุขภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Collaboration) ในการร่วมดำเนินการเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์การบริการ ยกระดับภาวะสุขภาพของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีความสามารถในการสอน (Teaching) ชี้แนะ (Coaching) เป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติ (Mentoring) และให้การปรึกษา (Consulting) แก่ผู้ใช้บริการ/ครอบครัว นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ในทีมสุขภาพ

6. มีทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรมในการพยาบาลเด็กและครอบครัว และเป็นตัวอย่างของผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณธรรม จริยธรรม ชี้นำและสื่อความคิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านสุขภาพให้กับสังคม และมีความไวเชิงวัฒนธรรม

7. มีความความสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและระบบบริการพยาบาล สามารถใช้ระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิตอลในการปรับปรุงคุณภาพการดูแล ริเริ่มโครงการต่าง ๆ จัดการกับความเสี่ยงและภาวะคุกคามต่อสุขภาพ และประเมินผลลัพธ์ของการบริการสุขภาพได้

8. มีบทบาทในการร่วมกำหนดนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมกับสังคมและประเทศชาติ ที่มีความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความดีงามทางด้านจริยธรรม และสามารถนำนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม

คุณสมบัติผู้เข้าฝึกอบรม

1. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทพยาบาลศาสตร์สาขาการพยาบาลเด็ก จากหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง

2. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่งและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

3.มีหนังสือจากสถาบันต้นสังกัดอนุมัติให้เข้าฝึกอบรม

4. มีคุณสมบัติอื่นตามที่วิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยกำหนด

วิธีการคัดเลือก

ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบของสภาการพยาบาล

เกณฑ์การสำเร็จการฝึกอบรม

1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีเวลาฝึกอบรมตามข้อกำหนดของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย

2. ศึกษารายวิชาและฝึกปฏิบัติครบถ้วนตามโครงสร้างของหลักสูตรและผ่านเกณฑ์การประเมินผลทุกรายวิชา

3. ส่งงานวิจัยต้นฉบับและตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถเขียนเป็นบทความทางวิชาการลงในวารสารเหล่านั้นได้โดยเป็นผู้นิพนธ์ชื่อแรก (first author) และอาจมีอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเป็นผู้นิพนธ์หลัก (corresponding author)

การสิ้นสุดสภาพ

1. ได้รับอนุมัติจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของสภาการพยาบาลให้ลาออก

2. สภาการพยาบาลให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

3. พ้นสภาพสมาชิกสภาการพยาบาล

4. ถูกให้ออกเนื่องจากการกระทำผิดอย่างร้ายแรงซึ่งสถาบันการฝึกอบรมแต่ละสถาบันเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สถาบันฝึกอบรมพิจารณาทบทวนได้

5. ตาย

การฝึกอบรม

ระบบการฝึกอบรม

เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

ระยะเวลาการฝึกอบรม

1. การฝึกอบรม ให้เป็นไปตามระเบียบของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้าฝึกอบรมเต็มเวลาในสถาบันหลัก สถาบันร่วมผลิต หรือสถาบันแหล่งฝึก อย่างน้อย 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี

2. กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาฝึกอบรมเกิน 5 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถาบันหลัก และผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ

การประเมินผู้เข้าฝึกอบรม

การประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมสถาบันหลักเป็นผู้กำหนด ภาคทฤษฎี ประเมินโดยการสอบข้อเขียน ประเมินผลการสัมมนา การทำรายงาน การนำเสนอผลงานวิชาการ และวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ภาคทฤษฎี ประเมินโดยการสอบข้อเขียน ประเมินผลการสัมมนา การทำรายงาน การนำเสนอผลงานวิชาการ และวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ภาคปฏิบัติ ประเมินจากปริมาณงาน คุณภาพการปฏิบัติ การสอบรายงานผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ และการสอบปากเปล่า ทั้งนี้ ปริมาณงานขั้นต่ำในภาคปฏิบัติของแต่ละแขนงเฉพาะทาง กำหนดไว้ดังนี้

ปีที่ 1 ปฏิบัติการจัดการดูแลสุขภาพเด็กเป็นรายบุคคล (Individual case management) ทั้งในเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยง ทารกแรกเกิด เด็กป่วยเรื้อรัง และเด็กป่วยในระยะวิกฤติ ใน 15 สัปดาห์จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย และจัดการดูแลสุขภาพเด็กเป็นรายบุคคล (Individual case management) ในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรรในอีก 15 สัปดาห์ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 ราย รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 50 ราย หรือไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง

ปีที่ 2 ปฏิบัติการจัดการดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร ทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อนคล้ายกัน (Common complexity of the problems) อย่างน้อย 2 ประเด็น รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย หรือไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง และเสนอโครงการวิจัยหรือนวัตกรรม หรือ พัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล 1 เรื่อง หรือ 1 โครงการ

ปีที่ 3 ปฏิบัติการจัดการดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรรทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อนคล้ายกัน (Common complexity of the problems) รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย หรือไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง และทำการวิจัย/ พัฒนานวัตกรรม/ การจัดการระบบบริการทางการพยาบาลสำหรับเด็กในแขนงที่เลือกสรร อย่างน้อย 1 เรื่อง หรือ 1 โครงการ

การขอรับวุฒิบัตรฯ

ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์เสนอต่อสภาการพยาบาล เพื่อขออนุมัติ “วุฒิบัตร” แสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาการพยาบาลเด็ก ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่งและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

2. มีหนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลเด็ก จากสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง จากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

3. มีใบรับรองผลการปฏิบัติงาน และเสนอชื่อเข้าสอบจากผู้รับผิดชอบหลักสูตรฝึกอบรมฯ ในสถาบันหลัก

4. มีรายงานประสบการณ์การปฏิบัติการพยาบาลรวมตลอดหลักสูตรตามแบบรายงานซึ่งคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ได้กำหนดไว้พร้อมคำรับรองของผู้สมัครสอบ และผู้รับผิดชอบการฝึกปฏิบัติ

5. มีรายงานการดูแลเด็กป่วย/ผู้ใช้บริการ โดยละเอียด จำนวน 5 ราย ตามแบบรายงานที่กำหนด

6. มีงานวิจัยต้นฉบับและตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

7. ผ่านการสอบเพื่อประเมินความรู้ ทักษะ และเจตคติ ด้านการพยาบาลเด็ก ประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และการสอบปากเปล่า สาขาการพยาบาลเด็ก ในแขนงเฉพาะทางที่จะขอรับวุฒิบัตรฯ

หลักสูตรการฝึกอบรม

โครงสร้างหลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 3 ปี รวม 92 หน่วยกิต

- ภาคทฤษฎี โดยการบรรยาย นำเสนอทางวิชาการ สัมมนาวิชาการ วารสารสโมสร การประชุมวิชาการ โดยใช้เวลารวมกัน ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต หรือ 270 ชั่วโมงประกอบด้วย

- กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต

- กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 5 หน่วยกิต

- กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กขั้นสูงในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร ไม่น้อยกว่า 4 หน่วยกิต

- ภาคปฏิบัติ 50 หน่วยกิต ต้องโดย มีระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติงานในสาขาการพยาบาลเด็ก รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง (ฝึก 60 ชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วยกิต)

- การวิจัย เทียบได้ จำนวน 24 หน่วยกิต

วิชาของการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรสาขาการพยาบาลเด็ก

ภาคทฤษฎี มี 2 หมวดวิชา รวมกันไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต

กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ประกอบด้วย

- ภาวะผู้นำและการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในระบบการดูแลสุขภาพที่มีความซับซ้อน 3(2-2-5)

- การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ 2(1-2-3)

- ระบบสุขภาพ นโยบายสุขภาพระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิตอลในการดูแลสุขภาพ 2(1-2-3)

- การวัดและจัดการผลลัพธ์ในระบบบริการสุขภาพ 2(2-0-4)

กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 5 หน่วยกิต

- วิทยาการก้าวหน้าในการพยาบาลเด็ก 3(3-0-6)

- การบำบัดทางการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาลเด็กขั้นสูง 2(2-0-4)

กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กขั้นสูงในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร ไม่น้อยกว่า 4 หน่วยกิต ได้แก่

1. แขนง/กลุ่มทารกแรกเกิด

- การพยาบาลทารกแรกเกิดขั้นสูง I 2(2-0-4)

- การพยาบาลทารกแรกเกิดขั้นสูง II 2(2-0-4)

2. แขนง/กลุ่มเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยง

- การพยาบาลเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยงขั้นสูง I 2(2-0-4)

- การพยาบาลเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยงขั้นสูง II 2(2-0-4)

3. แขนง/กลุ่มเด็กป่วยเรื้อรัง

- การพยาบาลเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังขั้นสูง I 2(2-0-4)

- การพยาบาลเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังขั้นสูง II 2(2-0-4)

4. แขนง/กลุ่มเด็กป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน

- การพยาบาลเด็กป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลันขั้นสูง I 2(2-0-4)

- การพยาบาลเด็กป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลันขั้นสูง II 2(2-0-4)

ภาคปฏิบัติ รวม 50 หน่วยกิต หรือ ไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง ประกอบด้วย

1. การปฏิบัติการพยาบาลเด็กขั้นสูงปีที่ 1 จำนวนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง ร่วมกับการเรียนภาคทฤษฎี

2. การปฏิบัติการพยาบาลเด็กขั้นสูงปีที่ 2 จำนวนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง ร่วมกับเสนอโครงการวิจัย/ พัฒนานวัตกรรม /การจัดการระบบบริการทางการพยาบาลสำหรับเด็กในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร

3. การปฏิบัติการพยาบาลเด็กขั้นสูงปีที่ 3 จำนวนไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง ร่วมกับทำการวิจัย/ พัฒนานวัตกรรม /การจัดการระบบบริการทางการพยาบาลสำหรับเด็กในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร

การวิจัย 24 หน่วยกิต

เป็นการทำงานศึกษาวิจัยต้นฉบับอย่างน้อย 1 ฉบับ

รายละเอียดการฝึกอบรม

ใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 ปี แบ่งรายละเอียดการฝึกอบรมรายปี เป็นการฝึกอบรมภาคทฤษฎี 18 หน่วยกิต ภาคปฏิบัติ 50 หน่วยกิต (3,000 ชั่วโมง) และการวิจัย 24 หน่วยกิต จัดการฝึกอบรม ดังนี้

ปีที่ 1 : ฝึกอบรมสาขาการพยาบาลเด็กขั้นสูง (Residency Training in Advanced Pediatric Nursing) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนเป็นรายบุคคล และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การเรียนการสอนในรายวิชาทฤษฎี และทำกิจกรรมตามที่กำหนดในรายวิชา

2. ปฏิบัติงานในคลินิก

2.1 ฝึกปฏิบัติในทุกแขนง/กลุ่ม ทั้งเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยง ทารกแรกเกิด เด็กป่วยเรื้อรัง และ เด็กป่วยวิกฤติและเฉียบพลัน อย่างน้อยแขนง/กลุ่มละ 3-4 สัปดาห์ (150 ชั่วโมง) หรือ จำนวนไม่น้อย 7-8 ราย รวมทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง หรือ จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย เน้นการดูแลผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคล ประเมิน รักษาเบื้องต้นและ/หรือจัดการความผิดปกติที่พบบ่อยในเด็ก สอน ชี้แนะ ให้คำปรึกษา ประสานงานในทีมสุขภาพ ดูแลเด็กโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง และส่งต่อ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยฝึกปฏิบัติที่

- หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดทั่วไป หน่วยบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด และ/หรือ หน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด

- หน่วยผู้ป่วยนอกเด็ก คลินิกสุขภาพเด็กดี สถานดูแลเด็กกลางวัน/ศูนย์พัฒนาการ และ/หรือหน่วยอนามัยโรงเรียน

- หอผู้ป่วยเด็กทั่วไป/โรคเรื้อรัง หน่วยประสานงานระหว่างบ้านและโรงพยาบาล หน่วยผู้ป่วยนอกเด็ก และ/หรือการพยาบาลที่บ้าน

- หอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และหอผู้ป่วยเด็กทั่วไป/ป่วยเฉียบพลัน

2.2 ฝึกปฏิบัติในแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร ไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ราย โดยฝึกปฏิบัติทั้งที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ/หรือหน่วยบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

3. การประชุมปรึกษาทางคลินิก (Clinical conference) ร่วมกับทีมการพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์

4. การร่วมประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. นำเสนอการศึกษาผู้ป่วยรายกรณี (Case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

6. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

7. การนำเสนอบทความวิชาการ/ทบทวนวรรณกรรม 1 ฉบับ

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล

9. การสอบวัดความรู้และทักษะประจำปีที่ 1

ปีที่ 2 : วิชาฝึกอบรมสาขาการพยาบาลเด็กขั้นสูงเฉพาะกลุ่ม (Residency Training in Specialized Group of Advanced Pediatric Nursing)

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนในกลุ่มที่เลือกสรรทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม พัฒนาระบบนวัตกรรม จัดการและประเมินผลลัพธ์ โดยฝึกปฏิบัติไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย จึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. ปฏิบัติงานในคลินิก โดยรับผิดชอบเด็กตามแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร ใดหนึ่ง รายละเอียดของการปฏิบัติแต่ละแขนง/กลุ่มมีดังนี้

1.1 แขนง/กลุ่มทารกแรกเกิด ฝึกปฏิบัติที่หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดทั่วไป หน่วยบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด หน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการประเมินภาวะสุขภาพ การใช้เหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิก การตัดสินใจเชิงจริยธรรม การจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพ การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การจัดการดูแลแบบองค์รวม/สอน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา การประสานงานในทีมสุขภาพ การดูแลโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การจัดการผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ และการส่งต่อผู้ใช้บริการ และ/หรือ การรักษาเบื้องต้น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

1.2 แขนง/กลุ่มเด็กสุขภาพดีและกลุ่มเสี่ยง ฝึกปฏิบัติที่หน่วยผู้ป่วยนอกเด็ก คลินิกสุขภาพเด็กดี สถานดูแลเด็กกลางวัน/ศูนย์พัฒนาการ และ/หรือหน่วยอนามัยโรงเรียน เน้นการประเมินภาวะสุขภาพ การใช้เหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิก การตัดสินใจเชิงจริยธรรม การรักษาเบื้องต้น การดูแล/สอน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา การจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยง การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การสร้างเสริมสุขภาพ การประสานงานในทีมสุขภาพ การดูแลแบบองค์รวมโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การจัดการผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ และการส่งต่อผู้ใช้บริการ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

1.3 แขนง/กลุ่มเด็กป่วยเรื้อรัง ฝึกปฏิบัติที่หอผู้ป่วยเด็กทั่วไป/โรคเรื้อรัง หน่วยประสานงานระหว่างบ้านและโรงพยาบาล หน่วยผู้ป่วยนอกเด็ก และ/หรือการพยาบาลที่บ้าน เน้นการประเมินภาวะสุขภาพ การใช้เหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิก การตัดสินใจเชิงจริยธรรม การจัดและการแก้ไขปัญหาสุขภาพ การจัดการอาการ การจัดการผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ การดูแล/สอน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา การประสานงานในทีมสุขภาพ การดูแลเด็กแบบองค์รวมโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต และการส่งต่อผู้ใช้บริการ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

1.4 กลุ่มเด็กป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน ฝึกปฏิบัติที่หอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และหอผู้ป่วยเด็กทั่วไป/ป่วยเฉียบพลันบ้าน เน้นการประเมินภาวะสุขภาพ การเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลง การใช้เหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิก การตัดสินใจเชิงจริยธรรม การใช้เทคโนโลยีในการบำบัดรักษาดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพ การจัดการอาการ การจัดการผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ การช่วยฟื้นคืนชีพ การสอน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา การประสานงานในทีมสุขภาพ การดูแลเด็กแบบองค์รวมโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต และการส่งต่อผู้ใช้บริการ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

2. การประชุมปรึกษาทางคลินิก (Clinical conference) ร่วมกับทีมการพยาบาล อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์

3. การร่วมการประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

4. นำเสนอการศึกษาผู้ป่วยรายกรณี (Case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

6. การนำเสนอบทความวิชาการ/ทบทวนวรรณกรรม 1 ฉบับ

7. การนำเสนอนวัตกรรมหรือระบบการดูแลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการบริการสุขภาพ เช่น คลินิกผู้สูงอายุ คลินิกความทรงจำ คลินิกช่วยเหลือและฝึกอบรมญาติผู้ดูแล เป็นต้น

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และ/หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ 1

9. การสอบโครงร่างโครงการวิจัย

ปีที่ 3: ฝึกอบรมบูรณาการปฏิบัติพยาบาลขั้นสูงและวิจัยในสาขาการพยาบาลเด็ก (Integrated Advance Practice and Research Fellowship in Pediatric Nursing)

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ด้วยการบูรณาการฝึกปฏิบัติโดยฝึกปฏิบัติไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 30 รายร่วมกับการวิจัย จึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. ปฏิบัติงานในคลินิก เน้นรับผิดชอบกลุ่มเด็กตามแขนง/กลุ่มที่เลือกสรร โดยใช้ทักษะการพยาบาลขั้นสูงในการนำนวตกรรมหรือระบบการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการกลุ่มเป้าหมาย ไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของบริการด้วยกระบวนการวิจัยทางคลินิก และการสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงาน

2. การประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

3. การนำเสนอผู้ป่วยรายกรณี (Case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

4. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (Journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. การทำโครงการวิจัยทางคลินิก เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการโดยใช้ผลการวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือ การศึกษาการนำนวัตกรรม/ระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรรจำนวน 1 เรื่อง โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการดังนี้

5.1 การประชุมทีมผู้มีส่วนร่วมในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยในโครงการวิจัยอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือนเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ

5.2 การนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของโครงการวิจัยในกลุ่มผู้เข้าฝึกอบรมและอาจารย์ 1 ครั้ง/เดือน

5.3 การเสนอผลการวิจัยในหน่วยงาน

5.4 นำเสนอผลการวิจัยในที่ประชุมทางวิชาการ ได้แก่ การประชุมวิชาการของวิทยาลัยฯ หรือการประชุมในระดับชาติหรือนานาชาติ

5.5 ตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

6. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และ/หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ 1 และปีที่ 2 และ

7. การสอบประมวลความรู้และทักษะเพื่อรับวุฒิบัตรฯ