หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

 
รายละเอียดหลักสูตร
 

หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร
สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

 
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ภาษาอังกฤษ Board Certified Training Program in Adult and Gerontological Nursing
ชื่อวุฒิบัตร
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ชื่อย่อ วพย. การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม Diplomate, Thai Board of Advanced Practice in Adult and Gerontological Nursing
ชื่อย่อ Dip. APAGN

ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันหลัก ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล

ปรัชญาของหลักสูตร

การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้มีความรู้ความชำนาญขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มีความจำเป็นต้องดำเนินการฝึกอบรมทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในประชากรกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพของประเทศ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและมีความพิการ ผู้ป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ประสบภาวะฉุกเฉินการบาดเจ็บและสาธารณภัย ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ครอบคลุมการบำบัดรักษาแบบองค์รวม การฟื้นฟูสภาพ และการพัฒนาศักยภาพในการจัดการตนเองอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ในเวลาที่เหมาะสม จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีของการบริการพยาบาล ตลอดจนของระบบสุขภาพ

คำนิยาม

การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเป็นสาขาวิชาเฉพาะทางการพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน วินิจฉัย การบำบัด ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อน การส่งเสริมศักยภาพในการดูแลและจัดการตนเองของผู้ป่วยและครอบครัว การพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการระบบบริการในผู้ป่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อไปนี้ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและมีความพิการ ผู้ป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ประสบภาวะฉุกเฉินการบาดเจ็บและสาธารณภัย โดยเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ทางการแพทย์ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล และความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นคนซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการปฏิบัติและเกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อตัวผู้ป่วยครอบครัว องค์กร และระบบบริการสุขภาพของประเทศ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

พยาบาลที่จบหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จะมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านพยาบาลศาสตร์ ความรู้ทางการแพทย์ การสาธารณสุข แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และสามารถนำมาประยุกต์ในการพยาบาลผู้ป่วยแบบองค์รวมในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เชี่ยวชาญต่อไปนี้ คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้มีความพิการ ผู้ป่วยภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน ผู้บาดเจ็บและประสบสาธารณภัย

2. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายและระบบสุขภาพ การเงินการคลังของระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการในกลุ่มที่เชี่ยวชาญ และสามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบบริการได้อย่างเหมาะสม

3. มีความสามารถเป็นผู้นำในองค์กรและระบบ สามารถใช้ระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิตอล ในการปรับปรุงคุณภาพการดูแล ริเริ่มโครงการต่างๆ จัดการกับความเสี่ยงและภาวะคุกคามต่อสุขภาพของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และประเมินผลลัพธ์ของการบริการสุขภาพได้

4. มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อการนำมาใช้ในระบบการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการในกลุ่มที่เชี่ยวชาญได้อย่างเหมาะสม

5. มีความสามารถในการปฏิบัติการดูแลโดยตรง (Direct care) เป็นผู้นำทางทางคลินิก และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สุขภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Collaboration) ในการจัดการดูแลแบบองค์รวมในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนในกลุ่มที่เชี่ยวชาญเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์การดูแลได้อย่างมีคุณภาพ

6. มีความสามารถในการสอน ชี้แนะกำกับ เป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติและให้การปรึกษาแก่ผู้ใช้บริการ/ครอบครัว นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ในทีมสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

7. มีความสามารถเชิงวิชาการ คิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และการวิจัยรวมถึงสามารถนำเสนอรายงานทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านสิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการตลอดจนสื่อต่างๆ

8. มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวแทนผู้ใช้บริการเพื่อให้เกิดนโยบายทางสุขภาพที่มีความยุติธรรม ความเท่าเทียม สามารถชี้นำความถูกต้องและสื่อความคิดที่ดีงามด้านสุขภาพให้กับสังคม มีความไวเชิงวัฒนธรรม

9. เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ ศึกษาค้นคว้า สามารถวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม

คุณสมบัติผู้เข้าฝึกอบรม

1. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทพยาบาลศาสตร์สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่หรือการพยาบาลผู้สูงอายุ หรือการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จากหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง

2. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่งและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

3. มีหนังสือจากสถาบันต้นสังกัดอนุมัติให้เข้าฝึกอบรม

4. มีคุณสมบัติอื่นตามที่วิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยกำหนด

วิธีการคัดเลือก

ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

เกณฑ์การสำเร็จการฝึกอบรม

1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีเวลาฝึกอบรมตามข้อกำหนดของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย

2. ศึกษารายวิชาและฝึกปฏิบัติครบถ้วนตามโครงสร้างของหลักสูตรและผ่านเกณฑ์การประเมินผลทุกรายวิชา

3. ส่งงานวิจัยต้นฉบับและตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถเขียนเป็นบทความทางวิชาการลงในวารสารเหล่านั้นได้โดยเป็นผู้นิพนธ์ชื่อแรก (first author) และอาจมีอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยเป็นผู้นิพนธ์หลัก (corresponding author)

การสิ้นสุดสภาพ

1. ได้รับอนุมัติจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของสภาการพยาบาลให้ลาออก

2. สภาการพยาบาลให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

3. พ้นสภาพสมาชิกสภาการพยาบาล

4. ถูกให้ออกเนื่องจากการกระทำผิดอย่างร้ายแรงซึ่งสถาบันการฝึกอบรมแต่ละสถาบันเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สถาบันฝึกอบรมพิจารณาทบทวนได้

5. ตาย

การฝึกอบรม

ระบบการฝึกอบรม

เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

ระยะเวลาการฝึกอบรม

- การฝึกอบรม ให้เป็นไปตามระเบียบของวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้าฝึกอบรมเต็มเวลาในสถาบันหลัก สถาบันร่วมผลิต หรือสถาบันแหล่งฝึก อย่างน้อย 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี

- กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาฝึกอบรมเกิน 5 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถาบันหลัก และผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ

การประเมินผู้เข้าฝึกอบรม

การประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมสถาบันหลักเป็นผู้กำหนด

ภาคทฤษฎี ประเมินโดยการสอบข้อเขียน การสัมมนา การทำรายงาน การนำเสนอผลงานวิชาการและวิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสม

ภาคปฏิบัติ ประเมินปริมาณงานขั้นต่ำ คุณภาพของงาน การสอบรายกรณีศึกษา และการสอบปากเปล่า ทั้งนี้ ปริมาณงานขั้นต่ำในภาคปฏิบัติของแต่ละแขนงเฉพาะทางกำหนดไว้ดังนี้

ปีที่ 1 ปฏิบัติการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนเป็นรายบุคคล (individual case management) จำนวน 50-60 ราย

ปีที่ 2 ปฏิบัติการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนเป็นรายบุคคล จำนวน 50-60 ราย ร่วมกับการจัดการดูแลกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนคล้ายกัน (Common complexity of the problems) อย่างน้อย 2 กลุ่มหรือ 2 ประเด็น

ปีที่ 3 ปฏิบัติการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนเป็นรายบุคคล/รายกลุ่มจำนวน 50-60 ราย ร่วมกับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการระบบบริการทางการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เชี่ยวชาญ อย่างน้อย 1 โครงการ

การขอรับวุฒิบัตรฯ

ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เสนอต่อสภาการพยาบาลเพื่อขออนุมัติ “วุฒิบัตร” แสดงความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลชั้นหนึ่งและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ที่เป็นปัจจุบัน

2. มีหนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จากสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

3. มีใบรับรองผลการปฏิบัติงานและเสนอชื่อเข้าสอบจากผู้รับผิดชอบหลักสูตรการฝึกอบรมฯ จากสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

4. มีรายงานประสบการณ์การปฏิบัติการพยาบาลรวมตลอดหลักสูตรตามแบบรายงานซึ่งคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ได้กำหนดไว้พร้อมคำรับรองของผู้สมัครสอบและผู้รับผิดชอบการฝึกปฏิบัติ

5. มีรายงานการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการโดยละเอียดจำนวน 5 กรณีตามแบบรายงานการดูแลผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ

6. มีงานวิจัยต้นฉบับและตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

7. ผ่านการสอบเพื่อประเมินความรู้ทักษะและเจตคติด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อันประกอบด้วย การสอบข้อเขียน และการสอบปากเปล่าตามเนื้อหาหลักสูตรซึ่งกำหนดความรู้ความสามารถทางวิชาชีพและทักษะการพยาบาลเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

หลักสูตรการฝึกอบรม

โครงสร้างหลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม 3 ปี รวม 92 หน่วยกิต

- ภาคทฤษฎี โดยการบรรยาย นำเสนอทางวิชาการ สัมมนาวิชาการ วารสารสโมสร การประชุมวิชาการ ใช้เวลารวมกัน ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต หรือ 270 ชั่วโมง ประกอบด้วย

1. กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต

2. กลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต

3. กลุ่มวิชาเลือกการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต

- ภาคปฏิบัติ 50 หน่วยกิต ต้องมีระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติงานในสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง (ฝึก 60 ชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วยกิต)

- การวิจัย เทียบได้ 24 หน่วยกิต

วิชาของการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตร

ภาคทฤษฎี มี 3 กลุ่มวิชา รวมกันไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต

- กลุ่มวิชาพื้นฐานการพยาบาลขั้นสูง ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ประกอบด้วย

1. ภาวะผู้นำและการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในระบบการดูแลสุขภาพที่มีความซับซ้อน 3(2-2-5)

2. การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ 2(1-2-3)

3. ระบบสุขภาพ นโยบายสุขภาพระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิตอลในการดูแลสุขภาพ 2(1-2-3)

4. การวัดและจัดการผลลัพธ์ในระบบบริการสุขภาพ 2(2-0-4)

- กลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต

1. ประเด็นร่วมสมัยในการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 3(3-0-6)

- กลุ่มวิชาเลือกการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต สามารถเลือกได้ 1 กลุ่มวิชาจาก 4 กลุ่มวิชาเลือก ได้แก่

กลุ่มโรคเรื้อรัง

1. การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้มีความพิการ 1 3(3-0-6)

2. การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้มีความพิการ 2 3(3-0-6)

กลุ่มโรคมะเร็ง

1. วิทยาการก้าวหน้าด้านโรคมะเร็ง การรักษาและการพยาบาล 3(3-0-6)

2. การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง 3(3-0-6)

กลุ่มภาวะวิกฤตและเฉียบพลัน

1. การพยาบาลขั้นสูงในภาวะวิกฤต 1 3(3-0-6)

2. การพยาบาลขั้นสูงในภาวะวิกฤต 2 3(3-0-6)

กลุ่มภาวะฉุกเฉินการบาดเจ็บและสาธารณภัย

1. การพยาบาลขั้นสูงในผู้ป่วยฉุกเฉิน 2(2-0-4)

2. การพยาบาลขั้นสูงในผู้บาดเจ็บ 2(2-0-4)

3. การพยาบาลสาธารณภัย 2(2-0-4)

- ภาคปฏิบัติ 50 หน่วยกิต ต้องปฏิบัติงานในกลุ่มที่เลือกไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง

- การวิจัย 24 หน่วยกิต เป็นการทำงานศึกษาวิจัยต้นฉบับอย่างน้อย 1 ฉบับ

รายละเอียดการฝึกอบรม

ใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 ปี แบ่งรายละเอียดการฝึกอบรมรายปี เป็นการฝึกอบรมภาคทฤษฎี 18 หน่วยกิต ภาคปฏิบัติ 50 หน่วยกิต (3,000 ชั่วโมง) และการวิจัย 24 หน่วยกิต จัดการฝึกอบรม ดังนี้

ปีที่ 1: ฝึกอบรมสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง (Residency Training in Advanced Adult and Gerontology Nursing)

ในระหว่างการฝึกอบรมปีที่ 1 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนเป็นรายบุคคล และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การเรียนการสอนในรายวิชาทฤษฎีและทำกิจกรรมตามที่กำหนดในรายวิชาต่าง ๆ

2. การฝึกปฏิบัติงานในคลินิก เน้นรับผิดชอบผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการโดยให้การพยาบาลโดยตรงเป็นรายบุคคล (direct care) และการพัฒนาทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่จำเป็นในสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ตามเกณฑ์ปริมาณงานขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มผู้ป่วย

3. การประชุมทางวิชาการในคลินิก (clinical conference) ร่วมกับทีมการพยาบาล อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์

4. การร่วมประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. นำเสนอการศึกษาผู้ป่วยรายกรณี (case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

6. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

7. การนำเสนอบทความฟื้นฟูวิชาการ/ทบทวนวรรณกรรม 1 ฉบับ

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล

9. การสอบวัดความรู้และทักษะประจำปีที่ 1

ปีที่ 2: : ฝึกอบรมสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูงเฉพาะกลุ่ม (Residency Training in Specialized Group of Advanced Adult and Gerontology Nursing)

ในระหว่างการฝึกอบรมปีที่ 2 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนในกลุ่มที่เลือก พัฒนาระบบ นวัตกรรม จัดการและประเมินผลลัพธ์ และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1. การฝึกปฏิบัติงานในคลินิก เน้นรับผิดชอบผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการโดยการพยาบาลรายกลุ่มที่เลือกสรร มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่ลึกซึ้งกับกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรร การออกแบบนวัตกรรมหรือระบบการดูแลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ทางการพยาบาล

2. การประชุมทางวิชาการในคลินิก (clinical conference) ร่วมกับทีมการพยาบาล อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์

3. การร่วมการประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 2 ครั้ง/เดือน

4. การนำเสนอการศึกษาผู้ป่วยรายกรณี (case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. การนำกิจกรรมวารสารสโมสร (journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

6. การนำเสนอบทความวิชาการ/ทบทวนวรรณกรรม 1 ฉบับ

7. การนำเสนอนวัตกรรมหรือระบบการดูแลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการบริการ อย่างน้อย 1 ครั้ง ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการวิจัยที่จะดำเนินการต่อในชั้นปีที่ 3 เพื่อสำเร็จหลักสูตร

8. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และ/หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ 1

9. การสอบโครงร่างโครงการวิจัย

ปีที่ 3: ฝึกอบรมบูรณาการปฏิบัติพยาบาลขั้นสูงและวิจัยในสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ(Integrated Advance Practice and Research Fellowship in Adult and Gerontology Nursing)

ในระหว่างการฝึกอบรมปีที่ 3 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องสามารถเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลด้วยกระบวนการวิจัยทางคลินิก และต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1. การปฏิบัติงานในคลินิก โดยใช้ทักษะการพยาบาลขั้นสูงในการนำนวัตกรรมหรือระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการที่เลือกสรรไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของการบริการ ด้วยกระบวนการวิจัยทางคลินิก และการมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงาน

2. การประชุมปรึกษากับทีมสหสาขาวิชาชีพ (interdisciplinary team conference) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

3. การนำเสนอผู้ป่วยรายกรณี (case study) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

4. การนำ/ร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (journal club) อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

5. การดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการโดยใช้ผลการวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือ การศึกษาการนำนวัตกรรม/ระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการผู้ใหญ่ที่เลือกสรรจำนวน 1 เรื่อง โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการดังนี้

5.1 การประชุมทีมผู้มีส่วนร่วมในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยในโครงการวิจัยอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ

5.2 การนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของโครงการวิจัยในกลุ่มผู้เข้าฝึกอบรมและอาจารย์ 1 ครั้ง/เดือน

5.3 การเสนอผลการวิจัยในหน่วยงาน

5.4 นำเสนอผลการวิจัยในที่ประชุมทางวิชาการ ได้แก่ การประชุมวิชาการของวิทยาลัยฯ หรือ การประชุมในระดับชาติหรือนานาชาติและ

5.5 ตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

6. การสอนและหรือดูแลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาพยาบาล และหรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรฯ ปีที่ 1 และปีที่ 2 และ

7. การสอบประมวลความรู้และทักษะเพื่อรับวุฒิบัตรฯ