หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต(สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)

 
 
รายละเอียดหลักสูตร
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
(หลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ)
หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๑

 
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ภาษาอังกฤษ Master of Nursing Science Program in Adult and Gerontological Nursing
ชือปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
ชื่อย่อ พย.ม. (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม Master of Nursing Science (Adult and Gerontological Nursing)
ชื่อย่อ M.N.S. (Adult and Gerontological Nursing)

ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ปรัชญาของหลักสูตร

      การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน วินิจฉัย การบำบัด ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ การสร้างสุขภาวะ ป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อน ส่งเสริมศักยภาพในการดูแลและจัดการตนเองของผู้ป่วยและครอบครัวทั้งรายบุคคลและกลุ่ม การสร้างรูปแบบ นวัตกรรม แนวปฏิบัติ โครงการเพื่อปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยทั้งใน ภาวะเฉียบพลัน วิกฤต เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิต โดยเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ทั้งศาสตร์การพยาบาลแบบองค์รวม ศาสตร์การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พยาธิสรีรและเภสัชวิทยา แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี และหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งจริยธรรม จรรยาบรรณ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล และความเข้าใจในประสบการณ์และความเป็นมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการปฏิบัติและเกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว องค์กร และระบบบริการสุขภาพ

      การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต สามารถติดตามความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่เสมอ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีความคิดสร้างสรรค์ มีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความรู้ ความสามารถ ดังนี้

๑. สร้างมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม ในการทำวิจัยและงานวิชาการ และมีจรรยาบรรณเชิงวิชาชีพ

๒. สร้างมหาบัณฑิตที่มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของศาสตร์ทางการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

๓. สร้างมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้ ศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหลักฐานเชิงประจักษ์ และทักษะทางคลินิก เพื่อใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล การพัฒนาโครงการดูแล และการวิจัยในผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยทั้งใน ภาวะเฉียบพลัน วิกฤต เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิต โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

๔. พัฒนามหาบัณฑิตให้มีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน ผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและพัฒนาตนเองให้มีความเป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีมร่วมกับทีมการพยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพ ในกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้ และมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

๕. สร้างมหาบัณฑิตที่สามารถใช้ข้อมูล สถิติ ดิจิทัลเทคโนโลยีในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการข้อมูลทางการวิจัยและการพยาบาล

๖. พัฒนามหาบัณฑิตให้มีทักษะการปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทั้งเป็นรายบุคคลและกลุ่มที่เลือกสรร ทั้งในระยะเฉียบพลัน วิกฤต และเรื้อรัง การดูแลระยะยาว และการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Program Learning Outcomes: PLOs)

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว มหาบัณฑิตจะมีความรู้ ความสามารถ ดังนี้

๑. สร้างงานวิจัยในประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในภาวะเจ็บป่วยวิกฤต เฉียบพลัน เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิตโดยคำนึงถึงจริยธรรม และความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจปัญหาทางสุขภาพอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล

๒. สร้างสรรค์โครงการดูแลกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่เลือกสรรและนำโครงการไปใช้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ผลลัพธ์ทางการพยาบาล และผลลัพธ์ทางคลินิก

๓. ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ รวมถึงครอบครัว ในทุกระยะของการเจ็บป่วย โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล วิทยาศาสตร์สุขภาพที่ทันสมัย ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ สังคมวัฒนธรรม ประเด็นทางจริยธรรม การให้คุณค่าของผู้ป่วย และการให้เหตุผลทางคลินิก

๔. แสดงออกถึงภาวะผู้นำทางการพยาบาล โดยการให้คำปรึกษา การกำกับ การเสริมสร้างแรงจูงใจ และการประสานความร่วมมือกับทีมการพยาบาลในคลินิก ทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในกลุ่มที่เลือกสรร

๕. แสดงออกถึงการมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และครอบครัว

๖. ประยุกต์ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อส่งเสริมผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการ นำเสนอผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

๑. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่สภาการพยาบาล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้การรับรอง

๒. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐

๓. มีใบประกอบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้น ๑ หรือ การพยาบาลชั้น ๑

๔. มีประสบการณ์การทำงานในด้านการพยาบาล การศึกษาพยาบาล และ/หรือการบริหารการพยาบาลหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างน้อย ๑ ปี โดยนับถึงวันยื่นใบสมัคร

๕. มีผลการสอบภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนด

๖. กรณีผู้เข้าศึกษาไม่มีสัญชาติไทย ผู้เข้าศึกษาต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ที่ไม่หมดอายุในประเทศที่ตนสำเร็จการศึกษา กรณีไม่มีระบบการให้ใบอนุญาตฯ ต้องมีใบรับรองการขึ้นทะเบียนในประเทศของตน หรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพพยาบาล (Nursing Regulatory Authority) ในประเทศของผู้สมัคร

๗. ผู้ที่มีคุณสมบัตินอกเหนือจากเกณฑ์ข้างต้น อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษา ตามดุลยพินิจของประธานหลักสูตรและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

จัดการเรียนการสอนในวัน-เวลาราชการ
หลักสูตรภาคปกติ แผน ก: จัดการเรียนการสอนในวัน-เวลาราชการ
หลักสูตรภาคพิเศษ แผน ก: จัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ (วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

โครงสร้างหลักสูตร

      จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๐ หลักสูตรปริญญาโท แผน ก แบบ ก ๒ ดังนี้

(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๒ หน่วยกิต
(๓) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
(๔) วิทยานิพนธ์ ๑๒ หน่วยกิต
รวมไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต

 

รายวิชาในหลักสูตร

(๑) หมวดวิชาแกน ๙ หน่วยกิต หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๖๐๑ การวิจัยทางการพยาบาล ๓ (๓-๐-๖)
RANS 601 Nursing Research  
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓)
RANS 603 Statistics  
รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ๒(๒-๐-๔)
RANS 662 Theoretical Foundation in Advanced Nursing Practice  
รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔)
RANS 663 Health Policy and Nursing Leadership  
(๒) หมวดวิชาบังคับ ๑๒ หน่วยกิต
รมพญ ๕๒๔ บูรณาการวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวการแพทย์สำหรับการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
RAAN 524 Integrated Health and Biomedical Sciences for Nursing  
รมพญ ๕๒๑ การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๓ (๓-๐-๖)
RAAN 521 Advanced Nursing in Adult and Elderly  
รมพญ ๕๒๒ ปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๑ ๓(๐-๙-๓)
RAAN 522 Advanced Nursing Practice in Adult and Elderly I  
รมพญ ๕๒๓ ปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๒ ๓(๐-๙-๓)
RAAN 523 Advanced Nursing Practice in Adult and Elderly II  
(๓) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต
รมพย ๕๔๓ แนวคิดและการปฏิบัติทางการพยาบาลขั้นสูง ๓ (๑-๖-๔)
RANS 543 Concept and Practice in Advanced Nursing  
รมพย ๕๔๔ การบำบัดเสริมและการบำบัดทางเลือกสำหรับการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
RANS 544 Complementary and Alternative Therapy for Nursing  
รมพย ๕๔๕ การจัดการทางการพยาบาล ๓ (๒-๓-๕)
RANS 545 Nursing Management  
รมพย ๕๕๔ ประเด็นร่วมสมัยของสุขภาพผู้สูงอายุ ๓(๓-๐-๖)
RANS 554 Contemporary Issues on Aging Health  
รมพย ๕๔๙ เครื่องมือสำหรับการวิจัยและการวัดผลลัพธ์ ๓(๒-๓-๕)
RANS 549 Instruments for Research and Outcome Measures  
รมพย ๕๕๒ การดูแลแบบประคับประคอง ๓(๒-๓-๕)
RANS 552 Palliative Care  
รมพย ๕๕๓ การพยาบาลสาธารณภัย ๓(๒-๓-๕)
RANS 553 Disaster Nursing  
รมพย ๕๖๔ การสอนในคลินิก ๓(๒-๓-๕)
RANS 564 Teaching in Clinical Setting  
รมพย ๖๘๘ เทคโนโลยีและการจัดการสารสนเทศทางการพยาบาล ๓(๒-๓-๕)
RANS 688 Technology and Management of Nursing Information  

 

     นอกจากรายวิชาในหมวดวิชาเลือกข้างต้นแล้ว นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่นๆ ที่เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตามความสนใจ และตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตร หรืออาจารย์ที่ปรึกษาเห็นสมควร

(๔) วิทยานิพนธ์ หน่วยกิต (บรรยาย-ปฏิบัติ/ปฏิบัติในคลินิก-ศึกษาด้วยตนเอง)
รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๑๒(๐-๓๖-๐)
RANS 698 Thesis  

 

ชั้นปี ภาคการศึกษาที่ ๑ ภาคการศึกษาที่ ๒
รมพย ๖๐๓ สถิติ ๒(๑-๒-๓) รมพย ๖๐๑ วิจัยทางการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)
  รมพย ๖๖๒ มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ๒(๒-๐-๔) รมพญ ๕๒๒ ปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๑ ๓(๐-๙-๓)
  รมพย ๖๖๓ นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล ๒(๒-๐-๔) รมพญ ๕๒๓ ปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๒ ๓(๐-๙-๓)
  รมพญ ๕๒๔ บูรณาการวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวการแพทย์สำหรับการพยาบาล ๓(๓-๐-๖)      
  รมพญ ๕๒๑ การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุขั้นสูง ๓(๓-๐-๖)      
  รวม ๑๒ หน่วยกิต รวม ๙ หน่วยกิต
วิชาเลือก ๓ หน่วยกิต รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)
  รมพย ๖๙๘ วิทยานิพนธ์ ๖(๐-๑๘-๐)      
  รวม ๙ หน่วยกิต รวม ๖ หน่วยกิต
 

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

๑.ใช้เวลาในการศึกษาตามแผนการศึกษา

๒. ต้องศึกษารายวิชาต่างๆ ตามโครงสร้างของหลักสูตร คือ ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า ๒๔ หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ ๑๒ หน่วยกิต รวมจำนวนหน่วยกิตที่ต้องศึกษาตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต

๓. ต้องได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐

๔. ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

๕. ต้องผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด

๖. ต้องเสนอวิทยานิพนธ์ และสอบวิทยานิพนธ์ผ่านด้วยวิธีการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย โดยคณะกรรมการที่บัณฑิตวิทยาลัยแต่งตั้ง และการสอบเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

๗. ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการเผยแพร่หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceedings) ตามประกาศบัณฑิตวิทยาลัยปี พ.ศ.๒๕๕๖ หรือฉบับปรับปรุงล่าสุด

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

๑. นักวิชาการ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญ สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในสถานศึกษา

๒. พยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

๓. อาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ