ผลลัพท์ของการฝึกอบรม สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ผลลัพธ์ของการฝึกอบรมเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน
สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น จะต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้

1.การบริบาลผู้ป่วย (Patient Care) 
             1.1มีทักษะในการสัมภาษณ์ทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น การตรวจร่างกาย การตรวจสภาพจิต การใช้แบบประเมินที่สำคัญ เพื่อให้การวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแบบองค์รวม รวมทั้งประเมินครอบครัว
             1.2 สามารถจัดการและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยจิตเวชเด็ก วัยรุ่นและครอบครัวแบบองค์รวม โดยเข้าใจจิตพยาธิสภาพและคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล

              1.3 ประยุกต์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะใหม่ได้อย่างเหมาะสม ในการบริบาลผู้ป่วย                             

   
2. ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรมทางจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (Medical knowledge  and  procedural skills) 
               2.1 มีความรู้และทักษะพื้นฐานด้านสุขภาพจิต สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีในปัจจุบันและความรู้ด้านจิตวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์และสังคม ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
               2.2 มีความรู้และทักษะ ในการประเมิน วิเคราะห์ วินิจฉัย บำบัดรักษารวมทั้งป้องกันโรคและภาวะผิดปกติทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และบันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ

3.ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
               3.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
               3.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่แพทย์ นักศึกษาแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ 
               3.3 สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีความเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
               3.4 สื่อสารให้ข้อมูลแก่คนในสังคม ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ  
               3.5 มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
               3.6 สามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อสื่อสารทางสังคม เผยแพร่ความรู้และผลงานทางวิชาการและ สาธารณะ

4. การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice –based learning & improvement)

               4.1 สืบค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ                      
               4.2 ตรวจสอบข้อมูลวิชาการอย่างมีวิจารณาญาณและดำเนินการวิจัยทางจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
               4.3 นำข้อมูลวิชาการมาประยุกต์ใช้ตามหลักฐานทางการแพทย์เชิงประจักษ์                        
               4.4 เรียนรู้ พัฒนา และเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นได้ด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติ สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคลากรสหวิชาชีพ

5.วิชาชีพนิยม (Professionalism)

               5.1 ประพฤติตนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล ครอบครัว ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
               5.2 สำรวจจิตใจ พัฒนาตัวเอง ให้เกิดสุขภาวะที่ดี สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมตามบริบท
                5.3 จัดการแสวงหาความรู้ พัฒนาไปสู่การเป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuous  professional development) เพื่อธำรงและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นให้มีมาตรฐาน ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย ผู้ดูแล ครอบครัว และสังคม
               5.4 มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ทำงานร่วมกันเป็นทีมและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
               5.5 ทำเวชปฏิบัติโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของ ผู้ป่วยและสังคม

6. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
               6.1 ทำเวชปฏิบัติสอดคล้องกับระบบสุขภาพ ระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย ระบบยุติธรรมบริบททางสังคม และวัฒนธรรมของประเทศ
               6.2 ทำเวชปฏิบัติบนพื้นฐานสิทธิผู้ป่วย และความเสมอภาคทางสังคม
               6.3 ทำเวชปฏิบัติโดยตระหนักในการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการทางสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ