การรับสมัคร / ทำความรู้จักแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ (adult psychiatry)

   

  รายละเอียดการรับสมัครแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์  (รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณา คลิ๊ก...! ที่นี่)  
.
.

รู้จักแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ (adult psychiatry)

ความแตกต่างจากแพทย์สาขาอื่น

                จิตแพทย์คือ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่เข้ามารับการรักษานั้นมีความหลากหลายมาก บางคนอาจจะมีอาการทางจิตที่ผิดปกติชัดเจน เช่น อาการหูแว่ว หวาดระแวง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าท้อแท้ จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต ขณะที่บางคน อาจมีภาวะเครียด นอนไม่หลับ หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตบางอย่าง

ดังนั้นการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและการตรวจสภาพจิต (Mental Status Examination) จึงเป็นกระบวนการประเมินและวินิจฉัยอาการที่สำคัญที่สุด แต่อีกด้านหนึ่ง อาการผิดปกติทางจิตใจที่ปรากฏ ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกายที่ยังตรวจไม่พบได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับโรคทางระบบต่างๆโดยเฉพาะระบบประสาท จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน

ในส่วนของกระบวนการรักษา ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆคือ การรักษาด้วยยา ซึ่งมีหลายชนิด และยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง และการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเป็นจิตแพทย์ คือ กระบวนการพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงตัวตน ปัญหาและที่มา ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหนทางที่ผู้ป่วยต้องการ

 

การทำงานในวิชาชีพจิตแพทย์

            จิตแพทย์ยังเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากในประเทศไทย และมีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วย เมื่อจบการฝึกอบรม จิตแพทย์บางส่วนจะไปทำงานที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหน้าที่หลักคือตรวจผู้ป่วยที่ OPD ดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยที่ส่งปรึกษาจากแผนกต่างๆ  และพัฒนางานจิตเวชชุมชน บางส่วนจะไปทำงานที่โรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตที่มีอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และบางส่วนอาจจะทำงานในโรงเรียนแพทย์เพื่อเป็นอาจารย์

คุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นจิตแพทย์

                ผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นจิตแพทย์ คือผู้ที่มีความสนใจ และอยากจะเข้าใจในเรื่องราวชีวิตของผู้อื่น มีความเห็นใจ และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือรำคาญที่จะต้องรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น มีความสนใจในเรื่องของจิตใจ ครอบครัว และสังคม

เมื่อเทียบกับแพทย์บางสาขา จิตแพทย์อาจจะไม่ได้มีชั่วโมงทำงานหรือการอยู่เวรที่หนักเทียบเท่า แต่ก็เป็นงานที่ต้องอาศัยสมาธิและพลังใจที่ต่อเนื่องอย่างมากในเวลาทำงาน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นงานที่เบาสบาย

 

ความแตกต่างของจิตเวชรามา

                จุดมุ่งหมายของหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านที่จิตเวชรามา คือการผลิตจิตแพทย์ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีทัศนคติที่ดีในการทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและสังคม นอกจากนั้นหลักสูตรที่นี่ยังให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาตนเองจากภายใน นั่นคือการทำความเข้าใจในตนเอง ถึงจุดเด่นและข้อจำกัดต่างๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน ให้เป็นคนที่มีเมตตาต่อตนเองและคนอื่นได้ เพราะในกระบวนการรักษาทางจิตใจนั้น เครื่องมือสำคัญที่จิตแพทย์ใช้ในการรักษา ก็คือตัวตนของเราเอง

 

เนื้อหาและกระบวนการฝึกอบรม

หลักสูตรระยะเวลา 3 ปี แพทย์ประจำบ้านจะได้รับมอบหมายผู้ป่วยให้ดูแลต่อเนื่องในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์ การปฏิบัติงานจะครอบคลุมทั้ง ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยรับปรึกษาจากสาขาอื่น จิตเวชสารเสพติด นิติจิตเวช และจิตเวชชุมชน เน้นกระบวนการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง และตั้งคำถาม ผ่านกิจกรรมวิชาการต่างๆ เช่น journal club, case conference, topic seminar และการทำงานวิจัย รวมถึงฝึกฝนทักษะการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การแก้ปัญหา และความเป็นผู้นำ

การประเมินผลและการสอบเพื่อวุฒิบัตร

                ในหลักสูตรจะมีการประเมินอย่างต่อเนื่องทุกชั้นปี ในด้านความรู้ ทักษะทางคลินิก และความเป็นมืออาชีพ ผ่านการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ผู้ป่วย และแบบประเมินการปฏิบัติงานจริง สำหรับการสอบเพื่อวุฒิบัตร แพทย์ประจำบ้านจะต้องส่งโครงงานวิจัยที่สมบูรณ์ และรายงานการทำจิตบำบัด เพื่อให้กรรมการพิจารณาอนุมัติส่งสอบ

ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านดังนี้
๑) การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)
ก. มีทักษะในการสัมภาษณ์ทางจิตเวช การตรวจร่างกายการตรวจสภาพจิต การใช้แบบประเมินที่สำคัญ และการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ข. วินิจฉัยบำบัดรักษาภาวะผิดปกติทางจิตเวชศาสตร์ที่พบโดยทั่วไปในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ค. บันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
ง. ป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพจิต

๒) ความรู้ ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน

(Medical Knowledge and Skills)

        ก.  มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์และสังคมที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานด้านจิตเวช

       ข.  มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพและเชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชศาสตร์

๓) การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (practice-based learning and improvement)

      ก.  วิพากษ์บทความ และดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้

      ข.  มีความรู้ในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณทางการแพทย์ และการแพทย์เชิงประจักษ์

       ค.  เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพได้ด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติ

๔) ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

     ก.  นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

     ข.  ถ่ายทอดความรู้และทักษะ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่แพทย์และ/หรือนักศึกษาแพทย์และ/หรือบุคลากรทางการแพทย์

     ค. สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

    ง.  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ

๕) ความรู้ความสามารถอาชีพ (Professionalism)
    
ก. มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน อย่างมีอิสระทางวิชาชีพ
   
ข. มีความสามารถในการสำรวจจิตใจ พัฒนาตัวเอง และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
   
ค. มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuous professional development)

    ง.  มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย

    จ.  คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

๖) การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)

ก. มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพ บริบททางสังคม และวัฒนธรรมของประเทศ
ข. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
. ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม(cost consciousness medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

ตัวอย่างความรู้สึกและความประทับใจของการเป็นแพทย์ประจำบ้าน ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์