หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (นักศึกษาแพทย์) (รายวิชาด้านจิตเวชศาสตร์)
วิชาจิตเวชศาสตร์มีจำนวน 3 หน่วยกิต เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เปิดสอนทั้งในภาคการศึกษาต้น และภาคการศึกษาปลาย โดยนักศึกษาหมุนเวียนมาศึกษาตลอดปี 4 ครั้งละประมาณ 15-20 คน
นักศึกษาจะเรียนรู้เกี่ยวกับ
โรค กลุ่มอาการ ภาวะทางจิตเวชศาสตร์ตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของแพทยสภา ฝึกทักษะการสัมภาษณ์ประวัติ การตรวจสภาพจิต การวินิจฉัยแยกโรค ปัญหาทางจิตเวชที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป การรักษาพยาบาลปัญหาฉุกเฉิน หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว การใช้ยาทางจิตเวชสำหรับแพทย์ทั่วไป การให้คำปรึกษาจิตบำบัดแบบประคับประคอง การสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
ลักษณะการเรียน
ประกอบด้วยการบรรยาย การอภิปรายในห้องเรียน การดูแลผู้ป่วยที่หอผู้ป่วย การฝึกสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก การออกหน่วยสุขภาพจิตโรงเรียน
- ตัวอย่างหัวข้อการอภิปรายและบรรยายในห้องเรียน เช่น
• อาการวิทยา การจำแนกโรคและความผิดปกติทางจิตเวชศาสตร์
• การสัมภาษณ์ทางจิตเวชและการตรวจสภาพจิต
• จิตเวชศาสตร์ฉุกเฉินและการฆ่าตัวตาย
• โรคจิตและโรคจากสาเหตุทางกาย
• ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
• ผู้ป่วยจิตเวชที่มาพบแพทย์ด้วยอาการทางกาย
• การใช้ยาทางจิตเวช
• หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว
• การให้คำปรึกษาและจิตบำบัดแบบประคับประคอง
• การส่งเสริมสุขภาพจิตและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
• การติดสารเสพติดและการใช้สารในทางที่ผิด
• สุขภาพจิตเวชเด็กวัยรุ่น
การประสานงานด้านการเรียนการสอนในภาควิชา
นักศึกษาที่มีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนสามารถ ติดต่อ
คุณสุรีย์ วัฒนาสุข ธุรการภาควิชา (โทร 02-201-1478 ต่อ 221)
เพื่อช่วยเหลือ และประสานงานด้านการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา
ถ้านักศึกษาต้องการคำปรึกษาปัญหาส่วนตัว
นักศึกษาสามารถติดต่อเองได้โดยตรงกับอาจารย์ประจำกลุ่มหรืออาจารย์ท่านอื่นที่นักศึกษาสะดวกจะพบ
สถานที่เรียน
1. สำนักงานภาควิชาจิตเวชศาสตร์ อาคาร 3 ชั้น 7
2. หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 9
3. หอผู้ป่วยในจิตเวช อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ชั้น 3
4. หน่วยงานที่ให้บริการทางจิตเวชภายนอก คณะแพทศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
การลาป่วย – ลากิจ
นักศึกษาทุกคนที่จะลาป่วย ลากิจ จะต้องมารับแบบฟอร์มที่ธุรการภาควิชาฯ เพื่อนำไปกรอกรายละเอียด และนำใบลานั้นไปเสนอให้อาจารย์ประจำกลุ่มเพื่อเซ็นอนุญาตทุกครั้งแล้วจึงนำมาส่งให้ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาภาควิชาฯ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการขอลาหยุดดังนี้
1. การลาป่วย
- จะต้องส่งใบลาในวันรุ่งขึ้น
- หากจำเป็นต้องลาติดต่อกัน 2 วัน จะต้องมีใบรับรองแพทย์แนบใบลามาด้วย
2. การลากิจ
- จะต้องส่งใบลาล่วงหน้า 1 วัน หรือรีบแจ้ง “คุณสุรีย์” เพื่อดำเนินการต่อ
3. การขาดชั่วโมงการเรียนในห้องเรียนและการปฏิบัติงาน
ในขณะปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย ถ้านักศึกษาขาดเรียนโดยไม่มีเหตุผลสมควร จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบลงกอง
รวมถึงไม่ผ่านการประเมินผลในด้านการปฏิบัติงาน
!!! รวมเวลาการลาป่วย–ลากิจ ต้องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียนในวันราชการ จึงจะมีสิทธิ์ในการสอบลงกอง !!!
แนวทางหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป