สร้างความตระหนักในการอยู่กับโควิด ด้วย Morning Check Covid-19

Print and Download => PDF file

ชื่อเรื่อง สร้างความตระหนักในการอยู่กับโควิด ด้วย Morning Check Covid-19

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

เวลา 09:00 น.

สถานที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

ผู้ถ่ายทอดความรู้ แพทยหญิงขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ

วัตถุประสงค์การเรียนรู้

1. สร้างความตระหนักในหมู่บุคลากรภาควิชาฯ เรื่องการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19

2. สำรวจสุขภาพบุคลากรก่อนเข้างานทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในภาควิชาฯ

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คำอธิบายขั้นตอน

1. Surveillance team จะทำการแจ้งเตือนบุคลากรของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวทุกท่าน ทำแบบสอบถาม Morning Check Covid-19 ตอนเช้าในวันทำการ

2. Surveillance team รวบรวมข้อมูล แล้วแจ้งผลให้บุคลากรทราบในช่วง 10.00 น. ของทุกวันทำการ และจะรวบรวมข้อมูลอีกครั้งในช่วง 16.00 น. พร้อมทั้งสรุปผลการสำรวจ ให้หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและหัวหน้างาน โดยตรง

3. รายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง ทางทีมจะทำการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด หากเข้าเกณฑ์ จะทำการซักประวัติโดยละเอียด

4. เก็บข้อมูลเชิงลึกและบันทึกรายชื่อบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

5. ติดตามอาการ และให้คำแนะนำ โดยทางทีมจะสอบถามอาการเป็นการส่วนตัว เพื่อประเมินอาการ ในทุกวัน จนกว่าจะเข้าเกณฑ์สิ้นสุด
การเฝ้าระวัง

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

  1. รายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง
  • สาย ก และแพทย์ประจำบ้านที่มีอาการทางเดินหายใจ หรือ รู้สึกมีไข้ หรืออุณหภูมิเกิน 37.5 °C
  • สาย ข ที่สัมผัสผู้ป่วย ที่มีอาการทางเดินหายใจ หรือ รู้สึกมีไข้ หรือ อุณหภูมิเกิน 37.5 °C
  • สาย ข และ ค ที่มีอาการทางเดินหายใจ และ รู้สึกมีไข้หรืออุณหภูมิเกิน 37.5 °C
  1. ข้อปฏิบัติขณะติดตามอาการ
  • ส่งเสริมให้บุคลากรไปตรวจคัดกรอง Covid-19
  • แนะนำให้ Work from home หรือลาป่วยช่วงที่มีอาการ
  • Surveillance team จะสอบถาม และประเมินอาการ ในทุกวัน
  • รายงานผลการติดตามอาการให้กับหัวหน้าภาควิชาฯ และ
    หัวหน้างานรับทราบ
  1. สิ้นสุดเกณฑ์การเฝ้าระวัง 3 กรณี
  • อาการหายสนิท
  • อาการเหมือนอาการทั่วไปของโรคประจำตัวของตนเอง เช่น ภูมิแพ้
  • เกิน 14 วัน หลังมีเหตุการณ์เสี่ยง

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่

     ทางทีมเฝ้าระวังได้นำแบบสอบถาม Morning Check Covid-19 กลับมาใช้อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ทางทีมเฝ้าระวังได้มีการแก้ไขรายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

รายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง

  1. บุคลากรที่มีอาการทางเดินหายใจ และ มีประวัติไปพื้นที่ที่มีการระบาดเป็น Cluster
  2. บุคลากรที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019

สรุปประเด็นสำคัญที่ได้รับ

     เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดหนักทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ทางภาควิชาฯจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้จัดทีมเฝ้าระวัง เพื่อสำรวจบุคลากรและประเมินสถานการณ์ในภาควิชาฯ แบบวันต่อวัน หากพบกลุ่มเสี่ยงทางทีมเฝ้าระวังจะดำเนินการตามเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างรวดเร็ว โดยเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจ ได้แก่ 1). แบบสอบถาม Morning Check Covid-19 2). แบบสอบถาม PUI Progress note เป็นต้น ซึ่งแบบสอบถามมีเนื้อหาที่ครอบคลุม ตามหลักเกณฑ์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ผลลัพธ์ที่ได้

  • จากการเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ 23 มี.ค. 2563 ถึง 2 ก.ค. 2563

พบว่า บุคลากรให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ สาย ก 48% สาย ข 26.5% สาย ค 21.8% และแพทย์ประจำบ้าน 21% ซึ่งจากการสำรวจพบรายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 2 ท่าน เป็นบุคลากร สาย ก ทางทีมเฝ้าระวังได้ให้เว้นระยะห่างและติดตามอาการ 14 วัน ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 19

  • จากการเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2563 ถึง 24 ก.พ. 2564

พบว่า บุคลากรให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ สาย ก 87% สาย ข 98% สาย ค 91% Resident/Fellow 57% Resident ปี 1 87% Resident ปี 2 98% และ Resident ปี 3 91% ซึ่งจากการสำรวจพบรายที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 2 ท่าน เป็นบุคลากร สาย ค ที่อยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนา 19 แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด ทางทีมเฝ้าระวังได้ให้เว้นระยะห่างและติดตามอาการ 14 วัน ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ดังนั้นจากการสำรวจสุขภาพบุคลากร ทำให้ภาควิชาฯ สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้/การพัฒนาและปรับปรุงงาน

     การสำรวจสุขภาพบุคลากร โดยใช้ Google form สร้างแบบสอบถาม Morning Check Covid-19 ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในภาควิชาฯ เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสาร online ที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ในอนาคตสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำแบบสำรวจต่าง ๆ หรือการรับสมัครเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่ภาควิชา ฯ จัดขึ้น เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบ

  1. แพทยหญิงขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ

เจ้าหน้าที่วิจัย

  1. นางสาวมณีนุช กาเซ็มตีมะ 2. นางสาวไพจิตร อินปัญญา