ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม แพทย์ผู้เข้าอบรมต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังต่อไปนี้
1. การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care according to functional ability)
1.1 การดูแลผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตนเอง (High functional ability)
1.2 การดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มมีความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆได้ลดลง (Decline functional ability)
1.3 การดูแลผู้สูงอายุในระยะถดถอยที่ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆเองได้และจำเป็นต้องมีผู้ดูแล (Significant loss)
1.4 ประเมินภาวะเครียดของผู้ดูแลโดยเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว (Informal caregiver) และให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการลดภาระหนักในการดูแลและลดความตึงเครียดในครอบครัว
1.5 ประเมิน ติดตาม และดูแลสมาชิกครอบครัวหรือผู้ดูแลรวมทั้งสามารถทำงานประสานกับวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังติดตาม
2. ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical knowledge and skills)
2.1 หลักการแพทย์พื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ (Principle care of older adults)
2.2 ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ (Common geriatric problems)
3. การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (Practice-based learning and improvement)
3.1 วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3.2 เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ
3.3 สามารถใช้สารสนเทศทางการแพทย์เพื่อพัฒนาวิชาชีพของตนเองอย่างเหมาะสม
4. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
4.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
4.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์หรือนักศึกษาแพทย์
4.3 สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เข้าใจความต้องการด้านสุขภาพ เป้าหมาย และความคาดหวังในการดูแลของผู้ป่วยหรือครอบครัว
4.4 ให้โอกาสผู้ป่วยและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลรักษาของตนเอง รวมทั้งเพื่อวางแผนการดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจนผู้ป่วยเสียชีวิต
4.5 สื่อสาร ประสานการทำงาน และวางแผนการดูแลร่วมกับทีมสหวิชาชีพอื่น เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
4.6 ให้ความรู้แก่ทีมสหวิชาชีพและประชาชนทั่วไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ
5. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
5.1 มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน และผู้ร่วมงานสหวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและกฎหมาย
5.2 มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
5.3 มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ค้นคว้า เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
5.4 สามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
6. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
6.1 มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ
6.2 มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุในชุมชน
6.3 ใช้ทรัพยากรสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
ระยะเวลาของการฝึกอบรม
การฝึกอบรมมีระยะเวลาทั้งสิ้น ๑ ปี โดยแพทย์ที่เข้าอบรมต้องได้รับการฝึกอบรมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของระยะเวลาการอบรมทั้งหมด
และเวลาของการฝึกอบรมในแต่ละส่วนย่อยของหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการประเมินเพื่อประกาศนียบัตร
ปีที่เริ่มการฝึกอบรม ปีการศึกษา ๒๕๖๖ (ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึง ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี)