พันธกิจของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเลิศด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยชั้นสูงในระดับสากล
พันธกิจ (Mission)
พันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงความมุ่งประสงค์ของการจัดการฝึกอบรม เพื่อชี้นำการกระทำและทิศทาง การมุ่งไปสู่เป้าหมายโดยรวมทั้งหมด โดยถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับพันธกิจของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และสอดคล้องกับพันธกิจหลักของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา ด้านการวิจัย ด้านบริการวิชาการ และด้านการดูแลสุขภาพ ดังต่อไปนี้
1. จัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีคุณภาพดีเลิศด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยชั้นสูงตามความต้องการของระบบบริการสุขภาพ ชุมชน และสังคม
2. ผลิตรังสีแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความพร้อมและความชำนาญที่มีมาตรฐานในระดับสากล ในการปฏิบัติงาน พร้อมรับสถานการณ์ในสภาวะทั่วไปและสภาวะฉุกเฉิน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
3. สร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านการวิจัย และติดตามงานวิจัยใหม่ๆเพื่อนำความรู้ไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
5. ผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมดูแลด้านสุขภาพตามนโยบายระบบสุขภาพของประเทศ สามารถชี้นำสังคมด้านสุขภาพและพัฒนาสาธารณสุขของประเทศอย่างเป็นอิสระทางวิชาการ
6. ผลิตบุคลากรให้มีจริยธรรม ธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และมีจิตสำนึกในการบริการ
ความสำคัญ: ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก สาขาวิชาต่างๆ ได้มีการพัฒนาไปในเชิงลึก รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคโดยภาพวินิจฉัย (Diagnostic Body Imaging) ซึ่งได้แก่ภาพคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography, US), ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography, CT), ภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI) รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Fusion Positron Emission Tomography (PET)-CT หรือ Fusion PET-MRI, Spectral and Dual energy-CT, Ultrasound Elastrography ได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมากเช่นกัน อีกทั้งมีการพัฒนาในด้านการสร้างภาพหลังการตรวจ (Post-processing Images) เช่น การสร้างภาพหลายมิติ (2-D Multiplanar Reformation และ 3-D Reconstruction), การสร้างภาพเหมือนจริง (Virtual Endoscopy), การสร้างภาพที่บอกรายละเอียดของหลอดเลือด (CT Angiography / MR Angiography), การสร้างภาพที่มีรายละเอียดสูง (High Resolution Imaging) รวมถึงการสร้างภาพที่บอกถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ (Functional Imaging) ทำให้ภาพที่ปรากฏออกมามีรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเพื่อวิเคราะห์เชิงปริมาณจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Quantitative-CT) และภาพจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Quantitative-MRI) รวมถึงยังมีการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จากภาพทางรังสีกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นความรู้ที่ได้จากการศึกษาฝึกอบรมขณะเป็นแพทย์ประจำบ้านในภาควิชารังสีวิทยา เป็นเวลา 3 ปีนั้น อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มีความรู้ ความชำนาญ ในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การแปรผลภาพให้ได้ดีนั้น ยังต้องอาศัยความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Advanced Diagnostic Body Imaging รวมถึงมีความรู้พื้นฐานเพิ่มเติมด้านกายวิภาคศาสตร์ และพยาธิวิทยาที่เกี่ยวข้อง และต้องทราบข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของแต่ละการตรวจ เพื่อเลือกการตรวจได้ถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอน ต้องรู้วิธีการเตรียมผู้ป่วย เทคนิคการตรวจ รวมถึงการแปลผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว ซึ่งช่วยให้สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศ และเนื่องจากวิวัฒนาการของ Diagnostic Body Imaging ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รังสีแพทย์ที่จบการศึกษาก่อนหน้านี้ ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมวิชานี้มาก่อน หรือเคยฝึกอบรมมาเพียงบางส่วน ดังนั้นการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง จะช่วยเพิ่มความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ในการทำงานด้านนี้ให้กับรังสีแพทย์ผู้สนใจในโรคที่หลากหลาย ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ระบบกระดูกและข้อ ทั้งในภาวะที่ไม่รีบด่วน และในภาวะฉุกเฉินหรือวิกฤต เพื่อที่จะสามารถให้การวินิจฉัยได้ถูกต้องแม่นยำ ตอบสนองระบบบริการสุขภาพที่มีความต้องการแพทย์ผู้มีความชำนาญมากขึ้นโดยเฉพาะในทีมร่วมดูแลผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยซับซ้อนรวมถึงสามารถให้คำปรึกษา แนะนำ และเผยแผ่ความรู้ในสาขานี้ให้แก่แพทย์ที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วย และวงการแพทย์ต่อไปในอนาคต
เนื่องจากงานด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ในเชิงกว้างในการทำงานร่วมกับแพทย์ต่างสาขาและสหวิชาชีพ รังสีแพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการฝึกฝนสร้างเสริมประสบการณ์ให้เกิดความรู้ความชำนาญและทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (interpersonal & communication skills) มีการบูรณาการความรู้ความชำนาญภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้ผู้รับการฝึกอบรมได้ใช้ความรู้ (medical knowledge and technical skills) ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะในด้านการดูแลผู้ป่วย (patient care) แสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ (professionalism) รวมถึงการปลูกฝังให้มีจริยธรรมและเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วยและญาติ ผู้ร่วมงานและองค์กร โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวมที่คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในระบบบริการสุขภาพได้อย่างเหมาะสม (patient care and system-based practice) เพื่อนำประสบการณ์จากการปฏิบัติผนวกกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมมาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (practice-based learning) และมีศักยภาพในการนำความรู้ในสาขาของตนเองไปบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ (system-based practice) ต่อไป
![]() |
ภาควิชารังสีวิทยา Radiology.mahidol.ac.th
อาคาร 1 ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 02-201-2465-6, โทรสาร 02-201-1297
|
![]() |