หลักการของ Palliative care

Palliative Care คืออะไร?

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ลักษณะของโรคในชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไป จากข้อมูลสถิติของประเทศไทยจัดทำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตในช่วงปีพ.ศ.2546-2550 คือ โรคมะเร็ง โดยคิดเป็นอัตรา 84.9 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าจนโรคมะเร็งในระยะที่ผู้ป่วยเคยมีโอกาสรอดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถให้การรักษาทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้นานมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ป่วยหนักจนกระทั่งความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถยื้อความตายออกไปได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่บุคคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

แม้ว่า "ความตาย" จะเป็นธรรมชาติของชีวิตทุกชีวิต แต่คนในปัจจุบันกลับเผชิญหน้ากับความตายได้ยากลำบากมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งก็เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

  • แต่ก่อนนั้น คนส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตที่บ้าน ทำให้คนอื่นๆในครอบครัวเห็นความตายเป็นเรื่องปกติของชีวิต ในขณะที่ปัจจุบัน ความตายนั้นมักจะเกิดในโรงพยาบาล เป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สัมผัสกับประสบการณ์ของการเสียชีวิตของคนใกล้ตัว
  • รูปแบบครอบครัวในสังคมที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นครอบครัวขยาย (Extended family) ก็กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) มากขึ้น ทำให้เด็กๆที่โตขึ้นมาอาจจะไม่เคยได้เห็นประสบการณ์ของการตาย
  • วิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น โรคบางโรคก็สามารถป้องกันได้ โรคบางโรคจากที่เคยป่วยแล้วไม่มีทางรักษาต้องเสียชีวิต ก็สามารถรักษาให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมกลับกัน สังคมเริ่มมีความคาดหวังกับการแพทย์มากขึ้น จนบางครั้งไม่สามารถยอมรับความตายได้หรือมองว่าความตายเป็นเรื่องผิดปกติ จนบางครั้งก็ลืมไปว่าเทคโนโลยีนั้นก็มีขีดจำกัดเช่นกัน หลายๆครั้งที่แพทย์สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ได้ แต่การยื้อชีวิตผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยต่างๆีนั้น บางครั้งไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับเป็นการเพิ่มความทรมานแก่ผู้ป่วยในเวลาที่เหลืออยู่
  • ยิ่งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากเท่าไหร่ การตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลก็ถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ จนบางครั้งก็มองข้ามความจริงที่ว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแนวทางการรักษาของตนเอง เนื่องจากแต่ละคนก็มีความเชื่อ ค่านิยม และบริบทอื่นๆของชีวิตที่แตกต่างกัน

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงได้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้มีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น องค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง (Palliative care) ว่า เป็น "วีธีการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นระยะสุดท้ายของโรคและครอบครัว โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น การดูแลจะเน้นการดูแลที่เป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพอันได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย" ทั้งนี้เป้าหมายหลักของการดูแลคือ การลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบหรือ “ตายดี”

โดยสรุปหลักการสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ

  • ให้การดูแลเป็นองค์รวม ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญาณ
  • ให้การดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพราะเมื่อคนใดคนหนึ่งในครอบครัวป่วยหนัก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนอื่นๆในครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไปด้วย
  • ให้ความเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวในการรับทราบข้อมูลการเจ็บป่วย และให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องแนวทางและเป้าหมายของการดูแล รวมไปถึงการให้ความเคารพในค่านิยม ความเชื่อและศาสนาของผู้ป่วยและครอบครัว
  • ปรัชญาของการดูแลจะไม่ใช่เป็นการใช้เครื่องมือหรือความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นเพียงการยื้อความทรมานโดยไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นการเร่งหรือช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าการดำเนินโรคตามธรรมชาติ
  • การดูแลจะเป็นการดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ มีการประสานงานระหว่างบุคคลากรสาธารณสุขหลายสาขา เพื่อให้สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวได้มากที่สุด และที่สำคัญควรตระหนักไว้เสมอว่าครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • การดูแลมีความต่อเนื่องตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของโรคจนกระทั่งหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต

 

อ.นพ.กิติพล นาควิโรจน์