Grief

การดูแลความเศร้าโศกในผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว

"ความเศร้าโศก (Grief)" เป็นสิ่งปกติที่เกิดได้จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และเป็นสิ่งที่ทีมผู้ดูแลควรจะตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว คนทั่วไปมักจะคิดว่าความเศร้าโศกนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่อันที่จริงแล้วความหมายของความเศร้าโศก (Grief) นั้น หมายถึงการปฏิกิริยาของร่างกาย จิตใจ และสังคมที่เกิดขึ้นต่อการสูญเสีย การสูญเสียที่เกิดขึ้น เรามักจะคิดไปถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วย แต่มักจะลืมมองความสูญเสียในมุมอื่นๆของชีวิตผู้ป่วยที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกได้ เช่น การสูญเสียบทบาท ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองและความสัมพันธ์ต่างๆของผู้ป่วยกับคนอื่นๆ

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ความเศร้าโศกนี้จริงๆแล้วจึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มไม่สบาย และเป็นกระบวนการที่เกิดต่อเนื่องจนกระทั่งหลังผู้ป่วยเสียชีวิต ระยะเวลาที่ครอบครัวรู้สึกเศร้าโศกนั้นอาจจะเป็นสัปดาห์เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ เช่น เมื่อครบรอบวันเสียชีวิตของผู้ป่วยทุกปี คนในครอบครัวก็อาจจะรู้สึกเศร้าโศกได้เป็นระยะๆ

มีปัจจัยใดบ้างที่อาจจะมีผลต่อความเศร้าโศก(Grief)?

ความเศร้าโศกเป็นเรื่องที่พบได้ปกติ แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่อาจจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเผชิญหน้ากับความเศร้าโศกได้ลำบากมากขึ้นและเกิดผลเสียตามมา เช่น ผู้ป่วยหรือครอบครัวอาจจะกลายเป็นคนที่วิตกกังวล(Anxiety disorder) หรือ มีภาวะซึมเศร้า (Depression) เกิดขึ้น ปัจจัยดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น

- ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคคลที่มีความเศร้าโศกป่วยเป็นโรคทางจิตประสาทอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้กลไกที่ใช้เผชิญกับความเศร้าโศกอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร , เคยมีประสบการณ์ของการสูญเสียที่เลวร้ายมาก่อนหรือได้รับการสูญเสียหลายๆครั้งต่อเนื่องกัน, ความเชื่อทางศาสนาและค่านิยมของแต่ละบุคคลที่มีเกี่ยวข้องกับความตาย เป็นต้น

- ปัจจัยที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตกับครอบครัว เช่น หากคนในครอบครัวสนิทกับผู้ป่วยมากๆก็อาจจะทำให้เกิดความเศร้าโศกได้มาก ในทางกลับกันหากคนในครอบครัวคนนั้นเคยทะเลาะกับผู้ป่วยหรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ีกับผู้ป่วยมาก่อน หากไม่ได้มีการสื่อสารที่ดีระหว่างกันก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิต ก็อาจจะทำให้เกิดความเศร้าโศกที่ผิดปกติภายหลังได้, การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับครอบครัวมีปัญหา ที่พบได้บ่อยคือ คนในครอบครัวและผู้ป่วยไม่อยากจะพูดถึงเรื่องโรคของผู้ป่วยหรือเลี่ยงที่จะพูดกับผู้ป่วยเรื่องการเสียชีวิต (Conspiracy of Silence) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่อยากทำร้ายความรู้สึกของผู้ป่วย ในขณะเดียวกัน การทำเช่นนี้ก็เกิดผลเสียกับผู้ป่วยได้ เช่น ทำให้ แม้ว่าผู้ป่วยอยากจะแสดงความรู้สึกหรือสั่งเสียบางอย่างก่อนจะเสียชีวิตก็ไม่สามารถทำได้เพราะคนในครอบครัวเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องดังกล่าว เป็นต้น

- ปัจจัยที่เกิดจากลักษณะของการเสียชีวิต เช่น หากผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ก็อาจจะทำให้ครอบครัวเผชิญกับความเศร้าโศกได้ลำบากกว่า, ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเมื่ออายุยังน้อยหรือยังไม่ถึงเวลาอันควรก็อาจจะทำให้คนในครอบครัวรู้สึกเศร้าโศกได้มากกว่าปกติ

- ปัจจัยทางสังคม เช่น หากผู้ป่วยหรือครอบครัวไม่ค่อยมีเพื่อนหรือคนอื่นๆที่คอยเป็นที่ปรึกษา ก็อาจจะทำให้มีความเศร้าโศกมากกว่าปกติและเกิดปัญหาซึมเศร้าตามมาได้

- ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการจัดการความเศร้าโศก เช่น การใช้ยากล่อมประสาท,ยานอนหลับหรือสุราก็จะทำให้การยอมรับความจริงของการสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ลำบากยิ่งขึ้น

 

ในกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจจะมีความแตกต่างกับผู้ป่วยทั่วไปตรงที่ การสังเกตอาการแสดงทางร่างกายต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร,ไม่มีสมาธินั้น ไม่มีความจำเพาะเจาะจง เพราะสามารถเกิดจากการดำเนินของโรคในระยะสุดท้ายเองได้ คำแนะนำคร่าวๆ ในการแยกสองภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยแสดงไว้ในตารางด้านล่าง

 

 

ภาวะเศร้าโศกที่เป็นปกติ (Normal grief)

ภาวะเศร้าโศกที่เป็นผิดปกติ (Pathological grief)

ผู้ป่วยยังคงอยากทำกิจกรรมที่ชอบ

ผู้ป่วยมักจะแยกตัว ไม่อยากทำอะไรแม้จะเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยชอบก็ตาม

อารมณ์เศร้าอาจจะเกิดได้เป็นช่วงๆ ระหว่างวัน  

มีอารมณ์เศร้าตลอดทั้งวัน

ผู้ป่วยอาจจะอยากให้ตนเองเสียชีวิต เช่น ไม่อยากให้แพทย์ให้การรักษาที่เป็นการยื้อความทรมาน แต่ไม่มีความคิดอยากจะฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยมีความคิดจะฆ่าตัวตาย

แม้จะป่วยหนักแต่ยังมีความหวังอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นความหวังว่าจะหายดี แต่อาจจะเป็นความหวังเล็กๆน้อยๆที่เป็นไปได้ เช่น หวังให้หายปวด, หวังให้เหนื่อยน้อยลง, หวังได้รับประทานอาหารกับครอบครัว

ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีความหวังในชีวิตเลย

ข้อมูลในตารางเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆในการแยกระหว่างสองภาวะเท่านั้น และการประเมินอย่างละเอียดโดยจิตแพทย์ยังคงใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยหรือครอบครัวมีความเศร้าโศกที่ผิดปกติ ทีมควรจะส่งปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้ประเมินอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวอาจจะทำร้ายตนเอง

วิธีการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในการเผชิญหน้ากับความเศร้าโศกทำได้อย่างไร?

- ควรรับฟังผู้ป่วยและครอบครัวอย่างตั้งใจ (Active listening) และแสดงความเข้าใจต่อการสูญเสีย ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ระบายความรู้สึกต่อการสูญเสียออกมา ผู้ป่วยหรือสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ชายมักจะมีปัญหาเรื่องการแสดงความรู้สึกตัวเองเนื่องจากค่านิยมของสังคมที่มองว่าผู้ชายต้องเข้มแข็งไม่แสดงออกทางอารมณ์ ดังนั้นทีมที่ดูแลควรจะเปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึกบ้าง โดยจัดหาสถานที่พูดคุยที่มีความเป็นส่วนตัว ควรจะอธิบายให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบว่า “การร้องไห้ไม่ใช่เป็นสัญญาณถึงความอ่อนแอ แต่เป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน” การเก็บความรู้สึกไว้ในใจจะก่อให้เกิดความอึดอัดและเกิดผลเสียตามมาภายหลังได้

- เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้แสดงออกถึงความรักความปรารถนาดีต่อกัน ตลอดจนให้อภัยแก่กันถึงสิ่งที่เคยทำมาในอดีต

- ทีมควรถามว่าผู้ป่วยและครอบครัวต้องการให้ทีมช่วยเหลืออะไรบ้างรวมทั้งมีสิ่งใดที่ผู้ป่วยเป็นห่วงหรืออยากทำก่อนจะจากไป (Unfinished business) ที่จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเผชิญหน้ากับการสูญเสีย และจากกันด้วยดี

- ประเมินว่ามีใครบ้างที่สามารถเป็นที่ปรึกษาหรือคอยช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวได้

- แนะนำผู้ป่วยและครอบครัวให้หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือดื่มสุราในการเผชิญหน้ากับการสูญเสีย เพราะเป็นการหนีความจริงและทำให้เกิดความเศร้าโศกที่ผิดปกติหลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่หากไม่สามารถรับได้จริงๆ ควรจะปรึกษาแพทย์หรือทีมที่ดูแล เพื่อจะได้ให้คำแนะนำต่อไป

-หากประเมินว่ามีภาวะเศร้าโศกที่ผิดปกติควรพิจารณาส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าการดูแลความเศร้าโศกของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ รวมทั้งยังทำให้คนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติหลังจากการจากไปของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญหลังจากที่ทีมได้ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว คือการต้องรู้จักหันกลับมาดูแลสมาชิกในทีมด้วยกันเอง เพราะในอีกมุมหนึ่ง สมาชิกของทีมก็เป็นคนธรรมดาๆ ที่มีอารมณ์และความรู้สึก ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นอาจจะทำให้สมาชิกในทีมเกิดความเศร้าโศกหลังจากผู้ป่วยที่เคยดูแลกันมาเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยที่เสียชีวิตอยู่ในวัยเดียวกันหรือมีบริบทของครอบครัวที่คล้ายๆ กันกับของตนเอง ก็อาจจะเกิดความรู้สึกกลัว ไม่มั่นคง หรือเกิดภาวะซึมเศร้าได้ สิ่งที่ทีมควรจะทำคือการเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกในการจากไปของผู้ป่วยเป็นระยะๆ รวมทั้งอาจจะไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ป่วย ก็จะ็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ทีมที่ดูแลสามารถเผชิญกับความสูญเสีย และสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากการดูแลผู้ป่วยเพื่อนำมาเป็นสติในการพัฒนาชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้น

Reference:

1.Block SD. Assessing and managing depression in the terminally ill patient. ACP-ASIM End-of-Life Care Consensus Panel. American College of Physicians - American Society of Internal Medicine. Ann Intern Med2000 Feb 1;132(3):209-18.
2.Block SD. Perspectives on care at the close of life. Psychological considerations, growth, and transcendence at the end of life: the art of the possible. JAMA2001 Jun 13;285(22):2898-905.
3.Lobb EA, Clayton JM, Price MA. Suffering, loss and grief in palliative care. Aust Fam Physician2006 Oct;35(10):772-5.

 

อ.นพ.กิติพล นาควิโรจน์

 

จะสามารถแยกความเศร้าโศกที่ปกติ (Normal grief) และความเศร้าโศกที่ผิดปกติ (Pathological grief) ได้อย่างไร?

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว คือทีมที่ดูแลมักจะเกิดคำถามว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่า อย่างไหนเรียกว่าเป็นความเศร้าโศกที่ปกติ และเมื่อไหร่ที่จัดเป็นความเศร้าโศกที่ผิดปกติและอาจจะต้องการการดูแลอื่นๆเพิ่มเติมมากกว่าการดูแลทั่วไป