Enneagram for Understanding from self to others toward patients
(ทำความรู้จักเอ็นเนียแกรมเพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น สู่การเข้าใจ-ผู้ป่วย)
“เธอ ๆ ลักษณ์อะไรน่ะ เคยได้ยินไหม ไปกดควิซใน Facebook มารึยัง”
“ทำแล้วๆ ฉันลักษณ์ 4… แก มันดูไม่ดีเลย ทำไมคำอธิบายมันดูเศร้าจัง”
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง “นพลักษณ์” หรือ “เอ็นเนียแกรม” (Enneagram) ที่อาจได้ยินมาจากบทสนทนาของเพื่อน ๆ คล้ายคลึงกับเรื่องราวข้างต้น หรืออาจเคยเห็นผ่าน ๆ จากการแชร์คอนเทนตามหน้าเพจในโซเซียลมีเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
เอาล่ะครับ....บทความนี้จะชวนทุกท่านมาเรียนรู้ศาสตร์นพลักษณ์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แสดงให้เห็นในรูปแบบของตัวเลขและวงแหวนเวทย์ที่กล่าวถึงบุคลิกภาพของคน 9 แบบ โดยที่จะไม่ขอไม่กล่าวถึงในที่นี่ว่าบุคลิกทั้ง 9 แบบนั้นมีอะไรบ้าง แต่จะกล่าวถึงในมิติว่าในการเรียนรู้ศาสตร์นี้ต้องระวังการนำเอาศาสตร์นพลักษณ์มาใช้อย่างไร นำมาใช้พัฒนาตนเอง เข้าใจผู้อื่น และรวมถึงประยุกต์ใช้ในแบบเวชศาสตร์ครอบครัวได้อย่างไรบ้าง
Enneagram…Pop culture? In Medical education?
ปัจจุบัน ในวงการแพทยศาสตรศึกษาในประเทศไทย มีการกล่าวถึงการใช้ศาสตร์ของนพลักษณ์ หรือ เอ็นเนียแกรม ขึ้นมาเพื่อการพัฒนาตนเอง เข้าใจผู้อื่น การอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันให้ได้ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) อีกด้วย ซึ่งเรามักจะพบเห็นการอบรมนพลักษณ์มากขึ้นทั้งในระดับก่อนปริญญาและหลังปริญญา นอกจากนี้ ยังพบได้ตามสื่อโซเซียลมักพูดกันถึงศาสตร์ของบุคลิกภาพที่ชื่อว่านพลักษณ์นี้เป็นเหมือนคำถามทายนิสัยอีกด้วย
แต่การรู้จักหรือได้ยินเรื่องนพลักษณ์มากขึ้นเหมือนเป็น Pop culture ในสังคม อาจเป็นเหมือนดาบสองคมของการเรียนรู้เรื่องนพลักษณ์มากขึ้นด้วย เช่น การเข้าใจไปว่า “อ๋อ ที่ฉันทำแบบนี้ก็เพราะว่าฉันเป็นคนลักษณ์นี้” อาจนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองกระทำพฤติกรรมนั้นอีก หรืออีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อย คือ เหมารวมเอาว่าคนนี้เป็นลักษณ์นี้ก็เพราะเราพบเห็นการแสดงออกบางอย่างที่ทำให้จึงไปตัดสินคนหนึ่ง ๆ ว่าต้องเป็นคนลักษณ์นี้แน่ ๆ ทั้งที่อาจไม่เคยรู้จักกับคนนั้นอย่างแท้จริง
การเข้าใจศาสตร์นพลักษณ์อย่างผิวเผินตามที่ได้ยกตัวอย่างมา อาจเป็นการหาเหตุผลให้ทำพฤติกรรมลักษณะเดิมนั้นซ้ำได้อีก นั่นก็เพราะได้ยึดเอาลักษณ์มาอธิบายที่มาของพฤติกรรมนั้นเสียแล้ว เช่น “ฉันเป็นคนเจ้าระเบียบชอบตำหนิและจับผิดผู้อื่นก็เพราะว่าฉันเป็นลักษณ์ 1” ซึ่งเช่นนี้แหละที่เป็นการนำนพลักษณ์มาเป็นเหตุผลรองรับความชอบธรรมของการแสดงออกทางพฤติกรรม อันไม่ใช่เป้าประสงค์ที่แท้จริงของการนำศาสตร์นพลักษณ์มาใช้
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้ประสงค์จะขัดขวางการนำศาสตร์นพลักษณ์มาใช้ในการอธิบายหรือเข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างกันของแต่มนุษย์ หากแต่การเข้าใจความแตกต่างหรือการเข้าใจโลกทัศน์ของผู้อื่น บ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีโลกทัศน์มุ่งอยู่กับเรื่องของตนเอง ความหลายหลายของมนุษย์อาจจะเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเขาก็ได้
การใช้นพลักษณ์สามารถเป็นเครื่องมือในการอธิบายแรงจูงใจของการทำพฤติกรรมนั้นได้ โดยเข้าใจแรงขับภายในภายใต้พฤติกรรมนั้น ช่วยให้เข้าใจเหตุของพฤติกรรมนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของซาเทียร์ ก็คือการมองให้เห็นถึงภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้การแสดงออกนั้น ว่า ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังและความต้องการภายในของเขา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เขาแสดงออกพฤติกรรมนั้นออกมา ซึ่งการจะเข้าใจผู้อื่นได้จะต้องเริ่มจากความเข้าใจตนเองจนไปถึงเข้าใจผู้อื่น ดังนั้น นพลักษณ์จึงเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่มาช่วยมองแรงจูงใจของพฤติกรรมที่แสดงออกมาได้
นอกจากนี้ หนึ่งในปัญหาสำคัญของการใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือ คือ “ความยากในการมองเห็นตนเอง” กล่าวคือ การมีสติ รู้ทัน เข้าใจ มองเห็นตัวตนภายใน และยอมรับทั้งด้านที่สวยงามและไม่สวยงาม รวมถึงยอมรับด้านมืดและเงาของตนเอง ซึ่งต้องใช้ทั้งสติและความพยายามอย่างมากที่จะกลับมาทำงานกับจิตของตนเพื่อพัฒนาตนเอง
บทความนี้จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุก ๆ คนมาทำความรู้จักกับโลกของนพลักษณ์ให้มากขึ้น โดยจะขอกล่าวถึงคร่าว ๆ ว่านพลักษณ์คืออะไร และจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร
รูปภาพแสดงสัญลักษณ์เอ็นเนียแกรม
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/File:Enneagram_integration.JPG
What is Enneagram?
เอ็นเนียแกรม หรือ นพลักษณ์ เป็น ศาสตร์ที่อธิบายถึงบุคลิกภาพ 9 แบบที่โดดเด่น โดยมีสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน (มักเห็นเป็นรูปวงเวทย์) สัมพันธ์กับศาสตร์หลายแขนงทั้งจิตวิทยา โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นศาสตร์ในการเข้าใจอัตตาของตนเอง (Human ego) รวมถึงเป็นแผนที่นำทางสำหรับการเติบโตทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ โดยช่วยให้เห็นถึงแบบแผนพฤติกรรม และจุดบอดที่ขวางกั้นการพัฒนาของตัวเรา
โดยนพลักษณ์จะแบ่งลักษณะเด่นออกเป็น 9 แบบซึ่งจะแทนด้วยตัวเลข 1-9 ที่ตั้งอยู่บนศูนย์ปัญญา (Centers of Intelligence) 3 ศูนย์ อันเป็นฐานที่รับและประมวลผลข้อมูลจากโลกภายนอก ได้แก่
- 5,6,7 ลักษณ์ของการคิดวิเคราะห์ผ่านการทำงานของศูนย์หัว: คนลักษณ์ 5,6,7 ใช้ศูนย์นี้เป็นหลักโดยรับรู้ประสบการณ์จากโลกภายนอกในรูปแบบความคิด มักมีความคิดวิเคราะห์วางแผน และใช้ตรรกะได้ดี แต่บางครั้งอาจใช้ตรรกะมากเกินไปทำให้ไม่รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก
- 2,3,4 ลักษณ์ของการรับรู้ความรู้สึกและสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านศูนย์ใจ: คนลักษณ์ 2,3,4 ใช้ศูนย์ใจเป็นหลักและรับรู้โลกทัศน์ผ่านทางความรู้สึก ซึ่งมักเป็นคนที่รับรู้อารมณ์ได้ดี เข้าใจผู้อื่นได้เก่ง ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น แต่อาจจะกลัวการถูกปฏิเสธจากผู้อื่นและเน้นภาพลักษณ์มากเกินไป
- 1,8,9 ลักษณ์ของการสัมผัสการมีชีวิตผ่านประสาทสัมผัสของร่างกายจากศูนย์ท้อง: คนลักษณ์ 1,8,9 ใช้ศูนย์ท้องขับเคลื่อนและรับรู้โลกผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมักเป็นคนมุ่งมั่นและจริงจัง ให้ความสำคัญกับความจริง แต่หลายครั้งอาจจะชอบตัดสินและไม่ยืดหยุ่น
จะเห็นได้ว่าหากมีการใช้ศูนย์ใดศูนย์หนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เสียสมดุลได้ เช่น การติดอยู่กับความรู้สึกและภาพลักษณ์มากเกินไป และการไม่รับรู้ร่างกายของตนเองแม้จะเจ็บป่วย เป็นต้น ดังนี้แล้วเราจึงควรกลับมารับรู้ผ่านฐานที่ไม่ใช่ฐานหลักมากขึ้นเพื่อสร้างสมดุล ซึ่งทำให้ไวต่อการรับรู้อารมณ์ ความคิด และร่างกายได้อย่างสมดุลมากขึ้น
ลักษณะเด่นทั้ง 9 แบบนี้ถูกแบ่งออกตามกลไกการเอาตัวรอดเพื่อปกป้องตัวเราจากความเจ็บปวด ซึ่งกลไกนี้เกิดจากแรงจูงใจและแบบแผนของพฤติกรรมในแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวในระดับจิตใต้สำนึกระหว่างที่ตัวเราเติบโตบนโลกที่โหดร้าย กลไกเอาตัวรอดจะทำงานซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นแบบแผนพฤติกรรมที่กลายเป็นเปลือกนอกที่ไว้ป้องกันตัวตนภายใน เมื่อเราเจอกับปัญหา ก็มักจะใช้พฤติกรรมที่เคยชินในระดับจิตใต้สำนึกในการแก้ปัญหา โดยเผลอลืมมองตัวตนภายในของตนเองดังที่ได้กล่าวไว้ถึงทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งและอาจนำไปสู่การหลงลืมตัวตนภายใน ในที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งกลไกการเอาตัวรอดในระดับจิตใต้สำนึกนี้ทำให้เกิดปัญหา นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหานั่นเอง
ดังจะเห็นได้ว่าการใช้นพลักษณ์นั้นสามารถเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหลงทางก็ได้ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจหลักการอย่างท่องแท้จะเป็นเครื่องมือตัวที่จะช่วยนำทางและชวนให้เรากลับมามองตนเองและกลไกเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละลักษณ์ แต่จะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจหรือเคยได้เรียนรู้เครื่องมือนี้ ศึกษาเพิ่มเติมและนำมาใช้ได้อย่างงดงามมากขึ้น
How to apply in Family Medicine
นพลักษณ์ คงเป็นเครื่องมือหนึ่งในหลายเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเรื่องความเข้าใจตนเอง เข้าใจความแตกต่าง และเข้าใจผู้อื่น ซึ่งล้วนเป็นทักษะสำคัญของความเป็นมนุษย์ โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์เพื่อพัฒนาทักษะการดูแลแบบยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-centered medicine) ซึ่งต้องมีทักษะในการเข้าใจผู้อื่น เข้าใจโรค เข้าใจความเจ็บป่วย และเข้าใจชีวิตของเพื่อนมนุษย์ มีความสารถในการสร้างสัมพันธภาพของแพทย์-ผู้ป่วยที่ดีตามแนวทาง Patient-centered medicine รวมถึงวางแผนการรักษาร่วมกันได้
ซึ่งหลายครั้งในโลกของการทำงาน ผู้ให้บริการทางการแพทย์เองก็ฟังไม่ได้ยิน มองไม่เห็นตนเอง และมักติดอยู่กับแบบแผนพฤติกรรมการป้องกันตัวตนภายในของตนเอง เช่น แพทย์โกรธผู้ป่วยที่ไม่ยอมกินยาตามที่สั่งจึงต่อว่าผู้ป่วยอย่างรุนแรง ซึ่งการไม่กินยาของผู้ป่วยอาจกระทบกับตัวตนภายในของแพทย์ส่งผลให้แพทย์ตอบสนองไปอย่างไม่ทันรู้ตัว เป็นต้น ซึ่งในกรณีตัวอย่าง การเข้าใจนพลักษณ์อาจช่วยเป็นแผนที่ให้กับแพทย์เพื่อสำรวจแรงขับภายในของตนเองได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถนำความเข้าใจหลักของนพลักษณ์ เพื่อมุ่งหวังที่จะทำเข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวได้ดีขึ้น เช่น ภรรยาของผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแลสามีอยู่ตลอดจนอาจทำให้ไม่เห็นความต้องการของตนเอง เนื่องจากความต้องการของตนเองนั้นถูกแขวนไว้กับชีวิตของสามีไปแล้ว ส่งผลให้ภรรยาของผู้ป่วยติดเตียงท่านนี้อาจไม่เคยได้บอกความต้องการของตนเองให้ใครได้ยินมาอย่างยาวนานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังละเลยการดูแลตนเองเพราะในโลกทัศน์ของเขามีเพียงแต่สามี จนเป็นเหตุให้ไม่ได้ดูแลสุขภาพตนเองและขาดนัดตรวจกับแพทย์ของตนเองไปหลายนานหลายปีนับจากที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการหลับใหลของความต้องการและยังถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนภายในที่ศาสตร์นพลักษณ์ได้อธิบายไว้
อีกกรณีศึกษาหนึ่ง ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดแสบใต้ลิ้นปี่และติดวนอยู่ในความคิดของตนเอง โดยเดินทางไป medical shopping อยู่เรื่อย ๆ หลายโรงพยาบาล แต่อาการปวดแสบใต้ลิ้นปี่ก็ไม่หายเสียที แม้ผลการตรวจส่องกล้องบอกว่าปกติ ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้กลับมามองบริบทชีวิตและความเครียดที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นอาการได้ กรณีนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการใช้ศูนย์ปัญญาของหัวที่มากเกินไปจนเสียสมดุลและไม่อาจรับรู้ความรู้สึกของตนเอง อีกตัวอย่างหนึ่งของอาการทางกายอันเกิดจากกลไกทางจิตที่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ เช่น ผู้ป่วยที่เครียดและทำงานมากจนปวดบริเวณคอบ่าไหล่แต่กลับปฏิเสธความเครียดนั้นและยังคงไม่ทราบว่าตัวเองกำลังเครียดและคิดว่าสามารถทำงานได้ไหวจึงทำงานหนักมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็อาจแสดงให้เห็นถึงการไม่สมดุลของการรับรู้ผ่านศูนย์กายของตนเองได้
ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้เรามองเห็นได้ว่าแรงขับภายใน แบบแผนพฤติกรรม และการรับรู้ในแต่ละบุคคลนั้นจะแตกต่างกัน ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องใช้ทักษะในการสัมภาษณ์และกระบวนวิธีทำความเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ทักษะความไวต่อแบบแผนพฤติกรรมและเข้าใจกลไกทางจิตใจที่มากขึ้นที่มีพื้นฐานมาจากความเข้าในนพลักษณ์ ยังนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเข้าใจผู้ป่วยที่ยาก (Difficult patient) รวมถึงกลับมามองบุคลากรทางการแพทย์ที่ยาก (Difficult Health care provider) หรือ แม้แต่ตัวผู้ปฏิบัติงานเองได้อีกด้วย นพลักษณ์จึงอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดีสำหรับการกลับมารู้จักตนเอง มองตัวตนภายใน มีสติ ไวกับภูเขาน้ำแข็งของตนเองและคนรอบตัว และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
Summary
ท้ายสุดนี้ บทความนี้อยากเชิญชวนให้ผู้อ่าน กลับมามองการรับรู้ของตัวเองและคนรอบตัว ผ่านศูนย์ปัญญา 3 ศูนย์ก่อน ว่าตนเองหรือคนรอบตัวใช้ฐานไหนเด่นที่สุด และฐานไหนแทบจะไม่ได้ใช้เลย ซึ่งอาจทำให้เข้าใจหลักการของนพลักษณ์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ใช้สังเกตและฝึกสติได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ทุกเครื่องมืออาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน บางคนอาจไม่ชอบเครื่องมือนี้เพราะเข้าใจยาก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ ยังมีอีกหลากหลายเครื่องมือและศาสตร์ที่ช่วยให้เราเป็นมนุษย์และผู้ประกอบวิชาชีพที่ดีขึ้นเช่นกัน
การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านศาสตร์นพลักษณ์ คงสรุปสั้นๆ ได้ว่า “เรียนรู้ลักษณ์ ให้ออกจากกรอบของลักษณ์” ออกจากแบบแผนพฤติกรรมและรับรู้แรงขับเคลื่อนภายใน กลับมาสร้างสมดุลการรับรู้ผ่านทั้งความคิด ความรู้สึก และร่างกาย โอบกอดทั้งด้านที่ทั้งดีและไม่ดีซึ่งอาจจะยากที่จะยอมรับ กลับสู่สมดุลในชีวิตที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกัน นำสู่จุดพัฒนาของจิตใจและจิตวิญญาณ
Reference:
- Chestnut B, Paes U. The enneagram guide to waking up the enneagram guide to waking up: Find your path, face your shadow, discover your true self. Charlottesville, VA: Hampton Roads Publishing; 2021.
- Limsuwan N, Limsuwan N. Psychtherapy Based on Satir Model. J Psychiatr Assoc Thailand [Internet]. 2013 Feb. 18 [cited 2022 Nov. 9];57(3):251-8. Available from: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JPAT/article/view/5490
- Stewart M, Brown JB, Weston WW, McWhinney IR, McWilliam CL, Freeman TR. Patient-centered medicine: Transforming the clinical method. London, England: Radcliffe Publishing; 2003.
![]() |
นพ.พีรภาส จิราธิยุต 23 มีนาคม 2566 |