รู้จักแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

          เนื่องจากในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจมาสมัครฝึกอบรมในสาขานี้มากเกินจำนวนที่รับไว้ได้ในแต่ละปี จึงอยากจะแนะนำส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมาฝึกอบรมที่รามาธิบดีให้ทราบคร่าวๆคือ
 
  • การรับสมัคร เป็นไปตามข้อกำหนดของแพทยสภา อย่างไรก็ตามท่านสามารถแสดงความสนใจโดยมาลงชื่อกับทางภาควิชาไว้ล่วงหน้าได้
    • ภาควิชาต้องการให้ท่านเขียนบรรยายประวัติของท่าน หรือเขียนบทความบางอย่างตามที่กำหนดเพื่อให้เรารู้จักท่านล่วงหน้าประกอบหลักฐานการสมัคร
    • การสอบสัมภาษณ์ จะทำหลังวันปิดรับสมัครของแพทยสภา โดยทุกสถาบันจะทำการสัมภาษณ์พร้อมกัน ณ สถานที่เดียวกัน โดยจะจัดลำดับการสัมภาษณ์ไม่ให้ซ้อนกัน เพื่อประโยชน์และความสะดวกของแพทย์ผู้สมัคร
  • เกณฑ์การคัดเลือก คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์จะมีการพิจารณาให้คะแนนจาก

             เกณฑ์ขั้นต่ำ
             • เกรดเฉลี่ย พบ. ไม่ต่ำกว่า 2.75
             • NL 3 ผ่านครั้งที่ 1 (ถ้าไม่ผ่านครั้งที่ 1 พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ)
             • ผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ผลการสอบอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
               (1) IELTS ≥ 3.0                         
               (2) TOEFL-iBT ≥ 32 
               (3) MU GRAD Plus (MU GRAD Test + Speaking) ≥ 40      
               (4) MU ELT ≥ 84

            การให้คะแนน       
            • ต้นสังกัดที่ได้รับทุนมา (ร้อยละ 20)
            • คะแนนจากการสัมภาษณ์ในห้องสัมภาษณ์ โดยพิจารณาจาก บุคลิกภาพ ทัศนคติ critical thinking ความมั่นคงทาง อารมณ์ ทักษะในการสื่อสาร แรงจูงใจในการเรียนจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เป็นต้น (ร้อยละ 80)

  • หลักสูตรพื้นฐานของทุกสถาบันในแง่หัวข้อความรู้ ประสบการณ์การฝึกอบรมไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากต้องจัดให้มีตามหลักสูตรของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
  • ภาพรวมการใช้เวลาฝึกอบรม หลักสูตรคือ 4 ปี โดยจะอยู่กับจิตเวชผู้ใหญ่ 1 ปี 8 เดือน (ทุกสถาบันในปัจจุบันส่วนใหญ่จะจัดให้อยู่ในช่วงประมาณ 2 ปีแรกของการฝึกอบรม ซึ่งจะรวมการปฏิบัติงานในหน่วยผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน การรับปรึกษาจากต่างภาควิชา) และมาเรียนจิตเวชเด็กและวัยรุ่นต่ออีก 2 ปี 4 เดือน โดยการหมุนเวียนฝึกอบรมจะมีทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยรับปรึกษา กุมารเวชศาสตร์ (พัฒนาการ และประสาทวิทยา) และสาขาย่อยต่างๆเช่น นิติจิตเวชศาสตร์ ยาเสพติด สุขภาพจิตโรงเรียน เป็น ต้น
     
  • สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ ทางภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดให้มีเป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้แก่ การlecture, journal reading, การทำสัมมนาหัวข้อต่างๆ (แพทย์ประจำบ้านจะอ่านบทความที่ได้รับมอบหมายแล้วมานำเสนอให้แพทย์อื่นๆช่วยอภิปราย) การทำ  case conference รูปแบบต่างๆ เช่น ร่วมกับหน่วยพัฒนาการเด็ก ร่วมกับทีมผู้รักษาต่างๆ เช่น พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอาจต่างไปจากสาขาวิชาอื่นทางการแพทย์ หรือการที่แพทย์ประจำบ้านได้ค้นคว้ารวบรวมเรื่องที่เขาสนใจพิเศษมานำเสนอในที่ประชุม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อให้แพทย์ประจำบ้านได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านจิตใจและมุมมองต่อสิ่งต่างๆรอบตัวในภาพกว้างอีกด้วย เช่น นพลักษณ์ Satir

             นอกจากนี้ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ได้จัด  lecture และ case conference เพิ่มให้แพทย์ประจำบ้านทั้ง 2 สาขาและผู้สนใจทั่วประเทศอีกเดือนละ 2 ครั้ง 

  • ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของการฝึกอบรมจิตเวชคือ การมี supervision กับ อาจารย์แพทย์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ให้คำปรึกษาทั้งในด้านการรายงานการตรวจคนไข้ที่ผ่านมา ข้อสงสัยในความรู้หรือแง่มุมความคิดต่างๆ รวมทั้งประเด็นส่วนตัวของแพทย์ประจำบ้านรายนั้นๆ ตามแต่กรณีไป (Taylor Made)
     
  • การประเมินผล จะมีทั้งในด้านความรู้ (การสอบข้อเขียน ปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งเป็น formative 1 ครั้ง และ summative 1 ครั้ง) การปฏิบัติ ( การสอบการตรวจผู้ป่วยจริง 2 ครั้งต่อปี) และเจตคติ (จากความเห็นของผู้ร่วมงานทุกสาขาอาชีพและsupervisors)
  • งานวิจัย แพทย์ประจำบ้านทุกคนจะต้องฝึกทำวิจัยอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง และรายงานจิตบำบัด 2 ราย ส่งต่ออนุกรรมการสอบ ความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นก่อนจบการฝึกอบรม จึงมีสิทธิสมัครเข้าสอบเพื่อวุฒิบัตร
  • การสอบเพื่อวุฒิบัตรสำหรับผู้ผ่านการอบรมครบ  จะมีขึ้นทุกปีในเดือนกรกฎาคม
     
  • จากสิ่งที่ได้เล่ามาทั้งหมด ลักษณะของผู้ที่ต้องการมารับการอบรมที่รามาธิบดีควรเป็นผู้...
  • มีความสามารถในการเป็นแพทย์ทั่วไปได้ดีระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นสาขาที่จะต้องประมวลองค์ความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ มาใช้อย่างมาก       
  • บุคลิกภาพและสภาพจิตใจมั่นคง สามารถยืดหยุ่นปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ 
  • เปิดกว้างที่จะรับฟังความเห็นของผู้อื่น
  • ตั้งใจมาฝึกอบรมในสาขานี้อย่างจริงใจ
  • รับทราบว่าการฝึกอบรมแม้จะไม่เข้มข้นหนักเท่าบางสาขา แต่ก็มิใช่สาขาที่สบาย
  • ตรงต่อเวลา และซื่อสัตย์ มีค่านิยมที่สังคมทั่วไปและสังคมแพทย์ยอมรับ
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยญาติ และเพื่อนร่วมงานทุกสาขา
  • มีความกระตือรือร้นในการคิด ใฝ่รู้ ค้นคว้า มิได้รอการสอนจากอาจารย์หรืออ่านเพียงตำราภาษาไทยหรือคู่มือวิชาฉบับสั้น
  • มีความสามารถในการอ่านจับใจความโดยเฉพาะบทความภาษาอังกฤษและสื่อสารถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
  • มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจเหตุการณ์ต่างๆ เนื่องจากทางรามาธิบดีจะให้อิสระในการดูแลผู้ป่วยด้วยตนเอง แม้จะมีระบบ supervision
  • ลักษณะเด่นของการฝึกอบรมที่รามาธิบดี
1. มีกิจกรรมพัฒนาตนเองหลายรูปแบบ
2. มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสังคมศิลปวัฒนธรรม โดยจัดให้มีการทัศนศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
3. ส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล
4. โปรแกรมจิตเวชทั่วไปและจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นมีการทำงานที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี
5. มีการเรียนรู้จากอาจารย์อาวุโสที่มาจากทั้งสามสถาบันฝึกอบรมทุกสัปดาห์ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ พญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ (ศิริราช), ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ (รามาธิบดี), รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน (จุฬาฯ)
  • จำนวนแพทย์ประจำบ้าน สามารถรับเข้าศึกษาได้ปีละ 4 ตำแหน่ง พิจารณารับทั้งกรณีที่มีต้นสังกัดและอิสระ
  • ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณจอมขวัญ นามสูตร หมายเลขโทรศัพท์ 02-201-1929 ต่อ 230