Sexual Health history taking

 

การซักประวัติเรื่องสุขภาพเพศ

 

          เรื่องสุขภาพเพศเป็นประเด็นทางสุขภาพที่สำคัญเรื่องหนึ่ง แต่แพทย์ส่วนหนึ่งมักไม่กล้าสอบถามประวัติเรื่องนี้ เนื่องด้วยกังวลว่าไม่สามารถดูแลหรือให้คำแนะนำต่อได้ และกังวลว่าจะเกิดความไม่สบายใจระหว่างการพูดคุยกับผู้ป่วย

          จากหนังสือ Working with the families in primary care พบว่า แค่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เล่าปัญหาเรื่องเพศที่เผชิญอยู่ ก็เป็นการช่วยบำบัดให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับขั้นตอนการบำบัดทางเพศที่ชื่อว่า ExPLISSIT Model ในขั้นตอนแรกที่เรียกว่า Permission Giving

         จากประสบการณ์ของผู้เขียนได้รวบรวมเทคนิคที่สำคัญและนำไปใช้ได้จริงในการเริ่มซักประวัติเรื่องสุขภาพเพศในเวชปฏิบัติได้ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

         1. การขออนุญาต

เนื่องจากเรื่องเพศเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และไม่ใช่เรื่องที่ถูกพูดคุยกันโดยทั่วไปในสังคม การเริ่มต้นซักประวัติจึงควรขออนุญาตจากผู้ป่วยก่อน นอกจากนี้ระหว่างการพูดคุยอาจต้องสังเกตพฤติกรรม และปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้ป่วยตลอดการซักประวัติ หากพบเห็นพฤติกรรมที่อาจสื่อถึงความลำบากใจแพทย์สามารถถามผู้ป่วยได้ว่า “ไม่สบายใจ หรืออึดอัดที่หมอถามเรื่องนี้หรือไม่”

       2. ใช้ภาษาที่มีความเป็นกลางทางเพศ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการใช้คำถามที่ควรมีความเป็นกลางทางเพศ (Gender-neutral language) เพื่อไม่เป็นการรีบด่วนสรุปว่าผู้ป่วยมีรสนิยมทางเพศแบบใด เช่น ถามผู้ป่วยชายสูงอายุว่า “แต่งงานหรือยัง?” ตัวอย่างนี้เป็นการด่วนสรุปว่า ผู้ป่วยชอบผู้หญิง ซึ่งหากผู้ป่วยมีแฟนเป็นเพศชาย ผู้ป่วยอาจไม่กล้าบอกข้อมูล และทำให้แพทย์ดูแลได้ไม่เหมาะสม

      3. วิธี Generalization

เทคนิคที่แนะนำและทำได้อย่างราบรื่นในการเริ่มซักประวัติเรื่องเพศ คือการกล่าวถึงอย่างทั่วไป โดยอ้างอิงว่าเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ในผู้ป่วยวัยหรือโรคใกล้เคียงกันกับผู้ป่วยที่แพทย์กำลังสนทนาในขณะนั้น เช่น

“คนเป็นเบาหวานหลายคน มักจะมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศด้วย ไม่ทราบว่าของคุณมีปัญหาหรือไม่”

 “ผู้สูงอายุหลายคน เจอปัญหาเรื่องช่องคลอดแห้ง ไม่ทราบว่าคุณเจอปัญหานี้บ้างไหม”

“ในวัยกลางคน เรื่องหนึ่งที่เจอได้คือความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ของคุณมีปัญหาอยากปรึกษาด้วยไหม”

      4. เลือกใช้คำที่ชัดเจน

แพทย์สามารถถามอย่างตรงไปตรงมาด้วยคำสุภาพเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน เช่น เพศสัมพันธ์ การสอดใส่ทางช่องคลอด เป็นต้น ไม่แนะนำให้ใช้คำอ้อม ๆ

เช่น “เรื่องอย่างว่า” หรือ “มีอะไรกัน” เพราะอาจเข้าใจผิด และสร้างความกระอักกระอ่วนในการคุยกัน

      5. เริ่มต้นจากคำถามปลายเปิด และยกตัวอย่างต่อท้าย

การซักประวัติเรื่องสุขภาพเพศ แม้จะเริ่มต้นถามด้วยคำถามปลายเปิด แต่ควรยกตัวอย่างให้ผู้ป่วยทราบว่าแพทย์หมายถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย เช่น “คุณมีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์/สุขภาพเพศหรือไม่ (เว้นช่วงสักครู่) เช่น เจ็บตอนสอดใส่ สอดใส่ไม่ได้ อารมณ์ทางเพศลดลง” ก็จะทำให้ผู้ป่วยกล้าพูดมากขึ้น

 

          สรุปอีกครั้งกับ 5 เรื่องที่จะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถนำไปใช้เริ่มต้นในการซักประวัติเรื่องสุขภาพเพศของผู้ป่วย

1. ขออนุญาต

2. ใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศ

3. วิธี Generalization

4. ใช้คำที่ชัดเจน

5. ถามปลายเปิด และยกตัวอย่างต่อ

 

          แม้แพทย์อาจยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวเรื่องสุขภาพเพศอย่างไร แต่เพียงเริ่มต้นซักประวัติอย่างองค์รวมก่อน ก็ถือว่าเป็นการช่วยดูแลเรื่องเพศให้กับผู้ป่วยแล้ว เพราะเรื่องเพศยังคงเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตหลาย ๆ คน แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเวชปฏิบัติอยู่มากในการพูดคุยปรึกษาเรื่องนี้ อุปสรรคทั้งจากทางแพทย์และผู้ป่วยเอง

        เมื่อได้รับทราบความกังวลของผู้ป่วย หากเกินความสามารถของแพทย์อาจพิจารณาส่งต่อพบผู้เชี่ยวชาญต่อไป หรืออาจกลับมาทบทวนความรู้ความเข้าใจอีกครั้งเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยในประเด็นนี้ในครั้งต่อไป

 

 

 

บทความโดย อ.พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ

Updated on 15th August 2021

 

ภาพหน้าปก โดย นางสาวมณีนุช กาเซ็มตีมะ