นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

อิ่มบุญ อิ่มใจ ไหว้พระปีใหม่ที่วัดท่าซุง

Volume
ฉบับที่ 47 เดือนมกราคม 2566
Column
Camera Diary
Writer Name
นันทิตา จุไรทัศนีย์

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่าน @Rama ทุกท่านค่ะ คอลัมน์ Camera Diary ในฉบับนี้ขอพาท่านผู้อ่านเปิดศักราชใหม่ด้วยการไปอิ่มบุญ อิ่มใจ ไหว้พระปีใหม่ที่วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานีกันค่ะ

วัดท่าซุงหรือวัดจันทาราม เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและงดงามของเมืองอุทัยธานี พัฒนาและเป็นที่รู้จักเมื่อพระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียง ได้สร้างอาคารต่าง ๆ มากมาย ซึ่งตั้งมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 30 ปี (ประมาณปี พ.ศ. 1863) ในยุคต้นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คำว่า “วัดจันทาราม” ชื่อนี้ตั้งตามชื่ออดีตเจ้าอาวาสชื่อ

“จันท์” (ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นายทหารชื่อ “จันท์” มียศถึงพระยา กลับจากศึกเชียงใหม่มาตามหาภรรยาไม่พบเลยมาบวชที่วัด ต่อมาเป็นสมภารเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดจันทาราม” ตามชื่อท่านสมภาร) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรานิยมเรียกว่า “วัดท่าซุง” เพราะในอดีตจังหวัดอุทัยธานีมีป่าไม้มากจึงมีการขนส่งท่อนซุงมาลงท่าน้ำ เพื่อผูกเป็นแพล่องไปตามแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านวัดท่าซุงค่ะ

นำเที่ยววัดท่าซุง

วัดท่าซุงโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สวยงามมากมายค่ะ เริ่มต้นด้วย 

มหาวิหารแก้ว 100 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาเป็นจตุรมุข 3 ยอด ด้านนอกด้านใน ปิดกระจกจากชั้น 2 ถึงยอดหลังคา ภายในปิดกระจกเสาทุกต้น ข้างฝาและเพดานทั้งวิหาร เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน (ทรงพุทธชินราช) รูปปั้นพระอรหันต์ 7 องค์ เพดานวิหารมีช่อไฟระย้าทั้งช่อใหญ่และช่อเล็กรวมทั้งหมด 119 ช่อ และเป็นที่ไว้พระศพองค์หลวงพ่อ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง) 

ในทุก ๆ วัน มหาวิหารแก้ว 100 เมตร เป็นสถานที่ใช้เป็นที่ฝึกกรรมฐานค่ะ ในช่วงวันปกติ เปิดเวลา 9.00 - 11.45 น. และ 14.00 - 16.00 น. และทำวัตรเย็นเจริญกรรมฐาน เวลา 17.00 - 18.45 น.

วิหารหลวงพ่อ 5 พระองค์ เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อ 5 พระองค์ ตั้งอยู่ฝั่งริมแม่น้ำสะแกกรัง ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นที่นิยมในการกราบไหว้และบนบานเป็นอย่างมากค่ะ

หลวงพ่อ 5 พระองค์ ประกอบด้วย
1. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
2. หลวงปู่ใหญ่ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์แรก
3. หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
4. หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค 
5. หลวงพ่อพระราชพรหมยา (พระมหาวีระ ถาวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง มรณภาพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2535

 ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก) ตกแต่งด้วยทองคำตระการตา สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสวยราชย์เป็นปีที่ 50  และทางสำนักพระราชวังได้ให้ชื่อปราสาททองคำใหม่ว่า “ปราสาททองกาญจนาภิเษก” 

ปราสาททองคำ ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับลวดลายไทยปิดทองคำเปลวติดกระจกด้วยฝีมือที่ประณีตงดงาม เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 มีซุ้มพระยืน 8 ศอก ประดิษฐานบนยอดปราสาท โดยพระสามารถ ฐานิสฺสโร เป็นผู้ออกแบบและสร้างซุ้มพระทั้งหมด (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และควบคุมการก่อสร้างตลอดจนการตกแต่งต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ออกแบบปราสาททองคำมี 3 ชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอดเป็นยอดเท่า ๆ กัน 36 ยอด ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และยอดตรงกลางเป็นยอดใหญ่ 1 ยอด ส่วนบนสุดของปราสาท สร้างพระพุทธรูปปางลีลาขนาด 8 ศอก 1 องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีบันไดขึ้นทั้ง 4 ทิศ 

ปราสาททองคำ เปิดเวลา 8.00 – 16.00 น.

พระวิหารสมเด็จองค์ปฐม ตั้งอยู่ถัดจากวิหารแก้ว 100 เมตรมาไม่ไกลค่ะ โดยที่นี่ภายในจะประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐมให้สักการะบูชา เป็นพระหล่อด้วยโลหะผสมทองคำ หนัก 87 กิโลกรัม หน้าตัก 4 ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของ “สมเด็จองค์ปฐม” วิหารทั้งหมดบุด้วยแก้วทั้งข้างนอกข้างในสวยงามมาก อีกทั้งยังมีจุดเสี่ยงเซียมซี และยกหินเสี่ยงทายอีกด้วยค่ะ

เวลาเปิด เช้า 9.00 – 10.30 น. และบ่าย 13.00 – 16.00 น. 

(วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ เปิดเวลา 9.00 – 16.00 น.)

การเดินทางไปวัดท่าซุง

รถส่วนตัว

 1. กรุงเทพฯ - ชัยนาท - วัดสิงห์ – วัดท่าซุง

จากกรุงเทพ ขับมาตามถนนสายเอเซีย ทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าชัยนาท ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวขวาผ่าน รพ.ชัยนาท วิ่งตรงไปประมาณไม่เกิน 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปทางสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดธรรมามูล แล้วขับรถตรงไปทางวัดปากคลองมะขามเฒ่า ผ่านสามแยกวัดสิงห์ แล้วเลี้ยวขวาไปทางวัดท่าซุงอีกประมาณ 12 กิโลเมตร

2. กรุงเทพฯ - มโนรมย์ – วัดท่าซุง

จากกรุงเทพ ขับมาตามถนนสายเอเซีย ทางหลวงหมายเลข 32 จนสี่แยกหางน้ำสาคร จังหวัดชัยนาท แล้วเลี้ยวซ้ายไป อำเภอมโนรมย์ สุดถนน 3212 เป็นแม่น้ำสะแกกรัง ให้เอารถขึ้นแพข้ามฟากไปฝั่งอุทัยธานี และขับต่อขึ้นไปตามถนน 3265 ประมาณ 4-5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัด

การปฏิบัติธรรมที่วัด

ถ้าเป็นช่วงวันธรรมดาที่วัดไม่ได้มีจัดงานสำคัญ สามารถมาพักที่วัดได้โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้ค่ะ

✔ พักที่วัดได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน (ในช่วงเข้าพรรษาจะมีให้พักปฏิบัติธรรม 3 เดือน โดยมีโรงครัวภายในวัด) และเตรียมเสื้อผ้าที่สุภาพมาให้เพียงพอ

✔ การมาพัก ติดต่อพระเจ้าหน้าที่ที่ศาลานวราช ในช่วงเวลาต่อไปนี้ ช่วงเช้า 9.00 – 10.30 น. ช่วงบ่าย 13.00-16.00 น. โดยแสดงบัตรประชาชนหรือใบขับขี่

✔ ที่พักเป็นห้องหลายจุดในวัด แยกชายหญิง มีห้องน้ำไว้บริการเพียงพอ

✔ ผู้มาปฏิบัติต้องรับผิดชอบอาหารของตนเอง โดยมีร้านอาหารอยู่หน้าวัด 

✔ ภายในวัดมีร้านสหกรณ์ของวัดจำหน่ายของใช้ของจำเป็น

✔ การทำวัตรเช้า เวลา 8.30 น. ที่ศาลานวราช ทำวัตรเย็น เวลา 17.00 น. ที่วิหาร 100 เมตร และสามารถฝึกกรรมฐาน ได้ทุกวันในเวลา 11.30 – 14.00 น.

✔ ในวัดมีรถบัสที่ดัดแปลงเป็นรถนั่ง 2 แถวหรือรถสามล้อเครื่องให้ใช้บริการตามสะดวก

✔ ห้ามดื่มเหล้าและเล่นการพนันรวมทั้งอบายมุขทุกอย่าง

✔ เคารพในสถานที่และทำตามระเบียบของวัดท่าซุงอย่างเคร่งครัด

 

สำหรับฉบับนี้ @Rama ขอให้ทุกท่านมีความสุขในปีกระต่ายตลอดปีและตลอดไปนะคะ พบกับใหม่ในฉบับหน้าค่ะ

ขอขอบคุณ

http://www.watthasung.com/home.php

https://www.paiduaykan.com/travel/วัดท่าซุง

https://travel.trueid.net/detail/aMldBynJ2nbM

 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 47