นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ส่งท้ายปี 2565 ฤ น้ำท่วมใหญ่ จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน ประเทศไทย

Volume
ฉบับที่ 46 เดือนตุลาคม 2565
Column
Camera Diary
Writer Name
นันทิตา จุไรทัศนีย์

  

 สวัสดีท่านผู้อ่าน @Rama ทุกท่านค่ะ ย่างเข้าปลายฝนต้นหนาวแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณน้ำฝนในฤดูที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำบนพื้นดินในตอนนี้มีมากมายมหาศาล หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่แล้ว หรือปลายปี 2565 เราจะส่งท้ายปีด้วยน้ำท่วมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศมีน้ำท่วมใหญ่หลายต่อหลายครั้ง วันนี้ @Rama จึงขอรวบรวมเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบันมาให้ผู้อ่านได้ทราบกันโดยสังเขปค่ะ

• พ.ศ. 2328

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม (ใหญ่) ครั้งแรกซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกนั้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จไม่นานนัก ในจดหมายเหตุที่ค้นพบเล่าอุทกภัยครั้งนั้นทำให้ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว นักวิชาการและนักเขียนด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุที่น้ำลึกขนาดนั้นว่าอาจเป็นเพราะสนามหลวงในช่วงเวลานั้นยังเป็นที่ลุ่ม ขณะที่สภาพของพระบรมมหาราชวังก็มีสภาพน้ำท่วมท้องพระโรง ระดับน้ำที่ท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานวัดได้ 4 ศอก 8 นิ้วทีเดียว

• พ.ศ.2374

ในรัชกาลที่ 3 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายนคราวนี้น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปี พ.ศ. 2328

• พ.ศ. 2485

เป็นอีกครั้งที่หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง น้ำท่วมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า สูงถึง 1.50 เมตร และท่วมนานถึง 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น สถิติส่วนหนึ่งจากระดับน้ำหน้ากองรังวัดที่ดินธนบุรี ระดับน้ำสูง 2.27 เมตร นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อมากักเก็บน้ำ 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485 / ที่มาของภาพ: silpa-mag
ปี 2485 น้ำท่วมไปเกือบทั่วกรุงเทพฯ / ที่มาของภาพ: silpa-mag
หัวลำโพงปี 2485 มีทั้งรถไฟ และเรือพาย (ภาพจาก “ประมวลภาพเหตุการณ์น้ำท่วม พุทธศักราช 2485”) / ที่มาของภาพ: silpa-mag

• พ.ศ.2526 

น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากพายุดีเปรสชัน 2 ลูก พัดผ่านเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักจนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่รองรับปริมาณน้ำฝนรับไม่ไหว จนเกิดเป็นน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก รวมเป็นหลังคาบ้านเรือนที่พักอาศัยกว่า 5,000 หลัง จากนั้นเกิดน้ำทะเลหนุน น้ำท่วมเข้า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดน้ำท่วมขัง รถยนต์ไม่อาจจะสัญจรวิ่งได้ตามปกติ

• พ.ศ.2554

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 หรือที่เรียกกันว่า มหาอุทกภัย เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท อุทกภัยครั้งนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ”

ที่มาของภาพ:  งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ ประวัติศาสตร์ชาติไทยและข่าวสาร

3 ปัจจัยเกิดอุทกภัยปี 2554

1. ปัจจัยธรรมชาติ :

  • พายุปี 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งหมด 5 ลูก เริ่มจากเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนตุลาคม
  • น้ำในเขื่อนและปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบายน้ำทำไม่ได้เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม
  • น้ำทะเลหนุนในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า

2.    ปัจจัยทางกายภาพ :

  • พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติลดลง
  • ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีปัญหา คือ ศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์
  • สะพานหลายแห่งที่มีตอม่อขนาดใหญ่ขัดขวางทางน้ำ
  • สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำขัดขวางการระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว

3.    ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ :

  • พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่าง เช่น บึงบอระเพ็ด ขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุน้ำลดลง
  • การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ
  • คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้    

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2554 มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือนหรือราว 13.4 ล้านคน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.2 ล้านไร่

สภาพบริเวณแยกอรุณอัมรินทร์ / ที่มาของภาพ: AFP
ทหารนำรถหุ้มเกราะออกมาใช้ / ที่มาของภาพ: GETTY IMAGES
สนามบินดอนเมืองเป็นอีกสถานที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก / ที่มาของภาพ: AFP

 สัญญาณความเสี่ยงในประเทศไทยที่ปี 2565 จะเผชิญอุทกภัย มีดังนี้

• ค่าดัชนีชี้วัดอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทร ONI

ค่าดัชนีชี้วัดอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตร ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เริ่มบ่งชี้ภาวะลานีญามาต่อเนื่อง ซึ่งมีความหมายว่าอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณฝนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีฯ ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ -1.1 แสดงถึง ภาวะลานีญาในระดับปานกลาง


เอลนีโญ - ลานีญา : ปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูอากาศของโลก

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ “เอลนีโญและลานีญา” (El Niño , La Niña ) กันมาบ้างแล้ว แต่ยังคงสับสนกับปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา มีกระแสลมหรือเรียกว่าลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวมานั้นเกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก ตามลำดับ

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ

เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

ปรากฏการณ์ ลานีญา

เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้


• คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในประเทศ

ในปี 2565 มีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนมากกว่าระดับปกติ 3%  ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าปี 2564 แต่ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติจะเติมปริมาณน้ำในเขื่อนให้สูงขึ้น

• ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง

ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ปริมาณน้ำทั้งหมดในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่ 56.5% ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงสุดในรอบ 3 ปี และสูงกว่าปี 2554 (ปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่) ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 55% 

• ปริมาณพายุ

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทย ในปี 2565 จะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 2 ลูก โดยเคลื่อนที่ผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม สถิติปริมาณพายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยย้อนหลังพบว่ามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ลูกต่อปี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยที่ 2.6 ลูก

• อิทธิพลของพายุ 

นอกจากปริมาณพายุแล้ว ยังเผชิญความเสี่ยงจากอิทธิพลของพายุ ที่ถึงแม้จะไม่ได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่อาจจะสลายตัวในบริเวณประเทศเพื่อนบ้านหรือเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ สะท้อนจากค่าดัชนีสมุทรศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยมีแนวโน้มจะมีค่าเป็นลบต่อเนื่องถึงสิ้นปี สะท้อนถึงปริมาณฝนที่จะตกในประเทศเพื่อนบ้านและเข้าสู่ไทยมากขึ้น

สถานการณ์ที่น่าจับตามองและเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2565 นี้ยังมีอีกหลายสัญญาณความเสี่ยงที่ควรจับตามอง เช่น ภาวะน้ำทะเลหนุน หรือปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้น ฉะนั้นเราควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดการเตือนภัย และหลีกเลี่ยงความเสียหายจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุดค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เนื้อหาภายในฉบับที่ 46