เสาหลัก

เสาหลัก
Volume: 
ฉบับที่ 46 เดือนตุลาคม 2565
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
นายยุรนันท์ ภูโทถ้ำ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    

ในกุมภาพันธ์ของทุกปี

เป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยความสุขของการแสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใย ต่อคนที่เราปรารถนาดี ที่อยากให้มีความสุขไปกับเราในทุก ๆ วัน เป็นที่รับรู้โดยสากลทั่วโลกว่ากุมภาพันธ์นี้ เป็นเดือนแห่งความรัก ซึ่งมี Valentine’s Day วันสำคัญสำหรับคู่รัก ที่ได้มีช่วงเวลาดีดี ที่ได้ส่งมอบความรู้สึกให้แก่คนที่พิเศษ โดยมีสื่อกลางผ่านดอกกุหลาบ ดอกไม้ที่ใช้แทนความรู้สึกส่งไปถึงกันและกัน ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ ได้กำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางยุคโรมันและถูกส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยคนโบราณยุคนั้นได้มีความเชื่อเรื่องเทพคิวปิด เทพตัวน้อยถือคันธนู มีหน้าที่คอยยิงลูกศรรักให้ปักไปตรงกลางอกให้ใจสองใจแนบชิดกัน เกิดเป็นคู่รักพรหมลิขิตจากฟากฟ้า ถือเป็นเรื่องราวดีดีที่เล่าต่อกันมา มาถึงตรงนี้แล้ว นี่คงเป็นเดือนในฝันของใครหลาย ๆ คน เพราะมองไปทิศทางไหนทุกอย่างก็ถูกรายล้อมไปด้วยความรัก ทำให้หัวใจดวงน้อย ๆ ของใครหลายคนได้พองโต

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาคงไม่ใช่สำหรับเขาคนนี้ คนที่เหมือนมีลูกศรยิงปักตรงกลางหน้าอก อยู่ ๆ เขาก็รู้สึกเจ็บแน่นตรงหัวใจ บีบแน่นอย่างทรมาน ราวกับเหมือนมีเท้าช้างขนาดมหึมากำลังกดทับ เขาล้มตัวลงบนพื้น ในไม่ช้าเสียงหัวใจที่เคยดังสนั่นก็ได้หยุดนิ่งลง สำหรับเขานั้น ณ เวลานี้ โลกทั้งใบได้หยุดหมุนไปในชั่วขณะ แสงที่ส่องสว่างรอบตัวบัดนี้เปลี่ยนเป็นความดำมืดสนิท ถ้าสิ่งที่ปักตรงกลางอกเขาไม่ใช่ความรู้สึกของลูกศรคิวปิดแต่กลับเป็นตรีศูลจากเทพซูสที่แสนเจ็บปวดและทรมาน ถ้าเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของชีวิตเขา การบอกลาคนรักก่อนลาจากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มีโอกาสทำได้ เดือนนี้คงเป็นความโหดร้ายที่สุดที่โลกใบนี้ได้มอบให้กับเขาแล้ว แต่ถึงอย่างไรเดือนนี้ยังคงเป็นกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ที่ทุกคนมีโอกาสกลับมามีหัวใจที่พองโตได้อีกครั้งเสมอ

23 กุมภาพันธ์ 2563 ช่วงเวลายามเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์

ขณะกำลังเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสองของหอพักนักศึกษา 2 ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งสามารถมองผ่านกระจกใสเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่อาคารนันทนาการและศูนย์การกีฬาได้อย่างชัดเจน ทันใดนั้นได้สังเกตเห็นปฏิกิริยาบางอย่างของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งกึ่งวิ่งกึ่งเดิน พร้อมเรียกวิทยุสื่อสารกันสนั่นหวั่นไหว จึงมองรอดผ่านช่องกระจกบริเวณบันได พบว่า มีชายวัยกลางคนนอนแน่นิ่งบนทางเดินเท้าบริเวณด้านหลังตึกหอพักนักศึกษา 2 เยื้องด้านหน้าทางเข้าอาคารนันทนาการและศูนย์กีฬา พร้อมกันนั้นก็ได้ยินเสียงตะโกนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า

“มีคนเป็นลม ๆ”

แต่จากประสบการณ์เท่าที่ประเมินด้วยสายตาพบว่าชายคนนั้นนอนแน่นิ่งเกินกว่าคนเป็นลมทั่ว ๆ ไป ในเสี้ยววินาทีก็ได้ตัดสินใจวิ่งลงไปเพื่ออยากประเมินอาการให้แน่ชัดและได้ช่วยเหลือให้ทันท่วงที ในหัวก็ภาวนาอย่าให้สิ่งที่กำลังหวั่นใจเกิดขึ้นกับชายคนนี้เลย ระหว่างทางได้เจอน้อง ๆ นักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์กลุ่มหนึ่ง ก็เรียกให้วิ่งไปด้วยกัน ซึ่งภายหลังนักศึกษากลุ่มดังกล่าวนี้ได้เป็นกำลังสำคัญหลักในการเข้าช่วยผู้ป่วยรายนี้ไว้ เพียงอึดใจเดียวก็วิ่งมาจนถึงตัวผู้ป่วย ครั้งแรกที่พบก็รับรู้ได้เลยว่าสิ่งที่กลัวมาโดยตลอดก็ได้เกิดขึ้นกับเขาชายวัยกลางคนผู้นี้แล้ว ภายในจิตใต้สำนึกคิดแค่ว่า

“เรามีเวลาเพียง 4 นาทีเท่านั้น ที่จะคว้า 1 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่นี้ไว้ได้”

ในเสี้ยววินาทีที่รู้ว่ามีคนหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น นอนแน่นิ่งอยู่ตรงหน้า เสียงความคิดนี้ก็ดังกึงก้องขึ้นมาทันที ชั่วขณะร่างกายก็ได้ตอบสนองไปเองโดยไม่รู้ตัว นั่งคุกเข่าลงข้างลำตัวผู้ป่วย พร้อมกับใช้มือสองข้างเอื้อมไปตบไหล่เรียกผู้ป่วยในทันที แต่ถึงกระนั้นก็ไร้ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา สายตาสองข้างของเราจ้องมองหน้าอกและท้องก็ไม่พบการขยับของทรวงอก หลังจากนั้นใช้สองนิ้วเลื่อนไปคลำชีพจรบริเวณคอ นับ 1-10 ภายในใจ ไม่ปรากฎจังหวะการเต้นของหัวใจเลยสักครั้ง จากการประเมินก็พบได้ทันทีว่าผู้ป่วยได้หัวใจหยุดเต้นอย่างแน่นอน จึงรีบตะโกนแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังทีมรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมทั้งแจ้งให้นักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์วิ่งไปนำเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ AED  (Automated External Defibrillator) จากอาคารนันทนาการในทันที

ไม่กี่อึดใจผู้คนแถวนั้นก็วิ่งกรูเข้ามาพร้อมยื่นมือช่วยเหลือ และทันใดนั้นได้ตัดสินใจลงมือเริ่มด้วยการทำ CPR (การกดนวดหน้าอกในผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน) โดยไม่ลังเล “หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า ถ้าหากพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น การช่วยเหลือที่เหมาะที่สุด คือ การกดนวดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการใช้เครื่อง AED เพื่อพยุงการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะสมองและหัวใจ หากการช่วยเหลือเกิดขึ้นด้วยความล่าช้าหรือผิดวิธี ก็จะส่งผลให้อวัยวะที่สำคัญเหล่านี้เกิดความเสียหายและเริ่มตายลงได้ จากการขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง” หลังจากนั้นก็เริ่มผันตัวเองรับหน้าที่เป็นผู้นำทีม (leadership)  ในการช่วยเหลือผู้ป่วยชั่วคราวก่อน ขณะรอทีมกู้ชีพขั้นสูงมาถึง โดยมีนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ช่วยกันกดนวดหน้าอก ณ จุดเกิดเหตุ (bystander CPR at scene) อย่างมีประสิทธิภาพ (high quality CPR)

เมื่อเครื่อง AED มาถึง ก็ทำการเปิดเครื่องและแปะแผ่นช็อกไฟฟ้าบริเวณหน้าอกผู้ป่วยตามรูปสัญลักษณ์ที่แสดงบนแผ่น หลังจากแปะแผ่นช็อกไฟฟ้าเครื่อง AED สำเร็จ พบว่าเครื่องแจ้งแนะนำให้ช็อก และให้กดปุ่มช็อกตรงไฟสีแดงบริเวณตรงกึ่งกลางเครื่อง โดยมีนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ได้กดไป 1 ครั้ง ก่อนกดช็อกได้ให้สัญญาณทุกคนโดยรอบว่า

“หนึ่งฉันถอย สองคุณถอย สามทุกคนถอย”  ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้เข้าช่วยเหลือไม่เสี่ยงต่อการถูกเครื่องช็อกไฟฟ้าไปด้วย

และในจุดเกิดเหตุเองมีบุคลากรและนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายท่าน จึงคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็สลับคนเริ่มทำ CPR ต่อในทันที โดยมีหนึ่งคนกดหน้าอกและอีกคนช่วยเปิดทางเดินหายใจแบบยกขากรรไกร (jaw thrust) หลังจากเวลาผ่านพ้นไป 2 นาที เครื่อง AED ก็แจ้งให้หยุดเพื่อประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจผู้ป่วยอีกครั้ง  ไม่นานเครื่องก็แจ้งแนะนำให้ช็อกและให้กดปุ่มช็อกตรงไฟสีแดงกึ่งกลางเครื่อง ในครั้งนี้ก็ยังคงเป็นนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์เช่นเคยที่กดไปอีก 1 ครั้ง โดยให้สัญญาณว่า “หนึ่งฉันถอย สองคุณถอย สามทุกคนถอย” และได้สลับเปลี่ยนตำแหน่งก่อนการเริ่มทำ CPR ครั้งต่อไปในทันที 

หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 นาที ผู้ป่วยเริ่มตื่นรู้สึกตัว โดยมีเสียงร้องคราง อือ ออ และขยับแขนปัดได้เล็กน้อย จึงแจ้งให้ทุกคนหยุดทำ CPR และประเมินอาการผู้ป่วยซ้ำ พบว่ามีชีพจรคืนกลับมา ในตอนนั้นใบหน้าทุกคนเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจและมีเสียงปรบมือแสดงการต้อนรับกลับมาการมีสัญญาณชีพอีกครั้งของผู้ป่วย ระหว่างนี้ไม่รอช้าได้ช่วยจัดท่าพักฟื้นในท่านอนตะแคง (recovery position) ขณะรอทีมกู้ชีพขั้นสูงมาดูแลรักษาในขั้นต่อไป หัวใจคนไข้ได้กลับมาเต้นพองโตอีกครั้ง ท่ามกลางความปิติยินดีของทุกคนที่มาช่วยเหลือ ที่แสดงออกผ่านทางสีหน้า ความรู้สึกในตอนนี้ สิ่งที่เคยหนักอึ้งเหมือนแบกภูเขาเอาไว้ ได้พังทลายหายไปชั่วพริบตา

ไม่นานรถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูงก็มาถึง ณ จุดเกิดเหตุ และได้เข้าประเมินพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในทันที หลังจากที่ผู้ป่วยได้ขึ้นรถพยาบาลและอยู่ในมือทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็ได้แต่ส่งยิ้มและกำลังใจให้ผู้ป่วยรอดปลอดภัย สามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ดังเดิม เมื่อได้มีเวลาพักหายใจก็ได้กลับมาย้อนดูเหตุการณ์ ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดในช่วงเวลาเพียง 5 นาที แต่ทำไมไม่รู้ในห้วงเวลาขณะช่วยผู้ป่วยอยู่นั้นกลับรู้สึกราวกับว่าเวลาได้เดินช้าและยาวนานมากเหลือเกิน ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ชัดเจนในทุกอณู แต่นี่คงไม่ใช่ประเด็นหลักสำคัญเท่าวันนี้ วันที่ทุกคนต่างร่วมมือกันช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์อย่างสุดความสามารถ แม้บางอย่างอาจเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้นั้น มันยิ่งใหญ่มหาศาลอย่างเทียบเป็นมูลค่าได้เลย เพราะนี่คือการได้ต่อลมหายใจให้กับอีกหนึ่งชีวิต

ไม่กี่เดือนต่อมา

พบว่ามีของฝากกล่องใหญ่จากชายคนหนึ่ง จ่าหน้าซองจดหมายขอบคุณถึงคนที่ได้ช่วยเหลือเขาไว้ในวันนั้น ภายในกล่องบรรจุผลไม้ประจำฤดูกาลไว้หลายชนิด ซึ่งเขาได้ฝากข้อความมาบอกว่า “ตอนนี้เขาได้ลาออกจากงานประจำแล้ว และผันตัวมาทำสวนผลไม้กับทางครอบครัวที่บ้าน ซึ่งเขามีความสุขมากกับชีวิต ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสมบูรณ์ ตอนนี้เขาได้เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนดูแลคนอื่น ๆ ภายในบ้าน เป็นเสาหลักของครอบครัวอย่างเต็มตัวแล้ว” เราในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตสูงสุดของชีวิตได้ ในฐานะครูผู้เคยถ่ายทอดความรู้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support: BLS) ให้แก่ผู้อื่น นี่เป็นความสำเร็จในจิตใจที่พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ได้ถ่ายทอดไปนั้นมีความหมายและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นที่ต้องการการช่วยเหลือนี้อย่างสูงสุด การมีความรู้แม้เพียงพื้นฐานสามารถประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ก็นำมาซึ่งผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ

4 เดือนต่อมาหลังจากเหตุการณ์นั้น

มีหนังสือเชิญ ส่งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เสนอให้เข้ารับรางวัล Health Emergency Response Outstanding Award (HERO Award) ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จากที่ได้เข้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในครั้งนั้น รางวัลอันทรงเกียรตินี้ ถือเป็นสิ่งย้ำเตือนใจให้ระลึกถึงวันที่เราเคยถวายสัตย์ปฏิญาณต่อ “พระบิดา” และยังคงยึดเป็นปณิธานของในการใช้ชีวิต รวมถึงการประกอบวิชาชีพมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ 

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง 
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 46