แนวทางการรักษามะเร็ง 7 วิธีในปัจจุบัน

Volume: 
ฉบับที่ 47 เดือนมกราคม 2566
Column: 
Health Station
Writer Name: 
รศ. นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    

มะเร็งถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยกว่า 100,000 คนต่อปี แม้จะป้องกันสักแค่ไหน ตัวเลขผู้ป่วยก็ยังคงสูงอยู่ ซึ่งนอกจากการดูแลป้องกันแล้วการรักษาก็สำคัญไม่แพ้กัน โชคดีที่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมาก ทำให้มีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งมากมาย โดยแบ่งได้ 7 แนวทางด้วยกันดังนี้

1. การรักษาด้วยการศัลยกรรม คือ การผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดส่องกล้อง การผ่าตัดโดยใช้ความเย็น การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดโดยใช้ความร้อน การรักษาด้วยแสง

 

2. การรักษาด้วยรังสีรักษา การใช้รังสีรักษาไปทำลายเซลล์มะเร็ง แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ External Beam หรือการฉายแสงหรือฉายรังสี โดยเป็นการรักษาจากภายนอกไปยังอวัยวะของร่างกายที่เป็นมะเร็ง และ Internal radiation therapy ทำได้โดยการฝังแร่ หรือกินยาที่เป็นสารกัมมันตรังสีเข้าไป แล้วแร่หรือยานี้จะปล่อยกัมมันตรังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งที่อวัยวะเป้าหมาย

3. การรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่าการทำคีโม คือ การใช้ยาเข้าไปหยุดหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยมากการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดนี้ มักทำร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ยามุ่งเป้า หรือรังสีรักษา

4. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า โดยมุ่งเป้าให้ยาเข้าไปจัดการเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยศึกษาลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น แล้วหายาที่ตรงกับเซลล์นั้นที่สุด โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ Small-molecule drugs เป็นยาที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเป็นพิเศษ สามารถแทรกผ่านเยื้อหุ้มเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งจากภายในได้ อีกตัวคือ Monoclonal antibodies คือโปรตีนสังเคราะห์ที่จะพุ่งเข้าไปจับกับเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายหรือเติบโตต่อไปไม่ได้

5. การรักษามะเร็งเฉพาะจุด เป็นการรักษาโดยใช้อุปกรณ์จี้ทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน หรือฉีดยาอุดกั้นเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง

6. การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด วิธีนี้เป็นการบำบัดโดยการสร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้สามารถเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้

7.การรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด คือการเพิ่มเซลล์ที่ร่างกายผู้ป่วยจะนำไปสร้างเซลล์เม็ดเลือดและภูมิคุ้มกันใหม่

มะเร็งสามารถรักษาได้ง่ายหากรู้ตัวเร็วและรักษากันตั้งแต่ต้น โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของแพทย์

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาภายในฉบับที่ 47