นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank

Volume
ฉบับที่ 34 เดือนกันยายน 2562
Column
Rama Update
Writer Name
ดนัย อังควัฒนวิทย์

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร
Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้จัดงานแถลงข่าว “ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) ต่อยอดงานวิจัยสู่การวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็ง” ขึ้น ณ ห้องประชุมท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ชั้น 5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ความสำคัญของการจัดตั้งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามกันได้เลยครับ

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร”  จัดตั้งขึ้นมาภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง  ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต และสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แรกเริ่มได้ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างชิ้นเนื้อมะเร็ง ชิ้นเนื้อปกติ  องค์ประกอบของเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เซรั่ม พลาสม่า ที่เหลือจากการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็ง แบบแช่แข็ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557  รวมจำนวนตัวอย่างทางคลินิกที่จัดเก็บไว้ในปัจจุบันมากกว่า 16,000 ตัวอย่างจากผู้ป่วยมะเร็งกว่า 2,000 ราย

“ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร”  มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งหวังให้เกิดการสนับสนุนทางด้านการศึกษาวิจัยเชิงลึกระดับชีวโมเลกุลด้านโรคมะเร็งร่วมกันระหว่างอาจารย์แพทย์คลินิกสาขาต่าง  ๆ  อาจารย์แพทย์นักวิจัย  และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเร่งพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและรักษาโรคแบบใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เพราะในปัจจุบันมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง  เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 3,500 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งแนวทางการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำ จำเป็นต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและในระดับคลินิก ซึ่งใช้เงินงบประมาณในการวิจัยสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงขึ้น จัดตั้งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจรขึ้นนั้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกที่เหลือจากขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษามะเร็ง ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อการพัฒนารูปแบบการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบใหม่ได้เองในอนาคต ทั้งยังเพื่อเป็นการจัดระเบียบการเก็บตัวอย่างทางคลินิกและข้อมูลชีวภาพของผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีระบบ  ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางพยาธิโมเลกุลโรคมะเร็งแบบสหสาขา ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางคลินิกที่ได้จากทะเบียนมะเร็งรามาธิบดีที่เชื่อมต่อกันโดยตรง

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank

การดำเนินการของธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจรในเฟสที่ 1 ได้เริ่มต้นเก็บตัวอย่างทางคลินิกจากผู้ป่วยที่ยินยอมเข้าโครงการรายแรกในปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนชิ้นเนื้อมะเร็งสด ชิ้นเนื้อปกติ ชิ้นเนื้องอก องค์ประกอบของเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่เหลือจากขั้นตอนการวินิจฉัยรักษามะเร็งของผู้ป่วย ซึ่งแช่แข็งไว้รวมกันมากกว่า 16,000 ตัวอย่าง จากผู้ป่วยกว่า 2,000 ราย โดยมีแพทย์สาขาต่าง ๆ เข้าร่วมช่วยเก็บจาก 8 ภาควิชา งานวิจัยสำคัญภายหลังจากธนาคารชีวภาพเกิดขึ้น คืองานวิจัยเพื่อหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง (cancer biomarker) และผลงานวิจัยสำคัญคือการค้นพบตัวบ่งชี้การเกิดมะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ เป็นครั้งแรกในโลก ส่วนการดำเนินงานในเฟสที่ 2 นั้น ได้นำเซลล์ที่ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งสดของผู้ป่วยมาพัฒนาต่อยอดเป็นโมเดลออร์แกนอยด์มะเร็ง  (cancer  organoid)  ลักษณะเป็นสามมิติเหมือนก้อนเนื้อเยื่อจำลองขนาดเล็กและสามารถคงคุณสมบัติทางชีววิทยาได้ใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อมะเร็งในผู้ป่วยจริง  ออร์แกนอยด์ถูกใช้เป็นโมเดลของโรคมะเร็งเพื่อการศึกษาความรุนแรงของโรค การค้นพบตัวยาใหม่ และการทดสอบประสิทธิภาพของตัวยาแทนตัวผู้ป่วย  การใช้โมเดลมะเร็งออร์แกนอยด์สามมิติเพื่อทำนายการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย  จะช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการรักษามะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำ  ปัจจุบันมีการสร้างโมเดลออร์แกนอยด์จากเนื้อเยื่อมะเร็งมีหลายชนิด  เช่น  มะเร็งลำไส้ใหญ่  มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank
 

นอกจากนี้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการสร้างโมเดลมะเร็งออร์แกนอยด์สามมิติคือ การค้นหาสูตรน้ำยาเลี้ยงเซลล์ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของออร์แกนอยด์  น้ำยาสำหรับออร์แกนอยด์ของมะเร็งแต่ละชนิดมีสูตรที่แตกต่างกัน  ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรน้ำยาและระบบการเลี้ยงเซลล์สำหรับการผลิตออร์แกนอยด์จากเนื้อเยื่อมะเร็งจอประสาทตาของผู้ป่วยเด็กที่เก็บในธนาคารชีวภาพฯ  ทำให้ประเทศไทยเป็นที่แรกในโลกที่มีการสร้างโมเดลออร์แกนอยด์ของมะเร็งจอประสาทตาสำเร็จ ทั้งนี้ ทางธนาคารชีวภาพฯ ยังผลิตและเก็บสะสมออร์แกนอยด์ของมะเร็งหายากและมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ ออร์แกนอยด์มะเร็งสมองในเด็ก ออร์แกนอยด์มะเร็งเต้านม ออร์แกนอยด์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยได้ปรับสูตรน้ำยาเลี้ยงเซลล์ให้มีราคาถูกลงและเหมาะสมกับเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยไทย  โมเดลออร์แกนอยด์มะเร็งสามมิติที่ถูกสร้างขึ้นและเก็บในธนาคารชีวภาพฯนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งของประเทศในอนาคต

เนื้อหาภายในฉบับที่ 34