สวนผักรักษาใจ

Volume: 
ฉบับที่ 47 เดือนมกราคม 2566
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
นางสาวศมนันท์ ศรีสุปรีชา หอผู้ป่วยหลังทำหัตถการหัวใจ งานการพยาบาลห้องผ่าตัดและวิกฤติ ฝ่ายการพยาบาลศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในช่วงเย็นของวันศุกร์หลังจากลงเวรเช้าด้วยความเหนื่อยล้า เมื่อถึงหอพัก คุณแม่บ้านหอแจ้งว่ามีของฝากจากต่างจังหวัดแถบภาคอีสาน ฉันรู้สึกแปลกใจเพราะฉันไม่มีญาติหรือคนรู้จักที่สนิทอยู่แถบนั้นเลย ทันทีที่เปิดกล่องดู เห็นจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง พร้อมข้อความที่เขียนด้วยความบรรจงว่า “ของฝากจากสวนลุงเอง ผักปลอดสารพิษทั้งนั้น โดยเฉพาะผักคะน้าของโปรดคุณพยาบาลทานให้อร่อยนะครับ”

ความเหนื่อยล้าในตอนนั้นพลันจะลดลง ความรู้สึกแปลกใจแปรเปลี่ยนไปเป็นดีใจที่ได้รับข่าวคราวจากลุงมั่นและประทับใจที่ลุงมั่นจดจำรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ว่าฉันชอบทานผักคะน้า และท้ายสุดรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณอยู่ลึก ๆ ในใจ ในกล่องพัสดุนั้นนอกจากจะมีผักคะน้าแล้ว ยังมีผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ มะนาว ฟักทอง พริกขี้หนูสวน มะละกอ รวมถึงน้ำปลาร้าของนักร้องชื่อดังท่านหนึ่งและสุดท้ายคือมะขามเปียก 

ฉันนั่งมองสวนผักน้อย ๆ ของลุงมั่นแล้วอดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เหตุการณ์วันนั้นผุดขึ้นมาในความทรงจำ...วันนั้นฉันขึ้นเวรบ่าย ตอนต้นเวรฉันเตรียมความพร้อมเพื่อรับผู้ป่วยกลับจากการทำหัตถการหัวใจ ได้รับข้อมูลว่าผู้ป่วยชื่อนายมั่น มาด้วยอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ได้รับการสวนหัวใจเรียบร้อยแล้วผลหลอดเลือดปกติดี แต่มีลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อยร่วมกับภาวะน้ำเกิน ได้รับยาขับปัสสาวะ 20 มิลลิกรัม เข้าทางหลอดเลือดดำเวลา 16.15 น. และแพทย์ได้ถอดสายสวนหลอดเลือดที่ขาออกแล้ว จนครบแล้วลุกเวลา 22.15 น. ให้นอนพัก 1 คืน ผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสุขภาพนอกเขต

เมื่อผู้ป่วยมาถึงที่วอร์ดและนอนพักที่เตียงเรียบร้อยแล้ว ฉันได้แนะนำตนเองในฐานะพยาบาลเจ้าของไข้ “สวัสดีค่ะ” “หนูชื่อนันท์ เป็นพยาบาลเจ้าของไข้คุณลุงนะคะ” ฉันแนะนำตัวพร้อมส่งยิ้มทักทายด้วยความเป็นมิตร “คุณลุงชื่ออะไรคะ?” “ผมชื่อมั่น...ครับ” คุณลุงแนะนำตัวเองพร้อมนามสกุล ลุงมั่นเป็นชายวัยกลางคนผิวสีคล้ำ ผมเริ่มมีสีเทา แซมประปราย ใบหน้าสี่เหลี่ยมมีโหนกแก้มเด่นชัด คิ้วหนา หน้าผากย่นเห็นเป็นริ้วรอยและคิ้วที่ขมวดเข้าหากัน ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความเครียดที่สะสมมานาน “ตอนนี้คุณลุงมานอนพักสังเกตอาการที่หอผู้ป่วยหลังทำหัตถการหัวใจ ต้องนอนพัก 1 คืนนะคะ พรุ่งนี้ถึงให้ญาติมารับกลับบ้านได้ค่ะ” 

ฉันอธิบายให้ลุงมั่นทราบ เมื่อฉันพูดจบลุงมั่นตอบกลับมาด้วยเสียงที่ดังมาก จนฉันตกใจ “ลุงไม่นอนค้าง ลุงขอกลับบ้านตอนสามทุ่มได้ไหม เพราะลุงนัดเพื่อนให้มารับและขออาศัยรถเขากลับบ้าน จะได้ประหยัดเงินค่ารถ” ฉันนิ่งไปชั่วครู่ จากนั้นขยายความและอธิบายเพิ่มขึ้นให้ลุงมั่นทราบ... 

 “คุณลุงคะ แผลที่ขาหนีบอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เลือดออกได้นะคะ คุณหมอให้คุณลุงนอนพัก 1 คืน เพื่อความปลอดภัยค่ะ และตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาวะน้ำเกินที่ยังต้องเฝ้าระวังอีกด้วย แล้วพรุ่งนี้ต้องเอกซเรย์ปอดอีกครั้งก่อนกลับบ้าน” ลุงมั่นตอบทันทีว่า “แต่ลุงไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่านอนโรงพยาบาลนะลูก และลุงก็ไม่ได้เตรียมตัวมานอนค้างด้วย” 

ท่าทางลุงจะต้องกลับให้ได้ในคืนนี้ พร้อมทำท่าพยุงตัวเองขึ้นจากเตียงนอน ฉันขยายความเพิ่มอีก 

 “คุณลุงมั่นใช้สิทธิบัตรทองนี่คะ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกไม่มาก เพื่อความมั่นใจว่าหลังทำจะปลอดภัย ลุงจึงต้องนอนค้างโรงพยาบาล 1 คืนนะคะ” เมื่อสิ้นสุดคำพูดนั้น ตอนนั้นฉันสังเกตได้ว่าลุงมั่นมีสีหน้าเคร่งเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวดเข้าหน้ากันจนเป็นร่องชัดเจน ท่าทางเงียบขรึมทันทีไม่โต้ตอบเหมือนในใจกำลังครุ่นคิดอะไรอยู่ แสดงให้เห็นว่ามีความไม่สบายทั้งกายและใจเลยทีเดียว ฉันจึงขอตัวออกมาทำงานต่อเพื่อให้ลุงมั่นได้มีเวลาพักผ่อน เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง ฉันจึงหาโอกาสเข้าไปดูแลลุงมั่นอีกครั้ง เมื่อประเมินอาการและได้พูดคุยเพื่อให้ลุงคลายความเครียด ตอบข้อซักถามและให้คำปรึกษาทั้งปัญหาสุขภาพและอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาของผู้ป่วยรายนี้ 

อีกทั้งได้รู้ว่าบ้านลุงอยู่จังหวัดศรีสะเกษ ทำนาทำสวนอยู่กับภรรยาและหลานชายหญิง ซึ่งเป็นลูกของลูกสาว เรียนอยู่ชั้น ป.4 และ ป.3 ตามลำดับ ลูกสาวฝากเลี้ยง โดยส่งเงินมาให้บ้าง รายได้หลักได้มาจากการทำนาทำสวน ปลูกผักขายเลี้ยงชีพ ช่วงปีนี้สุขภาพร่างกายของลุงไม่แข็งแรงเหมือนเช่นเคย ช่วยป้าหาเงินได้ไม่มากอีกทั้งครั้งนี้ยังมาป่วยอีก เล่าเสร็จ ลุงมั่นก็ถอนหายใจออกมาเสียงดัง “เฮ้อ!” ชีวิตคนเราก็แค่นี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด “ชีวิตลุงก็เหมือนกระทิงแดง ชีวิตต้องสู้” พร้อมยกมือชูสองนิ้วให้กำลังใจตนเอง ฉันได้ยินวลีเด็ดของลุงมั่นแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในความเป็นคนสู้ชีวิต ไม่ท้อแท้ คิดบวกกับชีวิตเสมอ ฉันได้บอกกับลุงว่า 

“ถ้าหนูมีโอกาส จะปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองบ้าง โดยเฉพาะผักกวางตุ้ง กะหล่ำ ผักคะน้าทานกับน้ำพริก อร่อยมาก ๆ เลยค่ะ” ฉันคุยกับลุงเกือบครึ่งชั่วโมง เห็นได้ชัดว่าสีหน้าของลุงมั่นตอนนี้ดูผ่อนคลายและสบายใจขึ้น สังเกตจากรอยยิ้มบนใบหน้าของลุง ฉันจึงขอตัวออกมาทำงานต่อและลงเวรตอนห้าทุ่มครึ่ง พักผ่อนเพื่อเตรียมขึ้นเวรเช้าวันถัดไป

...เช้าแล้ว ฉันขึ้นเวรประมาณ 6.45 น. ฉันเข้าไปทักทายลุง “สวัสดีค่ะ ลุงมั่น เมื่อคืนพักหลับได้ดีไหมคะ” ลุงมั่นตอบ “หลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นห่วงเรื่องเงินไม่รู้จะพอจ่ายไหม เช็กให้ลุงหน่อยนะว่าต้องจ่ายเท่าไหร่” 

ฉันรับคำและรีบออกมาดำเนินการเตรียมสรุปและจำหน่ายลุงมั่นกลับบ้าน 

“ลุงมั่นต้องจ่ายเพิ่มอีก 620 บาทค่ะ” ฉันแจ้งยอดค่าใช้จ่ายให้ลุงมั่นทราบ สีหน้าลุงมั่นดูเคร่งเครียดอีกแล้วจนฉันสังเกตได้ ฉันเดินออกมานอกห้องและมองผ่านประตูกระจก เห็นลุงหยิบกระเป๋าสตางค์ใบเก่าที่ขาดเป็นรูขึ้นมา และเปิดนับเงินในกระเป๋ามีธนบัตรใบละร้อยบาทและยี่สิบบาทคละกันอยู่ ลุงมั่นนับอยู่หลายรอบ ต่อมาฉันเห็นลุงหยิบกระเป๋าหนังใบเก่าขึ้นมาและเริ่มต้นค้นหาของในกระเป๋าอีกครั้ง ซึ่งฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลุงค้นหาอะไร 

สุดท้ายลุงมั่นก็เทของทุกอย่างลงบนเตียง ได้ถุงเศษเหรียญ 3-4 ถุงนำมาเทรวมกัน เสียงของเศษเหรียญกระทบกันประกอบกับภาพที่นับเหรียญและนำมาเรียงกันเป็นแถว ๆ วางบนโต๊ะคร่อมเตียงจนเกือบครึ่งโต๊ะ ฉันมองภาพนั้น พลันน้ำตาก็รื้นคลอตาอย่างไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่ลุงมั่นไม่ต้องการนอนโรงพยาบาลเพราะกลัวเงินไม่พอ ฉันจึงตัดสินใจช่วยค่ารักษาและค่ารถเพื่อให้ลุงกลับบ้านได้ โดยใช้เงินส่วนตัวและสอบถามน้อง ๆ ในเวรว่าใครยินดีช่วยเหลือลุงบ้าง ฉันจำได้ว่า วันนั้นสามารถรวบรวมเงินได้ประมาณ 700 บาทและนำเงินไปมอบให้ลุงมั่น 

“ลุงคะ หนูและน้อง ๆ พวกเราช่วยลุงเป็นค่ารักษาและค่ารถกลับบ้านค่ะ” ลุงมั่นปฏิเสธพร้อมกับโบกไม้โบกมือทำท่าไม่รับเงิน “รับไว้เถิดค่ะลุงมั่น พวกหนูรับรู้ถึงปัญหาของลุงแล้ว เห็นใจจริง ๆ อยากช่วยเหลือลุงบ้างค่ะ” ลุงมั่นคงจะรับรู้และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและซึ้งใจที่พวกเรามอบให้ จึงได้แต่รับเงินไว้พร้อมยกมือไหว้จนฉันรับไหว้ลุงแทบไม่ทันเลยทีเดียว จบท้ายด้วยคำพูด “ขอบใจพวกหนู ๆ มากเลยที่เมตตาคนจนอย่างลุง” 

ระหว่างที่ลุงมั่นลงไปติดต่อการเงิน ฉันต้องไปจำหน่ายผู้ป่วยเตียง 3 กลับบ้าน เมื่ออธิบายการปฏิบัติตัวและให้บัตรนัดเรียบร้อยแล้ว คุณยายผู้เป็นญาติผู้ป่วยเตียง 3 เดินตามฉันออกมานอกห้องพร้อมจับแขนฉันและพูดว่า“ยายกับตา ขอสมทบทุนช่วยเหลือค่ารถด้วยนะจ๊ะ” พร้อมกับยื่นธนบัตร 500 บาท ให้ฉัน 1 ใบ “ยายฝากบอกลุงด้วยนะ เดี๋ยวนั่งรถไปพร้อมกันจะไปส่งให้ถึงหมอชิตเลย เพราะเป็นทางผ่านบ้านยายพอดี ยายคุยกับลูกไว้แล้ว” ยายบอกว่า “ยายได้ยินเรื่องทุกอย่างที่หนูคุยกับลุงมั่นแล้วรู้สึกสงสาร อะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไปคนไทยเหมือนกัน” ฉันได้แจ้งความประสงค์ของคุณยายให้ลุงมั่นรับรู้ ลุงเดินเข้าไปหาคุณตาคุณยายพร้อมยกมือไหว้ ตาของลุงมีน้ำตาคลออยู่รอบดวงตา ริมฝีปากคลี่ออก แย้มยิ้มออกมาเต็มที่ 

ฉันจึงพูดติดตลกว่า “ลุงมั่นได้เหรียญไปหยอดกระปุกให้หลานเยอะเลย” จากใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่แล้วก็ยิ้มกว้างขึ้นจนเกือบจะหัวเราะพร้อมกับเอามือเช็ดคราบน้ำตาทั้งสองข้าง “ฟ้าหลังฝนย่อมดีเสมอค่ะ คุณลุงมั่น สู้ ๆๆ นะคะ” ฉันกล่าวกับลุงมั่นขณะเดินมาส่งลุงมั่นกลับบ้าน “ขอบใจหนูนันท์มากนะลูก ลุงขอชื่อ ที่อยู่ของหนูหน่อยนะ ถ้ามีโอกาสลุงจะเก็บเงินมาคืนหนูให้ได้” “ไม่เป็นไรค่ะ พวกหนูยินดีค่ะ ขอให้ลุงกลับบ้านอย่างปลอดภัยนะคะ” ฉันส่งคุณตาเตียง 3 และลุงมั่นกลับบ้านโดยตามรถเข็นให้นั่ง ก่อนกลับลุงมั่นเหลียวกลับมามองพวกเราพร้อมโบกมือลา 

ฉันและน้อง ๆ พยาบาล...สวัสดีคุณตา คุณยายและลุงมั่นให้กลับบ้านโดยสวัสดิภาพ นี่ก็ 3 ปีแล้วซินะ ที่ฉันได้รับผักสวนครัวจากลุงมั่นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าลุงมั่นจะไม่ได้คืนในรูปของตัวเงิน แต่สิ่งที่ฉันได้รับนั้นคือ ผักปลอดสารพิษที่ลุงมั่นตั้งใจเก็บมาจากใจ แทนคำขอบคุณ ฉันสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของลุงมั่น ที่ส่งผ่านมาทางสิ่งของ สังเกตจากวิธีการบรรจุที่บรรจงห่อด้วยใบตองอย่างดีให้ผักชุ่มชื่นไม่เหี่ยวเฉา ให้ส่งถึงมือผู้รับด้วยหัวใจของนักสู้ชีวิต ฉันยังคงจดจำวลีเด็ดของลุงมั่นได้ดี “ชีวิตคนจนอย่างเรา ก็เหมือนเครื่องดื่มชูกำลังนั่นแหละ กระทิงแดง ชีวิตต้องสู้” ฉันปรารถนาจะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาจากการทำงาน ซึ่งฉันได้เรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วมนุษย์ยังคงรักและปรารถนาดีต่อกันอย่างยิ่ง แม้จะไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม 

ความรักและมนุษยธรรมยังมีอยู่จริงและจะคงอยู่อย่างยั่งยืน เรื่องราวจากการได้ดูแลลุงมั่นนี้ ส่งผลต่อฉันและน้อง ๆ ในด้านของทัศนคติและมุมมองใหม่ในวิชาชีพพยาบาลในการให้การดูแลผู้ป่วย 1 ราย ด้วยมิติจิตวิญญาณ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ฉันได้เรียนรู้อีกว่าอย่าด่วนตัดสิน เพียงเพราะภาพที่เห็นจากสายตา การรับฟังและความใส่ใจรวมถึงความเอื้ออาทรที่แสดงออกจะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับความช่วยเหลือและคลี่คลายไปในทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย 

เรื่องราวของลุงมั่น เปิดโอกาสให้ฉันและน้อง ๆ ในหน่วยงาน ได้ทบทวนและยกระดับคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย 

คุณค่าที่ได้รับ ไม่ได้อยู่ที่ “ผักสวนครัว” ของลุงมั่นที่มอบให้มา ทว่าอยู่ที่ “ความภาคภูมิใจ” ที่ยังคงตราตรึงในความรู้สึกของพวกเราทุกคน

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 47