นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ยารักษาสิว

Volume
ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563
Column
Rama RDU
Writer Name
ภญ.เบญญาภา เพชรปวรรักษ์ ภญ.ศุภาพิชญ์ แก้วลี งานเภสัชกรรมคลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยารักษาสิว

สิว เป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน เนื่องจากก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลและไม่มั่นใจ ปัจจุบันมียารักษาสิวหลากชนิด หลายรูปแบบในท้องตลาด ซึ่งมีการออกฤทธิ์และความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป

• สำหรับผู้ที่มีสิวไม่อักเสบหรือมีสิวอักเสบเพียงเล็กน้อย นิยมใช้ยาในรูปแบบทา โดยยาทาที่พบบ่อย ได้แก่

1. ยาทาที่มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบครีมหรือเจล ใช้ทาบาง ๆ ทั่วใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิว วันละ 1-2 ครั้ง เช่น benzoyl peroxide, adapalene, retinoic acid ผลข้างเคียงที่พบคือ ระคายเคืองผิวหนัง ผิวลอก แสบผิว หรือยา retinoic acid จะทำให้มีสิวเห่อมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยา อาการข้างเคียงเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการลดความเข้มข้นหรือลดระยะเวลาที่ทา ยากลุ่มนี้แนะนำให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย นอกจากนี้ยา retinoic acid ยังมีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์

2. ยาทาที่เป็นยาปฏิชีวนะ รูปแบบโลชั่นและเจล ตัวยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้รักษาสิว ได้แก่ clindamycin และ erythromycin ใช้ทาเฉพาะบริเวณที่มีสิวอักเสบ วันละ 2-3 ครั้ง ผลข้างเคียง คือ ผิวลอก ผิวบาง แสบผิว ในทางปฏิบัตินิยมใช้ยาทาปฏิชีวนะควบคู่ไปกับยา benzoyl peroxide เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา

• สำหรับผู้ที่มีสิวอักเสบหรือสิวตุ่มหนองจำนวนมาก อาจมีการใช้ยารับประทานร่วมด้วย ตัวอย่างยารับประทาน ได้แก่

1. ยารับประทานที่เป็นยาปฏิชีวนะ มักต้องใช้ยานานหลายสัปดาห์จึงจะมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อสิว ยาที่มีจำหน่ายได้แก่ tetracycline และ doxycycline แนะนำให้รับประทานหลังอาหาร เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียน ควรห่างจากนม แคลเซียม และวิตามินที่มีธาตุเหล็ก เนื่องจากทำให้การดูดซึมของยาลดลง หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ มีผลอาจทำให้ผิวไวต่อแสง จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย

2. ยารับประทานอื่น ๆ มักจะใช้ในผู้ที่มีสิวอักเสบรุนแรงเป็นจำนวนมาก ตัวยาที่มีจำหน่าย ได้แก่ isotretinoin ควรรับประทานหลังอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมและห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อทารก ดังนั้น สตรีที่ต้องการใช้ยานี้ต้องคุมกำเนิดตลอดการใช้ยาและอยู่ในการดูแลของแพทย์ ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ผิวแห้ง ปากลอก ผมร่วง ตาแห้ง ผิวไวต่อแสงจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดควบคู่กันด้วย แต่หากมีอาการมองเห็นไม่ชัด หรืออาการตาแห้งรุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ยังมียารักษาสิวที่เป็นยาฮอร์โมนรวม หรือยาคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนเพศก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้เกิดสิวได้ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนี้นิยมใช้ในสตรีที่มีสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ผลข้างเคียงที่พบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เลือดออกกะปริดกะปรอย อย่างไรก็ตามหากต้องการใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

จะเห็นว่าเพื่อให้การรักษาสิวด้วยยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลข้างเคียงที่อาจเกิด มีข้อควรระวังหรือคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมควบคู่เสมอ อีกทั้งเราควรดูแลทำความสะอาดผิวหน้าเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การสัมผัส แกะ เกาใบหน้า เพื่อลดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นการเกิดสิว
 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 38