Pandemic Endemic Epidemic และ Outbreak ระบาดยังไง? ต่างกันยังไงนะ?

Pandemic Endemic Epidemic และ Outbreak   ระบาดยังไง? ต่างกันยังไงนะ?
Volume: 
ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเด็นร้อนแรงที่สุดในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข คงหนีไม่พ้นเรื่องของการระบาดไปทั่วโลกของ COVID-19 ที่เมื่อช่วงต้นปี Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ได้แพร่กระจายออกจากประเทศจีน เข้าสู่ระดับ “Pandemic” แล้ว

นับแต่นั้นมา เราก็จะได้ยินคำว่า Pandemic มาตลอด หลายต่อหลายครั้งทางสื่อต่าง ๆ แต่ Pandemic นั้นเหมือนหรือต่างจากการระบาดที่เราคุ้นเคยอย่างไร  แรกสุดเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการระบาดนั้นมีถึง 4 ระดับด้วยกัน ได้แก่ ระดับที่ 1 เรียกว่า Endemic (โรคประจำถิ่น) อ่านว่า เอนเดม‘มิคฺ คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา ระดับต่อมาคือที่ 2 คือ Outbreak (การระบาด) อ่านว่า เอาท‘เบรคฺ  คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว เช่น การระบาดของไข้เลือดออกในปี 2562 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งต่อมา กลายเป็น Epidemic (โรคระบาด) อ่านว่า เอพพิเดม’มิคฺ ซึ่งเป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี 2557-2559 การระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีน และระบาดต่อมายังประเทศอื่นในทวีปเอเชีย ซึ่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ในช่วงแรกยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการก็ได้รับการเรียกขานว่า COVID-19 และค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ก็เป็นระดับการระบาดสูงสุด เรียกว่า Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) อ่านว่า แพนเดม’มิค เป็นลักษณะของการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของ COVID-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

คำประกาศของ WHO ที่ว่า COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก จึงไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโรค แต่เป็นการยกระดับสถานะคำเตือนและความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ คำประกาศการระบาดใหญ่มักใช้กับโรคโรคใหม่ที่ผู้คนยังไม่มีภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายไปทั่วโลกเกินการควบคุมและเกินความคาดหมาย

โดย WHO แบ่งนิยามเป็นสามเงื่อนไขคือ

  • โรคใหม่ที่เกิดในหมู่ประชากร
  • ติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ และส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยจนถึงชีวิต
  • เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และส่งผลกระจายเป็นวงกว้างหลายชุมชนในประเทศ หรือทั่วโลก

ส่วนอีกคำจำกัดความที่ปรากฏในตำรา “ระบาดวิทยา 101” ระบุว่า Pandemic หรือการระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้นเป็น “การระบาดของโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือในพื้นที่เป็นวงกว้างอย่างยิ่ง ข้ามเขตแดนระหว่างประเทศ และมักส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก” คำดังกล่าวมักใช้กับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และ “การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคไข้หวัดใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน” ภาวะการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและควบคุมไม่ได้ การระบาดในระดับนี้จะแพร่กระจายไปทั่วทุกทวีป และไม่สามารถคาดการณ์หรือควบคุมการระบาดของโรคได้ ทั้งโลกต้องเตรียมการรับมือให้ดี ซึ่งก็คือ สถานการณ์ปัจจุบันของ COVID-19 นั่นเอง และโรคอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในระดับนี้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ H1N1 และโรคเอดส์

แต่อย่างไรก็ดี หลังจากการแพร่ระบาดถึงขั้นสุงสุดของการระบาดแล้ว โรคระบาดเหล่านี้ ก็อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของทุกประเทศก็ได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญสองอย่างที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างคือ ความสามารถในการติดต่อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และการเดินทางของคน โดยเฉพาะเครื่องบิน เพราะสามารถนำโรคติดเชื้อไปยังพื้นที่ใหม่บนโลกภายในระดับชั่วโมง ส่วนการสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของบางโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” หรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนั่นเอง 

ระลอก 2 หรือ Second Wave ของ COVID-19 ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จริง แต่ระหว่างนี้ การปฏิบัติตัวตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขในเรื่อง ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง ยังคงเป็นวิถีปฏิบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งค่ะ 

อ้างอิง

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 38