รู้ทันอารมณ์

รู้ทันอารมณ์
Volume: 
ฉบับที่ 42 เดือนตุลาคม 2564
Column: 
Easy Living
Writer Name: 
รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    

ผ่านมาเกือบ 2 ปี กับการต่อสู้กับไวรัสชนิดใหม่ COVID-19 .. ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้สอนให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่าง .. มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดมาหลายพันปี ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เช่น โรคระบาดเกิดขึ้น มนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและเอาชนะโรคระบาดได้ทุกที จนทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน .. ทว่าในวงรอบชีวิตของคน ๆ นึงอยู่ได้ประมาณร้อยปี .. จึงไม่แปลกที่เราจะเจอโรคระบาดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ที่จะเอาชนะโรคร้ายด้วยการดูแลสภาวะทางใจ สำคัญไม่แพ้กับการรักษาทางกาย .. ปัจจุบันคนส่วนมากใช้ชีวิตอยู่ใน comfort zone ของตัวเอง อยู่กับสถานที่ คน สิ่งแวดล้อม งาน และกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคย เมื่อใดที่ความคุ้นเคยนั้นหายไป เปลี่ยนเป็นความยากลำบาก ความไม่สุขสบาย ไม่เคยชิน เมื่อนั้นความทุกข์จึงมาเยือน .. ใครจะคิดว่าช่วงหนึ่งในชีวิตของเราต้องอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ใส่หน้ากากเกือบตลอดเวลา กินข้าวห่างกัน หากป่วยก็ต้องป่วยอย่างเดียวดาย ไม่มีญาติมาเยี่ยม แม้เสียชีวิตก็ยังต้องเสียชีวิตอย่างเดียวดาย .. บางทีการที่คนกลัวการติดเชื้อ COVID-19 อาจเป็นเพราะหากป่วย ต้องป่วยอย่างเดียวดายมากกว่ากลัวการไม่สบายก็เป็นได้ 


    ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จะผ่านสภาวะอารมณ์ 5 ระดับ ได้แก่ การปฏิเสธ ไม่ยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้น (denial)  การโกรธหรือโมโห (anger) การต่อรอง (bargaining) ความซึมเศร้า (depression) การยอมรับ (acceptance) แนวคิดนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือเรื่อง On Death and Dying ในปี พ.ศ. 2512 โดย แพทย์หญิง Elisabeth Kübler-Ross จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน สภาวะอารมณ์ 5 ระดับมีชื่อเรียกว่า “5 stages of grief” หรือ “Kübler-Ross model” แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยใกล้ตายว่ามีแนวคิดอย่างไรหรือรับมือกับโรคอย่างไร แต่ปัจจุบันมีการนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การสูญเสียงาน การเลิกกับแฟน ผู้ป่วยแต่ละคนจะผ่านสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้โดยมีระยะเวลาแตกต่างกัน บางคนอาจจะถึงสภาวะยอมรับได้เร็วกว่าอีกคน หรือบางคนอาจไม่เคยถึงสภาวะการยอมรับเลยก็เป็นได้ เมื่อเข้าใจสภาวะอารมณ์ทั้ง 5 ระดับนี้แล้ว เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าเราจะช่วยดูแลผู้ป่วยเหล่านี้อย่างไร .. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ก็เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายรู้สึกวิตกกังวล กลัวคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัวจะติดเชื้อตามมา บางคนกลัวว่าถ้าเขาป่วย ใครจะดูแลคนที่บ้าน และมีจำนวนหนึ่งที่กลัวว่าโรคจะทำให้เขาป่วยหนักและเสียชีวิต การเสพข่าวที่เกินจริง การสร้างภาพให้น่ากลัวเพื่อขายข่าว ยิ่งทำให้ความเครียดและวิตกกังวลมากกว่าการป่วยเป็นโรคอื่น ๆ การใช้สติในการแปลความ การไม่ตระหนกตกใจจนเกินไป หาผู้ปรึกษาและช่วยเหลือยามเมื่อเจ็บป่วยน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ เนื่องจากโรคติดเชื้อชนิดนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน จากคนที่แข็งแรงดีกลายเป็นคนที่ต้องนอนป่วยอยู่บนเตียงบ้างก็ต้องดมออกซิเจน บ้างก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่สามารถลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันได้ และไม่มีญาติคอยดูแลอยู่ข้าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ไม่แพ้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังเพราะไม่เคยเตรียมใจมาก่อน ระยะเวลาที่ต้องปรับตัวก็สั้นกว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเลยที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย คราวนี้ลองมาดูกันว่าสภาวะอารมณ์ทั้ง 5 ระดับนี้มีความหมายอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ช่วยดูแลจิตใจและให้กำลังใจผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น

1. การปฏิเสธ ไม่ยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้น (denial) สภาวะอารมณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้เตรียมใจมาฟังข่าวร้าย โดยเฉพาะโรคที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคที่มีโอกาสต้องรักษาไปตลอดชีวิต เช่น โรคกลุ่มภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (autoimmune disease) สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยบางรายรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พอหมอแจ้งว่าเป็นโรคอะไร ผู้ป่วยบางรายไม่รับรู้ข้อความหลังจากนั้นอีกเลย หมออาจจะบอกต่อว่าพอมีหนทางรักษา แต่ใจตอนนั้นเศร้าไปแล้ว เลยปกป้องตัวเองด้วยการปฏิเสธ บางคนอาจคิดว่า “ผลการตรวจอาจจะผิด” “หมอไม่เก่งเลยวินิจฉัยผิด” “ฉันฟังผิด” ผู้ป่วยบางรายถึงกับเปลี่ยนหมอ และไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่นแทน กว่าจะได้รับการรักษาทำให้อาการของโรคแย่ลงไปอีก เพราะฉะนั้นการปฏิเสธข่าวร้ายจะมาพร้อมกับการสร้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนความคิดตัวเองที่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง

2. การโกรธหรือโมโห (anger) เมื่อยอมรับได้แล้วว่าเรื่องที่ได้รับรู้เป็นเรื่องจริง สภาวะอารมณ์ต่อไปคือการโกรธหรือโมโห อาจแสดงออกกับบุคลากรทางการแพทย์หรือคนที่แจ้งข่าวร้าย คนรอบข้าง คนในครอบครัว สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่กับตัวเอง เพื่อระบายความเศร้า ความเครียดที่เก็บอยู่ในใจ บางคนถึงกับทำร้ายตัวเองก็มี ความโกรธ อาจมาด้วยการด่าทอ การร้องไห้ โวยวาย ขว้างปาสิ่งของ คนที่เป็นคนรับอารมณ์ของผู้ป่วยในสภาวะนี้ต้องเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้และให้อภัยผู้ป่วย คอยดูแลและประคับประคองจิตใจเพื่อให้ผ่านพ้นสภาวะทางอารมณ์นี้ไปให้ได้ หากเราไม่เข้าใจ แล้วตอบสนองกลับไปด้วยอารมณ์ สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง ผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์รุนแรงขึ้น นอกจากเรื่องโรคร้ายแล้ว คนรอบข้างยังโกรธและหนีหายไป บ่อยครั้งที่ความโกรธจะมากับการกล่าวโทษผู้อื่นเช่น “ฉันเป็นโรคนี้เพราะคนนี้ที่เอาเชื้อมาติดฉัน” “แฟนเลิกกับฉันเพราะเขาเป็นคนไม่ดี เขาจะต้องรู้สึกเสียใจที่ทิ้งคนดีดีอย่างฉันไป” “ฉันทำบุญมาเยอะมาก ๆ ทำไมฉันยังเป็นโรคร้ายอีก สวรรค์ไม่ยุติธรรม” เพราะฉะนั้นการเข้าใจและรู้ทันอารมณ์ของผู้ป่วยจะทำให้เรารับกับสภาวะนี้ได้

3. การต่อรอง (bargaining) หลังจากผ่านสภาวะอารมณ์โกรธไปได้ ผู้ป่วยจะเริ่มคิดต่อรองว่าโรคหรือเหตุการณ์นี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับเขา อยากย้อนเวลากลับไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ขึ้นมา เช่น “วันนั้นฉันไม่น่ากินเหล้า เลยเกิดอุบัติเหตุ” “ถ้าฉันมาตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หมอคงวินิจฉัยได้เร็วกว่านี้” “ฉันน่าจะดูแลเธอได้ดีกว่านี้ เธอคงไม่ทิ้งฉันไป” “ฉันน่าจะป้องกันตัวเองให้ดีกว่านี้ ฉันคงไม่ติดเชื้อ” สภาวะอารมณ์นี้เป็นการตำหนิตัวเองหรือโทษตัวเอง ว่าโรคหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวเราผิด 

4. ความซึมเศร้า (depression) หลังจากผ่านสภาวะอารมณ์ข้างต้นที่เป็นการโทษตัวเองมาแล้ว จึงง่ายต่อการดึงอารมณ์ตัวเองให้อยู่ในภาวะเศร้า ท้อแท้ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่างเปล่า ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว ชีวิตไร้จุดหมาย อยู่ไปก็รักษาไม่ได้ เหมือนรอวันเสียชีวิต ผู้ป่วยบางคนเก็บตัว ไม่กินข้าว ไม่คุยกับใคร ร้องไห้อยู่คนเดียว ผู้ป่วยหลายรายจึงจบชีวิตตัวเองในสภาวะอารมณ์นี้ ผู้ป่วยที่ติด COVID-19 หลายรายก็ตัดสินใจเช่นนั้น ดังนั้นจะเห็นว่าการมีคนคอยดูแลสภาวะจิตใจและคอยให้กำลังใจผู้ป่วยในระยะนี้จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว เรามักได้รับรู้ข่าวการฆ่าตัวตายในกรณีถูกคนรักบอกเลิกอยู่เป็นประจำ เนื่องจากพวกเขาอาจอยู่ในสภาวะอารมณ์นี้ “จะอยู่ไปทำไม ถ้าไม่มีเขาแล้ว” “เราอยู่คนเดียวไม่ได้” คำพูดเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของพวกเขา ในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีคนจบชีวิตตัวเองเพราะตกงานหรือล้มละลายมากขึ้นเพราะหาหนทางแก้ปัญหาต่อไม่ได้ หากเริ่มเห็นสภาวะอารมณ์นี้กับคนใกล้ชิด เราต้องรีบช่วยดูแลจิตใจและให้กำลังใจหรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยดูแลต่อไป

5. การยอมรับ (acceptance) สภาวะอารมณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกคน การเกิดขึ้นนี้ไม่ได้แปลว่าเหตุการณ์หรือโรคที่เกิดขึ้นจะหายไป แต่เป็นสภาวะที่ผู้ป่วยเริ่มยอมรับ เริ่มเข้าใจสถานการณ์ เริ่มปล่อยวาง เริ่มหาทางออกได้ เช่น หากผู้ป่วยรู้ว่าจะเสียชีวิต “ฉันยังมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่อยากทำก่อนเสียชีวิต” .. หากแฟนบอกเลิก “นี่คงเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว ในเมื่อไม่รักกันแล้ว อยู่ด้วยกันก็อึดอัดเปล่า ๆ” .. หากตกงานหรือไม่มีงานทำ “ฉันต้องรอด ฉันต้องมองหาหนทางใหม่ที่จะทำให้ฉันหาเงินได้” ความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นในคนที่มาถึงสภาวะอารมณ์ที่ 5 คือ “การยอมรับ” 

หากเราฝึกสติเป็นประจำ การรู้เท่าทันความคิดตัวเอง การตัดอารมณ์โกรธอารมณ์เศร้า การใช้สติไตร่ตรองและประเมินสถานการณ์ ตลอดจนหาทางแก้ไขปัญหา
    สิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่เราสามารถนำมาใช้ได้เมื่อประสบเหตุการณ์ร้ายหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราอาจจะผ่านจากสภาวะอารมณ์แรกมายังสภาวะอารมณ์สุดท้ายได้เร็วกว่าที่คิด เราอาจหาทางออกได้และผ่อนปัญหาจากหนักเป็นเบา .. มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายรายหนึ่งที่ฉันรู้จัก เธอเป็นหญิงสาวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เธอมาถึงสภาวะอารมณ์ “การยอมรับ” ได้เร็วกว่าคนอื่น ทำให้ได้ทำหลาย ๆ สิ่งที่อยากทำก่อนเสียชีวิต .. ก่อนจากไป เธอได้บอกฉันว่า เธอไม่เสียใจที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร เพราะเธอได้ทำทุกสิ่งที่อยากทำในชีวิตนี้แล้ว และเธอจากไปพร้อมกับรอยยิ้ม ..

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 42