ฟ้าทะลายโจรกับการรักษา COVID-19

ฟ้าทะลายโจรกับการรักษา COVID-19
Volume: 
ฉบับที่ 42 เดือนตุลาคม 2564
Column: 
Rama RDU
Writer Name: 
เภสัชกร รวีภัทร์ อนรรฆเมธี งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    ฟ้าทะลายโจร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata เป็นพืชสมุนไพรที่ได้รับการกล่าวถึงมากในยุค COVID-19 ฟ้าทะลายโจรถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนไทยเป็นเวลานาน และบรรจุอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรของประเทศไทยใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ในฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญคือ Andrographolide ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ลดปวด ฤทธิ์ลดไข้ แก้ไอ และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองได้ นอกจากนี้ปัจจุบันมีการศึกษาทั้งในห้องปฏิบัติการและทางคลินิกเพื่อใช้ต้านเชื้อไวรัสหลายชนิด รวมทั้ง COVID-19 ด้วย

สำหรับข้อมูลในปัจจุบัน แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีติด COVID-19 พิจารณาใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด COVID-19 ที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อาจช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคไปเป็นปอดอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาผลการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น และไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2

ขนาดของยาฟ้าทะลายโจรที่แนะนำในการรักษา สามารถใช้เป็นชนิดแคปซูลหรือเม็ดที่มีสารสกัดฟ้าทะลายโจรหรือผงบดซึ่งระบุปริมาณของสาร Andrographolide เป็นมิลลิกรัมต่อแคปซูล หรือเป็นร้อยละของปริมาณยา คำนวณให้ได้ 180 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน แบ่งให้ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร รับประทานติดต่อกัน 5 วัน และให้เริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอในเด็ก จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน

ฟ้าทะลายโจรมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และมีข้อควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin aspirin clopidogrel นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาในผู้ป่วยโรคไตรุนแรงหรือโรคตับ สำหรับอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ใจสั่น เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ จะพบได้มากขึ้นเมื่อใช้ขนาดยาสูงเป็นระยะเวลานาน

เอกสารอ้างอิง
1. Benjaponpithak A, Visithanon K, Sawaengtham T, et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. J Thai Trad Alt Med. 2021; 19(1): 229-33.
2. คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. กรกฎาคม 2564 [เข้าถึงเมื่อ 3 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Atta...

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 42