นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

โรคที่เกิดขึ้นจากผลกระทบในช่วง COVID-19 “ปัญหาเรื่องตาจากการเรียนหรือประชุมออนไลน์”

Volume
ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563
Column
Health Station
Writer Name
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคที่เกิดขึ้นจากผลกระทบในช่วง COVID-19 “ปัญหาเรื่องตาจากการเรียนหรือประชุมออนไลน์”

การปรับตัวในช่วง COVID-19 อย่างหนึ่งคือการให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ และการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยการใช้ระบบออนไลน์ในการเรียนและการประชุม ทำให้หลายคนเกิดปัญหาเรื่องตาขึ้น โดยเฉพาะการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มากจนเกินไป ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าทางสายตา หรือที่เรียกว่า eye strain บางคนเรียกจำเพาะว่ากลุ่มอาการทางสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ (computer vision syndrome) 

อาการที่พบบ่อย

อาการตาแห้ง ตาล้า ตาพร่ามัว น้ำตาไหลบ่อย ๆ หรือปวดศีรษะ โดยเฉพาะรอบกระบอกตา บางคนมีการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือไม่สามารถมองเห็นแสงจ้าได้ตามปกติ

บางคนสงสัยว่าทำไมการใช้สายตาจ้องมองจออิเล็กทรอนิกส์จึงทำให้ตาล้าได้มากกว่าเวลาอ่านจากหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ปกติ แม้จะใช้ระยะเวลาเท่ากันในการอ่าน เนื่องจากการมองหน้าจอจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มีระยะห่าง หรือมุมที่อาจไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับกระดาษ มีความแตกต่างในพื้นหลังกับตัวอักษรไม่เท่ากับกระดาษ และมีการหลับตาบ่อยน้อยกว่าขณะจ้องจออิเล็กทรอนิกส์

เราจะมีวิธีการป้องกันอาการเมื่อยล้าทางสายตา ได้อย่างไร

• ไม่จ้องมองจออิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ควรพักสายตาสัก 10-20 วินาที โดยมองไปที่อื่น หรือหลับตาบ้างอย่างน้อยทุก 15-20 นาที

• จำกัดการมองหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ไม่จำเป็น นอกเหนือจากการที่เรียนหรือประชุมออนไลน์ที่เกี่ยวกับการเรียนหรือหน้าที่ เช่น งดหรือลดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการเล่นเกม หันมาอ่านนิตยสารหรือสื่ออื่น ๆ ด้วยกระดาษ หรือใช้การฟังแทน  

• ลดการใช้หน้าจอขนาดเล็ก เช่น จากโทรศัพท์มือถือ เลี่ยงมาใช้อุปกรณ์ที่หน้าจอใหญ่กว่า เช่น แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์

• ปรับความสว่างของหน้าจอ รักษาระยะห่างจากจอให้เหมาะสม

• ใช้การตัดแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ  

• นั่งในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ

• ปรับเปลี่ยนท่านั่งให้เหมาะสม และลุกเดินบ่อย ๆ

เนื้อหาภายในฉบับที่ 38