เคยมีคำกล่าวว่า "เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก"
ซึ่งหมายความว่ายาทุกตัวไม่สามารถนำขนาดผู้ใหญ่มาใช้เทียบเป็นสัดส่วนเดียวกันกับในเด็กได้ เนื่องจากการออกฤทธิ์และการขจัดยาในเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การบริหารยาในเด็กเล็กต้องอาศัยเครื่องมือและเทคนิคการบริหารยาที่เฉพาะ ดังนั้น ผู้ที่สั่งใช้ยาหรือบริหารยาในเด็กเล็กควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาน้ำในเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มากที่สุด
ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการใช้ยาน้ำในเด็กเล็กที่ควรทราบ ดังนี้
การใช้ยาน้ำในเด็กเล็กทุกครั้ง ควรตรวจสอบขนาดยาที่เหมาะสมก่อนการบริหารยาให้เด็กเสมอ เนื่องจากยาหลายชนิดมีขนาดที่แนะนำแตกต่างกันขึ้นกับช่วงวัยของเด็ก โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถดูได้จากเอกสารกำกับยาหรือฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
ยาน้ำที่ใช้ในเด็กเล็ก มีทั้งรูปแบบยาน้ำสำเร็จรูปและยาผงที่ต้องผสมน้ำเมื่อใช้ หากเป็นรูปแบบหลัง ผู้เตรียมยาควรใช้น้ำสะอาด อุณหภูมิห้อง ไม่ควรใช้ของเหลวอื่น ๆ เนื่องจากโดยทั่วไปจะไม่มีการศึกษาความคงตัว การละลายยาอาจลดลง โดยเฉพาะนมซึ่งมักเป็นเครื่องดื่มที่เด็กเล็กมักรับประทาน เพราะแร่ธาตุในนมอาจจับกับยาบางชนิดทำให้เกิดการตกตะกอนได้
เนื่องจากยาส่วนใหญ่เป็นยาน้ำ ดังนั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการตวงยาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้บริหารยาสามารถตวงยาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำโดยอุปกรณ์พื้นฐานที่ควรมีคือ หลอดดูดยา (syringe) เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง มีความแม่นยำ และใช้กับยาน้ำได้หลายชนิด
การเก็บรักษายาน้ำ โดยทั่วไปหลังเปิดใช้จะอยู่ได้ 1 เดือน ยกเว้นยาที่ต้องละลายก่อนจะอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น การเก็บรักษา การตรวจดูสี กลิ่น รสชาติ และลักษณะของยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากพบอะไรผิดปกติควรทิ้งยาทันที
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รับความรู้สำหรับการใช้ยาน้ำในเด็กเล็ก และสามารถนำไปใช้ในการบริหารยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างดี