นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

Volume
ฉบับที่ 49 เดือนกรกฎาคม 2566
Column
Vocab With Rama
Writer Name
นู๋โน โกอินเตอร์ นู๋นัน สะพายกล้อง

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ข่าวที่ทำให้ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปอย่างเรา ๆ ต้องรู้สึกหวาดระแวงและอกสั่นขวัญแขวน หรือเรียกได้ว่า “หลอน” ไปกับการจะรับน้ำหรือขนมจากคนอื่นมารับประทาน คงหนีไม่พ้นข่าวคดีการฆาตกรรมด้วยการวางยาพิษ (Poisoning: /ˈpɔɪzənɪŋ/) ที่มีชื่อว่า “ไซยาไนด์” (cyanide: /ˈsaɪənaɪd/) ซึ่งเป็นสารพิษ ชื่อดังที่คุณผู้อ่าน @Rama ที่เป็นนักอ่านอาจจะคุ้นชื่อนี้จากนิยายหรือการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวนกันมาบ้าง แต่ทุกคนรู้มั้ยคะ นอกจากไซยาไนด์จะถูกใช้ในนิยายหรือเรื่องแต่งทั้งหลายแล้ว ในประวัติศาสตร์โลก ยาพิษ (Poison: /ˈpɔɪzn/) ชนิดนี้ ถูกนำไปใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะอาวุธทางเคมี (Chemical Weapons: /ˌkemɪkl ˈwepən/) และยังใช้ไซยาไนด์ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า Zyklon B เพื่อทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust:/ˈhɒləkɔːst/) เชลยนับล้านในค่ายกักกันมรณะ (Extermination camp: /ɪkˌstɜːmɪˈneɪʃn kæmp/) ในช่วงใกล้สิ้นสุดของสงครามนั้น เหล่าผู้นำนาซีที่ไม่อาจยอมรับการพ่ายแพ้ของสงครามได้ อาทิ ฮิตเลอร์ และภรรยาของเขา เอวา เบราน์ ก็นำไซยาไนด์มาใช้เป็นอาวุธปลิดชีพตนเองเช่นกัน และต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการนำสารพิษชนิดนี้ไปใช้เพื่อประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย วันนี้ฟุดฟิดฟอไฟกับรามาฯ มาชวนคุยเกี่ยวกับสารพัดศัพท์ว่าด้วย “พิษ” ที่ทั้งชวนน่ากลัวและน่าตื่นเต้นกันค่ะ 

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

ปัจจุบัน พิษวิทยา หรือคำว่า Toxicology (/ˌtɒksɪˈkɒlədʒi/) เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสารพิษ โดยเราเรียกผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาในวิชาพิษวิทยานั้นเรียกว่านักพิษวิทยา (Toxicologist: /ˌtɒksɪˈkɒlədʒɪst/) ค่ะ โดยคำศัพท์ที่หมายถึงสารพิษนั้น มีหลายคำ แต่อาจใช้ในบริบทที่แตกต่างกันออกไปค่ะ คำว่า Toxins (/ˈtɒksɪn/) จะหมายถึงสารพิษที่ผลิตขึ้นภายในเซลล์ที่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิต อย่างเช่น สารพิษที่เหล็กในของผึ้ง สารพิษที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์มีพิษ นำมาซึ่งอีกคำที่เรามักจะพบบ่อยแต่ใช้สับสนบ่อย ๆ คือคำว่า  Poison (/ˈpɔɪzn/) กับ Venom (/ˈvenəm/)

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

เราใช้  Poison ได้เช่นเดียวกับความหมายโดยทั่วไปที่หมายถึงยาพิษ และยังใช้ในบริบทที่หมายถึงสารพิษ ซึ่งหมายถึง สารไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลวหรือแก๊ส ที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน สัมผัส หรือหายใจเข้าไปแล้วส่งผลรบกวนกระบวนการตามปกติในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิลอาบยาพิษที่อยู่ในรูปของกิน เนื้อปลาปักเป้าที่เป็นพิษ หรือก๊าซพิษที่สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดม ในขณะที่ Venom จะหมายถึงสารพิษของสิ่งมีชีวิตที่ออกฤทธิ์โดยอาศัยการฉีดพิษเข้าไปในร่างกายของฝ่ายตรงข้าม อย่างเวลา งูกัด ผึ้งต่อย เป็นต้น ส่วนคำที่เราเจอบ่อยอีกคำอย่าง Toxicity (tɒkˈsɪsəti/) หมายถึงความเป็นพิษ ใช้อธิบายสภาวะเป็นพิษของสิ่งที่ติดพิษนั้น ๆ แล้ว 

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

ในส่วนคำคุณศัพท์นั้นที่หมายถึงอะไรบางอย่างซึ่งมีพิษนั้นก็ใช้ต่างกรรมต่างวาระกันค่ะ คำคุณศัพท์ toxic (/ˈtɒksɪk/) เป็นคำคุณศัพท์ที่งอกมาจากคำนามว่า toxin ดังนั้น toxic จึงใช้ขยายคุณลักษณะของสิ่งหนึ่งซึ่งมีพิษ ทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ส่วนคำคุณศัพท์ poisonous (/ˈpɔɪzənəs/) มาจากคำว่า poison ที่แปลว่าของที่เป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้น poisonous จึงมักใช้กับสิ่งของจากธรรมชาติที่สัมผัส สูดดม หรือรับประทานไม่ได้ เพราะจะทำให้ป่วยหรือตาย ขณะที่ venomous (/ˈvenəməs/) มาจากคำว่า venom ซึ่งหมายถึงสารพิษของสัตว์ที่ออกฤทธิ์ด้วยการฉีดเข้าร่างกาย หรือหมายถึงพิษงูก็ย่อมได้ ฉะนั้น พวกสัตว์ที่ใช้วิธีโจมตีเหยื่อด้วยวิธีกัดหรือต่อยเพื่อฉีดพิษเข้าร่างจึงใช้คุณศัพท์ venomous ไม่ใช่ poisonous นะคะ ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ จากคำที่เรามักพบบ่อย ๆ อย่างคำว่า Venomous animals (สัตว์มีพิษ) หรือ Poisonous mushrooms (เห็ดพิษ) เป็นต้นค่ะ

Poison/Toxic: สารพัดศัพท์ว่าด้วยพิษร้าย

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เรายังพบว่ามีคำศัพท์เกี่ยวกับพิษที่ถูกนำไปใช้นอกบริบทด้านพิษวิทยาอีกด้วยนะคะ อย่างศัพท์คำว่า Toxic ที่เพิ่งยกตัวอย่างไป เดิมที Toxic หมายถึง “ซึ่งเป็นอันตรายหรือเป็นพิษ” ปัจจุบันคนมักจะใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ที่เป็นพิษและเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์อย่างไม่มีความสุขทั้งกายและใจ (Toxic Relationship: /ˈtɒksɪk rɪˈleɪʃnʃɪp/) ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ใน ครอบครัว สถานที่ทำงาน หรือ การเมือง ก็ตาม โดยความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นมักจะทำให้ผู้ถูกกระทำเป็นคนที่ต้องรู้สึกผิด รู้สึกหวาดกลัว และไม่เป็นตัวเอง ทั้งที่เขาอาจไม่ได้ทำอะไรผิดแต่อย่างใด 

    ไม่ว่าจะเป็นพิษในแง่วิทยาศาสตร์หรือพิษในเชิงสังคมวิทยา ก็ล้วนดูน่าหวั่นใจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวทั้งสิ้น  แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องหาวิธีการป้องกันตัวเองในการสัมผัสกับพิษร้ายเหล่านั้นให้มากที่สุด ผู้เขียนขอส่งความปรารถนาดีไปถึงทุกท่านที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ รวมทั้งท่านที่ติดอยู่ในสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษในแง่ต่าง ๆ ด้วย ฉบับนี้ไปแล้วค่า เจอกันฉบับหน้านะคะ 

อ้างอิง:
    - BBC News Thai. “แอม ไซยาไนด์ : ทำความรู้จัก “ราชาแห่งยาพิษ” และพิษร้ายแรงอื่น ๆ ที่เหล่าฆาตกรนิยมใช้”. [Online]. https://www.bbc.com/thai/articles/c3gnpzggrd5o
    - Olen R. Brown ; Cyanide, The Art and Science of Poisons (2018) 1: 124. https://doi.org/10.2174/9781681086972118010009.
    - Robbie Gonzalez. Gizmodo. ““Venomous” vs “Poisonous,” Explained With Adorable Talking Animals”. [Online]. https://gizmodo.com/venomous-vs-poisonous-explained-with-adorable-talk-….
    - Science Learning Hub. “Poisons and toxins”. [Online]. https://www.sciencelearn.org.nz/resources/364-poisons-and-toxins.
    - “พิษวิทยา”. [Online]. https://vet.kku.ac.th/vetpharmaco/document/toxico/general%20toxicology….
    - ““toxic” แปลว่าอะไร? ความสัมพันธ์แบบไหนถึงเรียกว่า #toxic” . [Online]. https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/491878 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 49