ความรู้เกี่ยวกับพิษจาก "สารไซยาไนด์" ที่ควรทราบ
ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์ ศูนย์พิษวิทยา ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อยากจะให้ความรู้เกี่ยวกับ “ไซยาไนด์” ให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบ
“ไซยาไนด์” เป็นสารพิษที่มีความรุนแรงสูงและออกฤทธิ์ได้เร็ว หากผู้ป่วยดื่มสารละลายที่มีไซยาไนด์อยู่จะเกิดภาวะพิษขึ้นได้ อาการพิษจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที
อาการพิษเริ่มจาก
เริ่มจากอาการทางสมอง ได้แก่ ชัก หมดสติอย่างรวดเร็ว แล้วตามด้วยความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็วและอาจสังเกตพบว่าผิวหนังและเยื่อบุจะมีสีแดงกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น หากผู้ป่วยมีประวัติดื่มเครื่องดื่มแล้วเกิดอาการข้างต้นในเวลาอันสั้นไม่กี่นาทีอาจจะเกิดขึ้นจาก “พิษสารไซยาไนด์” ได้
อย่างไรก็ตามภาวะของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมองก็ทำให้ผู้ป่วยหมดสติทันทีได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือพิษจากไซยาไนด์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีวิธีการตรวจแยกโรคเหล่านั้นออกจากกันได้ ส่วนการรักษาพิษจากไซยาไนด์นั้นมียาต้านพิษจำเพาะ หากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษได้ทันเวลา ผู้ป่วยจะสามารถรอดชีวิตได้
กรณีที่เป็นพิษจากไซยาไนด์ หากโรงพยาบาลต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถโทรปรึกษาเข้ามาที่ศูนย์พิษวิทยา เพื่อขอข้อมูลในการวินิจฉัยและการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีโครงการยาต้านพิษ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และศูนย์พิษวิทยา ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดให้มีการสำรองยาต้านพิษหลายชนิดโดยเฉพาะยาต้านพิษจากสารไซยาไนด์ไว้ในโรงพยาบาลระดับจังหวัดขึ้นไปทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาต้านพิษดังกล่าวนี้ แพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถร้องขอยาต้านพิษจากแหล่งสำรองยาต้านพิษให้กับผู้ป่วยได้ทุกเวลา โดยสามารถใช้ได้กับทุกสิทธิการรักษา
ในกรณีของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลใหญ่ของรัฐบาล และศูนย์พิษวิทยาได้มีการสำรองยาต้านพิษจากสารไซยาไนด์ไว้ เมื่อมีผู้ป่วยได้รับพิษหรือสงสัยว่าเกิดพิษจากสารไซยาไนด์ โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถปรึกษามาที่ศูนย์พิษวิทยาผ่าน “สายด่วน 1367” หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพิษวิทยายืนยันการวินิจฉัย ทางศูนย์พิษวิทยามีระบบการประสานรถพยาบาลพร้อมยาต้านพิษเพื่อนำส่งอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาอย่างรวดเร็วอันจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง