ตามคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า
เด็กอายุต่ำกว่า 1.5–2 ปี ไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์หรือใช้หน้าจอเลย ยกเว้นการใช้ Video Call กับผู้ปกครองกรณีผู้ปกครองต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
เด็กอายุ 2–5 ปี แนะนำให้ดูไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง สื่อที่ใช้ต้องเป็นสื่อที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ผู้ปกตรองควรนั่งดูร่วมกับเด็กเพื่อที่ผู้ปกครองจะได้สามารถชี้แนะหรือสอนเด็กได้ระหว่างดู
เด็กอายุมากกว่า 5 ปี ควรใช้หน้าจอไม่เกินวันละ 1- 2 ชั่วโมง สื่อที่ใช้ควรเป็นสื่อที่ไม่มีความรุนแรงและมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย
หากเด็กใช้หน้าจอเกินกว่าที่แนะนำไว้จะเกิดอะไรขึ้น?
จากผลงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าเด็กปฐมวัยที่ใช้หน้าจอเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่แนะนำไว้ไปมากเมื่อตรวจพัฒนาการจะพบว่ามีคะแนนพัฒนาการน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ใช้หน้าจอน้อยกว่า
สำหรับเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการอยู่แล้ว เช่น ออทิซึม พัฒนาการทางภาษาล่าช้า การใช้หน้าจอมากเกินไปมักจะทำให้พัฒนาการแย่ลง หากลดการใช้หน้าจอร่วมกับเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองจะพบว่าพัฒนาการทางภาษาและสังคมของเด็กมักจะดีขึ้นอย่างชัดเจน
สำหรับโรคซนสมาธิสั้นนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุจากการใช้หน้าจอโดยตรง แต่เด็กที่ใช้หน้าจอมากจะมีสมาธิจดจ่อน้อยลงรวมถึงอาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นเมื่อลดการใช้หน้าจอ และในเด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นอยู่แล้วการใช้หน้าจอที่มากเกินมักทำให้อาการซนสมาธิสั้นแย่ลง
ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลการใช้หน้าจอของบุตรหลานทั้งจำนวนชั่วโมง และเนื้อหาของสื่อให้เหมาะสมกับวัย