เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า... ความสุขสร้างขึ้นได้จาก “ครอบครัว”

Volume: 
ฉบับที่ 50 เดือนตุลาคม 2566
Column: 
Easy Living
Writer Name: 
รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เราทุกคนรู้จักประโยคนี้มานานแสนนาน ... ทว่าทำไมเราถึงดูแลเด็ก ๆ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในภายภาคหน้า คงไม่ใช่ทุกคนที่รู้วิธีเลี้ยงลูกที่ถูกวิธี เพราะไม่มีวิชานี้สอนในบทเรียนไหน มีเพียงคุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวที่สนใจจะศึกษาเองเท่านั้น ประกอบกับบางครอบครัวอาจยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูพวกเขา

เมื่อไม่นานมานี้มีละครเรื่องหนึ่งที่เรตติ้งดีมาก ๆ ชื่อ “มาตาลดา” ละครเรื่องนี้ถือเป็นละครน้ำดีเรื่องหนึ่ง ที่นอกจากคนดูจะได้ความสุขจากการดูละครเรื่องนี้แล้ว ยังได้ข้อคิดดีดีมากมายหลายอย่างด้วย ละครว่าด้วยนางเอกชื่อ มาตลาดา ถูกคุณพ่อที่เป็น LGTBQ+ เลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งคุณพ่อเป็นนักแสดงในโรงละครคาบาเร่ต์แห่งหนึ่งของเมืองพัทยา ครอบครัวมาตาลดาไม่ได้ประกอบด้วยคุณพ่อคุณแม่เหมือนครอบครัวอื่น ๆ แต่ทว่าคุณพ่อจบจิตวิทยาเด็กมา จึงมีวิธีเลี้ยงลูกที่ดีมาก ๆ และเพื่อน ๆ คุณพ่อซึ่งเป็น LGTBQ+ เหมือนกัน ก็ช่วยเลี้ยงดูมาตาลดาด้วย ทำให้เด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาภายใต้ครอบครัวที่ “ดูเหมือน” จะไม่สมบูรณ์ แต่กลับกลายเป็นครอบครัวที่ “สมบูรณ์” มากสำหรับมาตาลดา เพราะเธอได้รับความรัก และความเข้าใจจากผู้เป็นพ่อ และเพื่อน ๆ ของพ่อเต็มที่ เธอไม่รู้สึกว่าขาดความรักจากแม่แต่อย่างใด ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว มีแต่การพูดคุยด้วยเหตุผลกัน จุดหนึ่งที่คุณพ่อในเรื่องแสดงได้ชัดเจนมาก ๆ คือ ทุกครั้งที่มาตาลดามีปัญหาคาใจอะไร คุณพ่อจะถามมาตาลดาเสมอว่า ตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไร? ลูกคิดอย่างไร? วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีมาก ๆ เพราะคุณพ่อจะได้รับฟังความคิดเห็นของลูกจริง ๆ ให้ลูกกล้าพูดความรู้สึกตัวเอง และตบท้ายด้วยสอนเขาว่าจริง ๆ แล้วควรคิดอย่างไร ... ทำให้มาตาลดาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงที่มีความสุข เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเป็นคนมองโลกในแง่ดี ใคร ๆ อยู่ด้วยก็อดที่จะรักไม่ได้ ...

ในทางตรงข้าม ครอบครัวพระเอก ที่ “ดูเหมือน” สมบูรณ์ เพราะมีทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และบ้านที่ใหญ่โต แต่พระเอกกลับเป็นคนที่เก็บกดตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะต้องทำตามที่คุณพ่อวางแผนให้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรเองได้เลย โดยเฉพาะเรื่องเรียน คุณพ่ออยากให้ลูกได้ดี มีการงานที่ดี ไม่ลำบากเหมือนตัวเอง จึงวางแผนการเรียนให้พระเอกอย่างดีที่สุด ซึ่งผู้เป็นพ่อตอนเด็ก ๆ ขาดสิ่งเหล่านี้ไปมาก พระเอกเติบโตตามที่คุณพ่อวางแผนให้ทุกอย่าง เรียนเก่งที่สุดในห้อง ได้เรียนจบเป็นศัลยแพทย์ทรวงอก ได้ทำงานมั่นคง มีเงินเดือนสูง ตามที่คุณพ่อวางแผนไว้เลย ... แต่ข้างในใจพระเอกนั้นกลับไม่มีความสุขเอาซะเลย หารอยยิ้มแทบไม่มี สายตาก็ดูเศร้าสร้อย พระเอกเติบโตมาแบบเรียนอย่างเดียว ไม่ได้เล่นหรือพักเหมือนเด็กทั่วไป รู้สึกอย่างไรก็ไม่สามารถพูดออกมาได้ จะเห็นว่าหากมองลักษณะครอบครัวจากภายนอกแล้วนั้น เราไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าครอบครัวไหนคือ “ครอบครัวที่สมบูรณ์” เพราะความสมบูรณ์ขึ้นกับมุมมอง คุณจะมองว่า ครอบครัวที่มีเงินทองมาก มีบ้านใหญ่โต แต่ไม่เคยคุยกันเลยในครอบครัว คือ ความสมบูรณ์ หรือ ครอบครัวที่เงินทองอาจไม่มากนัก กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน คุยกันหัวเราะร่วมกันทุกวัน คือ ความสมบูรณ์ อันนี้ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ให้ท่านผู้อ่านลองคิดตามนะคะ

หลังจากดูละครเรื่องนี้จบ ผู้เขียนได้ key message ที่สำคัญมาก ๆ คือ การที่เราจะสอนอะไรใคร เราต้องให้เขามีโอกาสได้พูดสิ่งที่เขาคิดก่อน แล้วเราถึงจะเข้าใจเขา และสอนเขาได้ถูก หลักการนี้ใช้ได้กับทุกคนเลยนะคะ ใช้กับลูกได้ ลูกศิษย์หรือนักเรียน หรือลูกน้องก็ได้เช่นกัน ... บ่อยครั้งที่เราเห็นว่า ผู้ปกครอง ครู หรือ เจ้านาย ด่วนตัดสินความผิดของคน ๆ หนึ่ง ตั้งแต่เห็นพฤติกรรม โดยที่ยังไม่ได้ถามถึงเหตุผลของพฤติกรรมนั้น หรือให้เขามีโอกาสได้อธิบายเลย หากเราติดนิสัยที่ชอบตัดสินคนโดยเอาความคิดของเราเป็นหลัก ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะแย่กว่าที่คิดไว้นะคะ แทนที่คน ๆ นั้นจะมีโอกาสได้พัฒนาหรือปรับปรุงการกระทำของตนเอง อาจกลายเป็นต่อต้าน แอบทำผิด หรือกลายเป็นเด็กมีปัญหาได้เลย ... เด็กบางคนครอบครัวมีปัญหา เลยทำผิด และถูกครูว่าบ่อย ครูไม่เคยถามว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ต่อว่าอย่างเดียว จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาของโรงเรียนไปเลยก็มี .. ในเมื่อทำอะไร ครูก็ว่า เขาเลยไม่แคร์เลย ยังไงครูก็ไม่รักอยู่แล้ว โตขึ้นเขาอาจจะไปทำอาชีพที่ผิดกฎหมายก็ได้ เพราะชินกับการที่ถูกต่อว่า

ครอบครัวที่เราอยู่ถือเป็นบ้านหลักของเด็ก ๆ โรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่สอง เพราะชีวิตของพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน หากที่บ้านมีปัญหา แต่โรงเรียนดูแลเขาได้ดี ช่วยประคับประคอง และสนับสนุน เขาก็อาจโตขึ้นเป็นเด็กดีได้เช่นกันค่ะ หรือทางตรงกันข้ามหากเด็ก ๆ มีปัญหาที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกและคุยกับลูกเป็นประจำ จะสังเกตเห็นความผิดปกติของลูก และช่วยแนะนำให้ลูกสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างดี แค่นี้เด็กคนนั้นก็สามารถที่จะสู้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแก้ปัญหาให้ลูกด้วยตัวเอง เช่น “เดี๋ยวพ่อไปจัดการคุณครูเอง คุณครูไม่ควรว่าลูก ลูกเป็นลูกพ่อ ลูกจะไม่ผิด” ลูกท่านก็จะโตไปแบบช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย ต้องพึ่งพ่อตลอด และชีวิตนี้ก็จะผิดหวังไม่ได้หรือมีคนว่าไม่ได้เลยเช่นกัน ที่แย่ก็คือ อาจทำผิดบ่อย ๆ โดยไม่รู้สึกผิด เพราะรู้ว่าเดี๋ยวพ่อก็มาจัดการให้ ... หากถามว่าในกรณีนี้ถือว่าลูกทำผิดไหม? ลูกที่เปรียบเหมือนผ้าขาว เขาจะมีสีอื่น ๆ มาเปื้อนหรือไม่ ก็ขึ้นกับคุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณครูนี่แหล่ะค่ะ เพราะฉะนั้นลูกเราออกมาอย่างไร ไม่ได้ดังใจอย่างไร เราต้องทบทวนตัวเองดูด้วยว่า เราเลี้ยงเขาดีพอหรือเปล่า? ก่อนจะโทษแต่เด็กเพียงอย่างเดียวนะคะ

เนื่องจากผู้เขียนเป็นหมอเด็ก จึงมีโอกาสได้พบปะหลาย ๆ ครอบครัว จะเห็นว่า การกินยาอย่างสม่ำเสมอของเด็ก ๆ นี่ การดูแลของคุณพ่อคุณแม่ก็มีผลมาก ๆ เลยนะคะ เด็ก ๆ ที่กินยาสม่ำเสมอ มักเป็นเด็กที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาดูแลและเอาใจใส่ เป็นครอบครัวที่มักจะอบอุ่น มีความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ดี แต่เด็กที่กินยาไม่สม่ำเสมอมักอยู่ในกลุ่มที่ไม่ค่อยมีคนดูแล คุณพ่อคุณแม่ยุ่ง ไม่มีเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยดี เพราะเขายังเด็กไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโรค ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งพอผู้เขียนแนะนำให้เด็กกินยาให้สม่ำเสมอ มีผู้ปกครองบางคนก็ต่อว่าลูกขึ้นมาเสียงดังเลย โทษลูกว่าเพราะเป็นเด็กไม่ดี เลยกินยาไม่สม่ำเสมอ เด็กโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นพอได้ยินอย่างนั้นจะต่อต้านทันทีเลยนะคะ จะไม่ทำตามที่ผู้ปกครองว่า แล้วก็จะหงุดหงิดใส่กัน ทะเลาะกัน แล้วจบลงด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกที่ห่างกันไปเรื่อย ๆ วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกเลยนะคะ ... วิธีที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ ควรถามลูกว่าทำไมถึงไม่อยากกินยา ให้เขาระบายความรู้สึกของเขาออกมา แล้วเราก็แนะนำไปว่า ถ้าไม่กินจะเกิดอะไรขึ้น โรคจะกำเริบตามมา ลูกจะป่วยมากขึ้น ฯลฯ เพราะเด็กวัยรุ่นนี่ต้องการเหตุผลค่ะ และต้องการที่จะทดลองว่าเป็นจริงอย่างที่ผู้ใหญ่บอกเขาหรือเปล่า พอเขารู้ว่าไม่กินยา โรคกำเริบจริง ๆ เขาจะเชื่อเรามากขึ้น คราวนี้เขาจะกินอย่างสม่ำเสมอเลยค่ะ... ที่ผ่านมาผู้เขียนจะคุยถึงเหตุผลกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นเสมอ ให้เขาได้อธิบายเหตุผล พอเราเข้าใจเขา ก็จะสอนเขาได้ เด็ก ๆ พวกนี้เขาฟังนะคะ ถ้าเรามีเหตุผลที่พูดกับเขา

ก่อนจะจบบทความนี้ ต้องขอชมทีมผู้จัดละครและผู้ประพันธ์เรื่องมาตาลดานะคะ นั่นคือ คุณกิ่ง ชลธิดา ยาโนยะ ผู้เขียนเคยอ่านบทความที่คุณกิ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตั้งใจเขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อจะได้สอนลูก ๆ ของคุณกิ่งเอง ปรากฎว่าละครเรื่องนี้กลับทำให้สังคมได้กลับมาตระหนักถึงคำว่า “ครอบครัว” อีกครั้งหนึ่ง ได้สอนไม่เพียงลูก ๆ คุณกิ่ง ยังได้สอนผู้ใหญ่อีกหลายคนด้วย ... ยังไม่สายเกินไปนะคะ ที่เราจะหันกลับมาดูแลลูก ๆ  ลูกศิษย์ หรือแม้แต่ลูกน้องเรา ในแบบนี้ ... แบบที่เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น และรับฟัง โดยไม่ใช้อารมณ์ ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา มากกว่าใช้คำสั่งเพียงอย่างเดียว ... สังคมเราจะน่าอยู่ได้เพราะ “ครอบครัว” ที่ไม่เพียงแต่เป็นครอบครัวที่ประกอบด้วยคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ยังรวมถึงครอบครัวที่ประกอบด้วย คุณครูและเพื่อน ๆ หรือครอบครัวที่ประกอบด้วยเจ้านาย รุ่นพี่ รุ่นน้องที่ทำงานอีกด้วย ... มาสร้างสังคมให้น่าอยู่กันนะคะ ...

  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 50