Let’s Workout! ออกกำลังกายกันเถอะพวกเรา

Volume: 
ฉบับที่ 50 เดือนตุลาคม 2566
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

กระแสการออกกำลังกายในหมู่คนรักสุขภาพไม่เคยจางหายไปเลยนะคะ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” การออกกำลังกาย เป็นประจำและสม่ำเสมอแน่นอนว่าทำให้สุขภาพดี อ่อนกว่าวัย อารมณ์ดี หุ่นดี และไม่ปวดหลัง (จริง ๆ นะ คนเขียนออกกำลังกายสม่ำเสมออยู่ช่วงหนึ่ง ที่เคยปวดคอปวดหลังจากออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome: /ˈɒfɪs ˈsɪndrəʊm/) คือไม่มีเลย แต่หลังจากกลับมาขี้เกียจ ก็นั่นแหละค่ะ ตามสภาพ T-T) นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด เบาหวาน และโรคอ้วน อีกด้วย ดังนั้น แน่นอนว่าในการออกกำลังกาย บางครั้งเราจะพบศัพท์ภาษาอังกฤษเยอะแยะไปหมดที่อาจทำให้เรางงกันบ่อย ๆ มาดูกันดีกว่าค่ะว่า Vocabulary ที่เป็นประโยชน์ต่อคุณนักอ่าน @Rama ที่เป็นคนรักสุขภาพนั้นจะมีอะไรบ้าง มาค่ะ เริ่มกันเลย!

คำแรกสุด ก็คงหนีไม่พ้นคำศัพท์ที่เราเรียนกันมาแต่เล็กแต่น้อยอย่างคำว่า Exercise (/ˈeksəsaɪz/) ซึ่งนอกจากเป็นคำนามหมายถึงการออกกำลังกายแล้ว คำนี้ยังใช้เป็นคำกริยาได้ด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม จะมีอีกคำที่ความหมายเดียวกัน คือ Workout (/ˈwɜːkaʊt/) โดยทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกันนี่แหละค่ะ แต่ Workout เป็น Phrasal verb หรือกลุ่มคำกริยาที่เจ้าของภาษาจะใช้ในความหมายของการออกกำลังกายมากที่สุด (พูดง่าย ๆ คือ ถ้าใช้คำนี้ จะดู อุ้ย คนนี้ดูใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นธรรมชาติกว่า)

และเมื่อมีการออกกำลังกายแล้ว ก็ต้องมีสถานที่ออกกำลังกายด้วย ศัพท์ที่เราคุ้นคือ Fitness (/ˈfɪtnəs/) คำนี้คนไทยมักเข้าใจผิดว่า “ฟิตเนส” หมายถึงสถานที่ออกกำลังกาย แต่จริง ๆ แล้วคำคำนี้แปลว่า “สมรรถภาพของร่างกาย” ไม่ใช่สถานที่ออกกำลังกายอย่างที่เราเข้าใจ เพราะฉะนั้นในกรณีถ้าจะสื่อความหมายของสถานที่ ๆ ใช้ออกกำลังกาย ต้องใช้คำว่า Fitness center (/ˈfɪtnəs ˈsentə(r)/) หรือใช้คำว่า Gym (/dʒɪm/) แทนจะดีกว่าค่ะ

ทีนี้ เรารู้กันดีว่าก่อนและหลังการออกกำลังกายก็ต้องมีการวอร์มอัพ (Warm-up) และ Cool down (/kuːl daʊn/) Warm-up หมายถึง การอบอุ่นร่างกาย ใช้ก่อนออกกำลัง ส่วน Cool down หมายถึง การออกกำลังกายให้ช้าลงก่อนหยุดออกกำลัง ทั้งนี้ก็เพื่อลดการบาดเจ็บของร่างกาย อย่างการปวดเมื่อย การเคล็ดขัดยอกอะไรแบบนั้นค่ะ

การออกกำลังกายมีหลายแบบอย่างที่เรารู้กัน กีฬาหลาย ๆ ประเภทก็นับเป็นการออกกำลังกายที่ดี แต่ในฉบับนี้จะขออนุญาตพูดถึงประเภทของการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายได้สูบฉีดเลือดแบบจริงจังนะคะ ในส่วนของการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต เรามักเรียกกันสั้น ๆ ว่า Cardio (/ˈkɑːdiəʊ/) มาจากคำเต็ม ๆ คือ Cardiovascular exercise (/ˌkɑːdiəʊˈvæskjələ(r) ˈeksəsaɪz/) จะเป็นรูปแบบการเน้นการออกกำลังกายที่จะทำการเผาผลาญแคลอรีในร่างกาย ช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนดี สามารถช่วยลดความตึงเครียดได้ อีกทั้งยังช่วยให้ปอดและหัวใจแข็งแรงอีกด้วย การออกกำลังกายแบบ Cardio ได้แก่ การวิ่ง (Running: /ˈrʌnɪŋ/) ปั่นจักรยาน (Biking: /ˈbaɪkɪŋ/) เดินเร็ว (Brisk Walking: /brɪsk ˈwɔːkɪŋ/) การใช้ลู่วิ่ง (Treadmill: /ˈtredmɪl/) ซึ่งเป็นการคาร์ดิโอแบบที่เรียกว่า Steady State (/ˈstedi steɪt/) หรือการทำคาร์ดิโอแบบต่อเนื่องประมาณ 30-60 นาที ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องและใช้เวลานาน โดยส่วนใหญ่แล้วการทำคาร์ดิโอประเภทนี้ เน้นที่การออกกำลังกายที่ความเร็วเท่าเดิม ขณะที่คาร์ดิโออีกแบบที่เรามักจะเห็นว่า ฮอตฮิตในหมู่คนผู้สนใจการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอและต้องการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ได้แก่ High Intensity Interval Training หรือ HIIT เป็นการทำคาร์ดิโอแบบสั้น ๆ เป็นเซต ๆ เน้นการใช้เวลาที่น้อย แต่เน้นการออกกำลังกายหนักสลับกับเบา เช่น การฝึกด้วยการวิ่งเร็วสลับกับเดิน หรือการยกเวทแบบหลาย ๆ ท่าติดต่อกันโดยไม่พัก

เมื่อมีการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอแล้ว ก็ต้องมีการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง (Weight training: /ˈweɪt treɪnɪŋ/) หมายถึง การฝึกออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก อาจยกด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกาย อย่างเช่น ดัมเบลล์ (Dumb-bell: /ˈdʌm bel/) ดัมเบลล์หูหิ้ว (Kettlebell: /ˈketlbel/) บาร์เบล (Barbell: /ˈbɑːbel/) และอุปกรณ์เวทเทรนนิ่งอื่น ๆ ที่เราพบเจอในฟิตเนส อย่างเครื่องบริหารกล้ามเนื้อแขน และลำตัว (Cable Crossover Machine: /ˈkeɪbl ˈkrɒsəʊvə(r) məˈʃiːn/) หรือแม้กระทั่ง Leg Press Machine (/leɡ pres məˈʃiːn/) นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักของตัวเองที่เรียกว่า Body weight (/ˈbɒdi weɪt/) ตัวอย่างเช่นด้วยวิธี Squat (/skwɒt/) การฝึกท่าสควอท เป็นการนั่งยอง ๆ เหมือนนั่งเก้าอี้อากาศ Lunge (/lʌndʒ/) เป็นการฝึกต้นขา Crunch (/krʌntʃ/) ฝึกความแข็งแรงของหน้าท้อง Push-up (/ˈpʊʃ ʌp/) การฝึกท่าดันพื้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ วัดพื้น วิดพื้น นั่นเอง โดยเวทเทรนนิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเผาผลาญไขมัน ที่ทำให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงต้านจากการยกน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อนั่นเอง

ออกกำลังกายในแบบที่ได้ยกตัวอย่างไปนั้น เป็นเพียงการออกกำลังกายเพิ่มสมรรถนะในชีวิตประจำวันสำหรับคนที่น้ำหนักเกินหรือน้ำหนักน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการออกกำลังกายอีกหลากหลายแบบที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การเล่นกีฬาให้หลากหลายประเภทเข้าไว้ ให้เข้ากับสภาพร่างกายของเราก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ มาออกกำลังกายกันนะคะทุกคน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรคค่ะ

อ้างอิง :
    - Amber Sayer. The Manual. “Here Is the Difference Between Workouts and Exercises”. [Online]. https://www.themanual.com/fitness/workouts-versus-exercises/.
    - Cleveland Clinic. “The (Many) Benefits of a Cardio Workout”. [Online]. https://health.clevelandclinic.org/the-many-benefits-of-a-cardio-workout/.
    - Paul Rogers. VeryWellFit. “Bodyweight Exercises for Developing Fitness and Strength”. [Online]. https://www.verywellfit.com/top-bodyweight-exercises-for-fitness-and-str....

 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาภายในฉบับที่ 50