ความเป็นมา

 

     ปัจจุบัน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยเฉลี่ยเดือนละ 274 คน หรือทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้  4 คน นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะทุพลภาพ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากเมื่อเทียบกับโรคอื่น แม้โรคหัวใจและหลอดเลือดจะเป็นโรคที่รุนแรง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเข้มงวด เช่น การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วนลงพุง อย่างใกล้ชิด จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ช่วยบรรเทาความรุนแรง และช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

      ด้วย เหตุนี้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขชั้นนำของประเทศ จึงได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมทาบอลิซึมขึ้นเมื่อ วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิรามาธิบดี จำนวนเงินทั้งสิ้น 150 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางรักษาและส่งต่อผู้ป่วยตติยภูมิ ตลอดจนเพือเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนการสอน และการวิจัย ด้านโรคหัวใจหลอดเลือด และโรคทางระบบเมแทบอลิซึม โดยเป็นการให้บริการผู้ป่วยแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ พร้อมทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย อาทิ

  1. เครื่อง สวนหัวใจระบบดิจิตอล สำหรับการฉีดสี การซ่อมแซมหลอดเลือดทุกชนิด การปิดรูรั่วผนังกั้นห้องหัวใจ และการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด

  2. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (320-slice CTA)

  3. เครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (EECP)

  4. เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความเร็วสูงระบบ 4 มิติ

     ทั้งนี้ ศูนย์ CVMC ได้จัดทำโครงการพิเศษหลายโครงการขึ้นเพื่อรักษาโรคหัวใจที่ซับซ้อน ที่จำเป็นต้องเพิ่งศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัยเป็นพิเศษ อาทิเช่น โครงการผ่าตัดเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส) โดยไม่ใช้เครื่อง ปอดและหัวใจเทียม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน โครงการผ่าตัดหัวใจผ่านรอยแผลเปิดเล็ก โครงการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Atrlal Flbrillation (AF)

         นอกจากนี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้เห็นความสำคัญของความเร่งด่วนในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งมีจำนวน มาก ซึ้งโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยทั้งหมดได้ในเวลาราชการ ดังนั้นจึงให้เงินสนับสุนแก่ศูนย์ CVMC ให้จัดตั้งโครงการผ่าตัดหัวใจนอกเวลาราชการ เพื่อ รองรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการผ่าตัดใหญ่ใช้เวลาต่อเนื่องในการผ่าตัด 3-10 ชั่วโมงต่อราย ปัจจุบันได้มีการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจนอกเวลาราชการรวมแล้วมากกว่า 400 ราย ซึ่งรวมทั้งการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
         เพื่อปรับวิสัยทัศน์สู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านหัวใจ และหลอดเลือด ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ได้ปรับปรุง และพัฒนาส่วนต่างๆ อาทิ
  • ห้องผ่าตัดหัวใจเป็นห้องผ่าตัดลูกผสม (Hybrid OR) ซึ่ง นับเป็นแห่งแรกๆ ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นนวัตกรรมด้านห้องผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน เป็นการผสมผสานระหว่างห้องฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเข้ากับห้องผ่าตัดหัวใจ เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด ก็จะสามารถผ่าตัดต่อเนื่องได้เลย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนลดลง
  • ห้องประชุมโรคหัวใจ ที่ เชื่อมโยงสัญญาณจากห้องสวนหัวใจ และห้องผ่าตัดลูกผสม เพื่อประชุมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการร่วมตัดสินใจ และให้ความเห็นในการดูและรักษา พร้อมทั้งฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ