ยาปลูกผม ขึ้นจริง ดกดำ จริงหรือมั่ว?

ยาปลูกผม ขึ้นจริง ดกดำ จริงหรือมั่ว?
Volume: 
ฉบับที่ 39 เดือนมกราคม 2564
Column: 
Believe it or not
Writer Name: 
รศ. นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หากพูดถึงยาปลูกผมที่เป็นยามาตรฐานซึ่งได้รับการทดสอบประสิทธิภาพโดยงานวิจัยและต้องจ่ายโดยแพทย์ ในปัจจุบันมีเพียงแค่ ยาประเภทรับประทาน 1 ชนิด และยาทา 1 ชนิดเท่านั้น ซึ่งยาเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ยาปลูกผมอื่นที่มีการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นยารับประทานหรือว่าผลิตภัณฑ์สำหรับทาทั่วไปตามท้องตลาด ยังมีประเด็นในเรื่องประสิทธิภาพที่อาจยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจน ส่วนมากจะเป็นการแสดงประสิทธิภาพจากการใช้งานผลิตภัณฑ์มากกว่า เช่น ใช้แล้วผมขึ้นจากภาพถ่ายเปรียบเทียบ หรือในลักษณะบอกต่อกัน 

ยาปลูกผมแบบกินและแบบทาที่มีการโฆษณาทั่วไปช่วยได้จริงหรือไม่?

เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ชัดเจน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ายาปลูกผมแบบกินและแบบทาที่มีการโฆษณาทั่วไปช่วยได้จริงหรือไม่ 

ส่วนยาที่มีงานวิจัยรองรับที่จ่ายโดยแพทย์ในการรักษาโรคผมบางแบบพันธุกรรม ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าได้ผลดีจนเป็นที่น่าพอใจในเพศชายถึง 80% สำหรับคนไข้ที่ได้รับการรักษา ส่วนในเพศหญิงมากกว่า 50% ได้รับผลดีจนเป็นที่น่าพอใจ ฉะนั้น คนไข้จะมีความมั่นใจได้มากกว่าหากใช้ยาที่จ่ายโดยแพทย์ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ ซึ่งจะได้ผลแน่นอนในการช่วยเสริมหรือว่าปลูกผม

ผลิตภัณฑ์ปลอมอันตรายแค่ไหน?

เรื่องผลิตภัณฑ์ปลอม ผู้บริโภคควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าผลิตภันฑ์นั้นจะมีเลขที่ อย. กำกับแล้วก็ตาม ก่อนใช้ต้องทำการตรวจเช็ค เพราะในปัจจุบันก็มีการปลอมเลขที่ อย. กันอย่างแพร่หลาย นอกจากผู้บริโภคต้องเสียเงินจากการซื้อผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้แล้ว ยังไม่สามารถทราบได้เลยว่าในผลิตภัณฑ์มีสารอะไรบ้าง อันตรายหรือไม่ และจะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ หรือปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้หรือไม่ ดังนั้น หากเลือกผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ก็จะถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำ

ปัจจัยการเลือกซื้อ

ปัญหาหลักของโรคผมร่วงที่เราพบได้บ่อยที่สุด คือ โรคผมบางแบบพันธุกรรม โดยลักษณะของโรคในเพศชายจะมีแนวผมด้านหน้าร่นสูงขึ้นไป เถิกขึ้นไปเรื่อย ๆ และตรงกลางศีรษะจะมีผมบางลงเป็นเงากลม ๆ เหมือนไข่ดาว หากเป็นมากจะเหลือแค่แนวผมด้านข้างและด้านหลัง ส่วนในเพศหญิงลักษณะผมบางจะเริ่มเด่นมากบริเวณด้านบนศีรษะ หลังจากนั้นจะเริ่มบางที่ด้านข้างศีรษะและลามไปทั่วศีรษะ ส่วนสาเหตุของผมร่วงอื่น ๆ จะพบได้น้อยกว่า เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งเป็นโรคผมร่วงที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรากผม ซึ่งการรักษาจะใช้ยาลดการอักเสบเป็นหลัก ซึ่งมีความแตกต่างจากการรักษาโรคผมบางแบบพันธุกรรม ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยประเมินว่าเป็นโรคผมร่วงชนิดใด เพราะโรคผมร่วงบางชนิดจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและเหมาะสมโดยแพทย์ นอกเหนือจากที่เราสามารถไปซื้อยาใช้เอง

รักษาอย่างไรในทางการแพทย์ 

ในเพศชายมียารักษาผมร่วงแบบพันธุกรรม อยู่ 2 ชนิด คือ ยารับประทานที่ชื่อว่า ฟีแนสเตอร์ไรด์ (Finasteride) ส่วนยาทาจะมีชื่อว่า ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ส่วนในเพศหญิงจะมีรักษาเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือยาชนิดทาที่ชื่อว่า ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ซึ่งการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้จำเป็นต้องใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป จึงจะเห็นผลดีขึ้นเปลี่ยนแปลงชัดเจน เพราะฉะนั้นคนที่จะใช้ยาต้องใช้ยาให้สม่ำเสมอและอดทนรอผลการรักษา ส่วนโรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคนี้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการที่มีภูมิคุ้มกันมาทำร้ายรากผม ทำให้ผมบริเวณนั้นหลุดร่วงออกไป แพทย์จำเป็นจะต้องจ่ายยาที่มีการกดการอักเสบ เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ 

สามารถรับชมคลิปสุขภาพ ยาปลูกผม ขึ้นจริง ดกดำ จริงหรือมั่ว ได้ที่ YouTube สถานีรามาแชนแนล

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 39