บันทึกเดือนตุลา...

บันทึกเดือนตุลา...
Volume: 
ฉบับที่ 39 เดือนมกราคม 2564
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

 

มันยากนะที่เราจะอยู่ท่ามกลางระหว่างช่วงเวลาในอดีตและอนาคต

ตุลาคม เป็นเดือนที่มากมายในความทรงจำและหลากหลายในความรู้สึก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเดือนแห่งความเศร้ามากกว่าความสุข

ตุลาคม 2516 หากเปรียบจำนวนปีที่ผ่านมากับอายุคนก็นับได้ว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เป็นผู้คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาไม่น้อย

ในช่วงปี 2512-2515 นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเพื่อสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีการจัดตั้งองค์กรศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2513) และศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ซึ่งในปี 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกลายเป็นศูนย์รวมของการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจของเผด็จการคณาธิปไตย (การปกครองในระบอบเผด็จการ : การปกครองแบบเผด็จการที่ยึดหลักว่าอำนาจทั้งหลายทั้งปวงในรัฐจะต้องรวมอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มเดียวซึ่งมีการรวมอำนาจ เช่น การรวมอำนาจด้วยวิธีการปฏิวัติรัฐประหาร ผู้ที่ยึดอำนาจรัฐได้จะเป็นรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดโดยเฉพาะ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะฐานอำนาจมิได้มาจากประชาชน

คณาธิปไตย (Oligarchy) : การปกครองแบบเผด็จการที่ประกอบด้วยคนกลุ่มเดียว (ไม่ใช่ระบบเผด็จการโดยคน ๆ เดียว) คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง อำนาจการปกครองประเทศอย่างแท้จริง อำนาจการปกครองถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว เช่น คณะปฏิวัติ)

สุดท้ายบรรดาคนรุ่นใหม่ได้ข้อสรุปว่า หากปราศจากซึ่งเสรีภาพและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศก็เป็นไปได้ยาก จึงนำมาสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักร และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

9 ตุลาคม 2516 การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางเม็ดฝนโปรยปราย นักเรียน นิสิต นักศึกษาจากโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมสมทบ จนกระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ก็คาดการณ์ว่ามีคนมาร่วมชุมนุมเป็นเรือนแสน สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องหยุดการเรียนการสอนและมีการเลื่อนสอบออกไป การชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2516

รุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและตำรวจ มีการใช้ความรุนแรง ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการจัดตั้งศูนย์พยาบาลสนามขึ้น ระหว่างนั้นได้ลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอีกหลายแห่งรวมทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์และพยาบาลต้องทำงานอย่างหนัก คนเจ็บและเสียชีวิตถูกนำมาส่งทุกระยะจนไม่มีที่ว่างเหลือ ทุกโรงพยาบาลต้องประกาศขอรับบริจาคเลือดเพื่อทำการช่วยชีวิต 

ในวันนั้นเป็นวันที่พยาบาลรามาธิบดี รุ่นที่ 1 ซึ่งเพิ่งจะจบการศึกษามาหมาด ๆ เข้ารับการปฐมนิเทศ พยาบาลจบใหม่ทั้งหมดได้ออกจากห้องประชุมมาปฏิบัติหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินในโดยทันที บริเวณลานหน้าอาคาร 1 (ในสมัยนั้น) กลายเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วย เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากล้นออกมานอกห้องฉุกเฉิน และพยาบาลจบใหม่อีกส่วนหนึ่งอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลริมถนนใหญ่ เพื่อขอรับบริจาคเลือดและค่ารักษาให้แก่ผู้รับบริการ

ตุลาคม 2519 เป็นความทรงจำที่เลวร้ายยากจะลืมเลือน ถึงแม้ว่าพวกเราหลาย ๆ คนจะเกิดไม่ทัน แต่สมาชิกในหลาย ๆ ครอบครัวก็มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมารุ่นต่อรุ่น ยังคงตอกย้ำความทรงจำของผู้สูญเสียได้เป็นอย่างดี

เยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคนออกจากบ้าน หลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย บางคนกลับไปด้วยร่างกายพิการ และอีกหลายคนกลับไปด้วยความรู้สึกต่าง ๆ กัน หลังจากเหตุการณ์นี้ บางคนจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ในป่านานนับ 10 ปี บางคนก็สมัครใจที่จะเข้าไปอยู่ในป่าแทนเมืองกรุง และพร้อมใจกันจับอาวุธเพื่อต่อสู้แทนการจรดปากกาเพื่อเรียนหนังสือ 

6 ตุลาคม 2519 นาฬิกาบอกเวลา 05.30 น. เสียง “วี้ด...” ดังขึ้น จังหวะนั้นเองมีเสียง “ตูม” สนั่นตามมาพร้อมแรงสั่นสะเทือนทั่วสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสียงของระเบิดเอ็ม 79 ส่งผลให้นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่เสียชีวิตทันที 4 คน ได้รับบาดเจ็บ 16 คน ระหว่างนั้นมีทั้งคนเจ็บหรือคนตายถูกหิ้วขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งออกไปโรงพยาบาลหลายคัน (เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ; มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2560)

ที่หน่วยพยาบาล นักศึกษาแพทย์และพยาบาลคร่ำเคร่งวุ่นวายกับการรับผู้ป่วยไว้มากมาย แต่เครื่องมือที่มีอยู่นั้นจำกัดและมิได้เตรียมไว้สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ แต่ทุกคนพยายามทำอย่างดีที่สุด

รถพยาบาล 5-6 คันเข้าลำเลียงคนเจ็บ หมอ พยาบาลจำเป็นจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ฝึกงานครั้งสำคัญในชีวิตกับคนเจ็บที่ไม่มีอุปกรณ์ให้ช่วยเหลือ ที่นี่ ..... นักศึกษาแพทย์และพยาบาล เริ่มต้นอาชีพในอนาคตด้วยการเห็นผู้เสียชีวิตลงต่อหน้า (ชวลิต วินิจจะกูล : เสียงจากอดีตจำเลยคดี 6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์)

อีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดีรับผู้บาดเจ็บเข้ามารักษา และเป็นอีกครั้งที่บริเวณลานหน้าอาคาร 1 (ในสมัยนั้น) กลายเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

และจากทั้งสองเหตุการณ์ มีนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เสียชีวิตลงจำนวน 7 คน

7 ตุลาคม 2551 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมรัฐสภาในวันนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีการนำอาวุธปืน วัตถุระเบิดเข้ามาใช้ในการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลจากหนักไปหาเบา มีผู้บาดเจ็บอย่างเป็นทางการ 443 คน และเสียชีวิต 2 คน

วันนั้นฉันเข้าเวรตามปกติ Code 111 ถูกใช้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี บุคลากรทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดีมารวมตัวพร้อมกันที่ห้องฉุกเฉิน รถนอนคันแล้วคันเล่าถูกเข็นเข้ามา เลือดที่ไหลนองและกระเซ็นไปทั่วพื้นรวมทั้งขากางเกงยังย้ำเตือนถึงกลิ่นคาวที่ฟุ้งกระจายไปทั่วในวันนั้น

พยาบาลไอ.ซี.ยู ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บในห้องกู้ชีพ (Resuscitation Room) อะดรีนาลิน (Adrenaline) หลอดแล้วหลอดเล่า (Ampule) ถูกหักด้วยมือเปล่าอย่างคุ้นชิน แต่ที่ไม่อาจชินได้คือการกู้ชีพผู้ถูกยิง กระสุนมากกว่า 1 นัดที่ฝังอยู่ในร่างกายสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ถูกกระทำ เสียงร้องโหยหวนอย่างกลัวตายดังไปทั่วทั้งห้องฉุกเฉิน

รถนอนคันหนึ่งถูกเข็นเข้ามาอย่างช้า ๆ ผ่านหน้าฉันไป หญิงสาวบนรถนอนนั้นนอนนิ่งไม่ไหวติง กลิ่นอะไรบางอย่างล่องลอยผ่านหน้ากากอนามัยเข้ามาพอติดจมูก ฉันเดินกึ่งวิ่งตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยกู้ชีพ แต่รถนอนคันนั้นกลับถูกเข็นไปอีกทาง เสียงผู้คนวุ่นวายจนฟังไม่ได้ศัพท์ผสมผสานกับเสียงจากโทรทัศน์เหนือศีรษะที่กำลังนำเสนอข่าวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ฉันเงยหน้ามองภาพในโทรทัศน์ เสื้อที่ร่างของผู้เสียชีวิตสวมใส่ช่างคุ้นตา ฉันมองไปที่รถนอนคันนั้นอีกครั้งสลับกับภาพในทีวี หน้าอกของหญิงบนรถนอนนั้นข้างหนึ่งดำเกรียม เสื้อที่คุ้นตานั้นถูกสวมอยู่บนร่างของเธอ ผู้หญิงคนนี้ถูกยิงด้วยอาวุธหนักจนปอดหายไปข้างหนึ่ง กลิ่นที่ลอยมาแตะจมูกนั้นคือกลิ่นไหม้ของเนื้อนี่เอง

ฉันรีบสาวเท้ากลับเข้าไปที่ห้องกู้ชีพเพื่อช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ หลายคนถูกห้ามเลือด (Stop bleed) ด้วยวิธีต่าง ๆ ชั่วคราวก่อนส่งขึ้นห้องผ่าตัด บางคนมีบาดแผลที่สามารถเย็บได้ก็เย็บไปก่อน

ฉันถูกเรียกอีกครั้งจากเตียงข้าง ๆ แพทย์หลายคนรุมล้อมรอบเตียง วิสัญญีพยายามใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้บาดเจ็บ ฉันแทงน้ำเกลือด้วยเข็มเบอร์ใหญ่สุดเท่าที่มี ให้น้ำเกลือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ศัลยแพทย์จะทำการตัดขาที่ห้องฉุกเฉิน 

เท้าที่ห้อยร่องแร่ง บาดแผลเปิดที่ทำให้เห็นกระดูกที่แตกหักละเอียดเหลือไว้เพียงเส้นเอ็น 2-3 เส้นที่ยึดเท้าส่วนนั้นกับข้อเท้าไว้

เลือดปริมาณมากไหลโชกลงจากเตียงจนหมอผู้ชายตัวโต ๆ 2-3 คนต้องช่วยกันกดบาดแผลไว้ วินาทีนั้นฉันใจเต้นจนแทบไม่เป็นจังหวะ แล้วเสียงเรียกให้เตรียมอะดรีนารินและยาต่าง ๆ ก็ดึงสติฉันกลับมา

ฉันเพิ่งเคยเห็นคนถูกตัดขาต่อหน้าจัง ๆ ก็วันนี้เอง สีหน้าหลังแมสก์ผ้าและแววตาหลังแว่นตากันกระเด็นส่งผ่านความรู้สึกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ถึงกันได้เป็นอย่างดี 

เวลายังคงดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว จนสิ้นสุดวันนั้นด้วยความอ่อนล้าของทีมแพทย์และพยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่อีกนับร้อยคน มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย 

อะไรก็ไม่ทำให้รู้สึกแย่เท่ากับการที่คนไทยฆ่ากันเอง

16 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมของประชาชนที่บริเวณแยกปทุมวัน

18.20 น. ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม และอ่านข้อกำหนด 3 ข้อตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ประกาศให้ออกจากพื้นที่ชุมนุมโดยให้เวลา 3 นาที ไม่เช่นนั้นจะใช้วิธีจากเบาไปหาหนัก แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยินยอม มีการลากเอาแผงเหล็กและกระถางต้นไม้มาทำแนวกีดขวางกั้นเจ้าหน้าที่ มีระยะห่างกันเพียง 150 เมตร

ในระหว่างที่สองฝ่ายประจันหน้ากัน นักเรียนบางส่วนได้ฉีดพ่นสีที่เตรียมมาใส่โล่ตำรวจที่ยืนตั้งแถวอยู่เพื่อแสดงอาการต่อต้าน 

เวลา 18.55 น. ตำรวจเริ่มฉีดแรงดันสูงใส่ฝูงชน โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กางร่มต้านแรงดันน้ำ ขณะที่บางส่วนก็เริ่มขวางปาสิ่งของใส่ตำรวจ

เวลา 19.15 น. มีเสียงดัง “ปัง” ขึ้นหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นก็มี “น้ำผสมสารสีน้ำเงิน” ซึ่งมีกลิ่นคล้ายแก๊สฉีดเข้าใส่ฝูงชน ทำให้ทั้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนเกิดอาการแสบตาและแสบผิว ต่างคนต่างต้องนำน้ำดื่มมาล้างหน้าล้างตา ผลจาก “น้ำสีน้ำเงิน” ทำให้มวลชนเริ่มถอยร่น ขณะที่ตำรวจก็รุกคืบกินพื้นที่ได้มากขึ้น โดยค่อย ๆ รื้อถอนเครื่องกีดขวางที่ผู้ชุมนุมทำเอาไว้เป็นชั้น ๆ ขณะที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนพลไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดประตูให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปหลบภัยได้ โดยพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ด้วย

ในเหตุการณ์นี้ โรงพยาบาลรามาธิบดียังคงเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลา โค้ด 111 ยังคงพร้อมใช้เสมอ ถึงแม้ในใจของพวกเราทุกคนจะไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม และแม้ว่าสถานการณ์ในครั้งนี้จะไม่มีผู้บาดเจ็บที่รุนแรงหรือเสียชีวิต แต่เรื่องราวเหล่านี้ได้บอกอะไรบ้างกับเรา

31 ตุลาคม 2563 หลาย ๆ คนอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าชีวิตผ่านอะไรมาเยอะ รู้อะไรมาบ้าง เพราะทุกคนก็รับรู้มามากเหมือนกัน อยู่ที่ว่าจะมองเห็นอะไร จะรู้มาแบบไหน ตีความกันไปว่าอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

เราบังคับให้มองมุมเดียวกันไม่ได้ทั้งหมด เชื่อในสิ่งเดียวกันก็ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เป็นเหตุให้คิดต่างกัน

แต่เชื่ออย่างหนึ่งเถอะว่า …. เหตุการณ์ใดที่นำมาซึ่งความสูญเสียไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์แม้แต่นิดเดียว

แล้วสุดท้ายมันก็จะเป็นเหตุให้มีการสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อ ๆ ไป

ไว้อาลัยตุลาคม .....

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 39