ห้องปฏิบัติการการผ่าตัดกายวิภาคคลินิกและศึกษาวิจัย
Clinical Anatomy and Research Education Laboratory
(CARE Lab)
ปัจจุบันการฝึกฝนทักษะการผ่าตัดทางด้านศัลยกรรมสาขาต่างๆ นั้นมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก เป็นการเตรียมความพร้อมของแพทย์ เพื่อป้องกันความผิดพลาดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ในการทำหัตถการต่างๆ นี้ ไม่สามารถฝึกหัดปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงๆ ได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องรวมทั้งความเสี่ยงทางกฎหมาย ในการฝึกฝนทักษะการผ่าตัดให้กับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านเฉพาะสาขา จึงจำเป็นต้องมีการฝึกหัดกับสิ่งที่เหมือนผู้ป่วย แต่มิใช่ผู้ป่วยที่มีชีวิตจริง ดังนั้นก่อนที่จะทำหัตถการในผู้ป่วยจริง บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเรียนรู้กายวิภาคจากรูปภาพแล้วฝึกทักษะกับสิ่งจำลองก่อน สิ่งจำลองทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหุ่นจำลอง หรือ หรือสัตว์ทดลอง ย่อมไม่เหมือนมนุษย์จริง สิ่งที่สามารถให้ความรู้สึกในการฝึกหัตถการและมีลักษณะทางกายภาพเหมือนผู้ป่วยจริงมากที่สุด คือ อาจารย์ใหญ่แบบนิ่ม อาจารย์ใหญ่แบบนิ่มมีลักษณะคล้ายคนมีชีวิตมาก นอกจากเป็นแหล่งการเรียนแพทย์ทุกระดับชั้นแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดใหม่ๆ และเป็นแหล่งการสอนเทคนิคการผ่าตัดใหม่ๆ แก่แพทย์ทั่วไป เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามาก เพื่อเป็นการพัฒนาวงการแพทย์ไทย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เนื่องจากเทคโนโลยีในการเก็บรักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่ให้คงสภาพเหมือนมีชีวิตอยู่ ดีขึ้นมาก แต่ยังมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่อาจารย์ใหญ่แบบนิ่มมีสภาพดีประมาณ 6 สัปดาห์ ควรมีผู้มาฝึกหัตถการกับอาจารย์ใหญ่แบบนิ่ม ทั้ง major operation และ minor operation ให้มากที่สุด ผู้ที่จะมาฝึกทักษะมีทั้งนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ภายใน คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หรือมหาวิทยาลัยอื่น รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน
จากที่มาข้างต้น รศ.นท.ดร.นพ. สรยุทธ ชำนาญเวช จึงได้ริเริ่มโครงการในระยะแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556โดยการตั้งกองทุนขึ้นในมูลนิธิรามาธิบดีเพื่อรวบรวมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการการผ่าตัดกายวิภาคคลินิกและศึกษาวิจัย นี้ขึ้น ซึ่งได้รับความกรุณาและร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจาก ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถเริ่มดำเนินการด้านการเรียนการวิจัยและการสอนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จึงเห็นได้ว่าห้องปฏิบัติการการผ่าตัดกายวิภาคคลินิกและศึกษาวิจัย คือ
- ด้านการศึกษา สำหรับนักศึกษา แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์เฉพาะทางต่อยอด
- ด้านการวิจัย สำหรับอาจารย์แพทย์
- ด้านบริการ สำหรับแพทย์จากสถาบันอื่น สาขาวิชาอื่นๆ หรือโรงพยาบาลเอกชน
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อการฝึกฝนทักษะในการผ่าตัดให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์
2. เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านสาขาศัลยศาสตร์
3. เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์
4. มีการจัดอบรมการความรู้ด้านสาขาศัลยศาสตร์ และอื่น ๆ
5. เพื่อการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ร่วมกับสาขาวิชาอื่น