สิ่งที่ฉันมองข้ามไป

Volume: 
ฉบับที่ 52 เดือนเมษายน 2567
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
สถาพร นิ่มหนู หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกสูติกรรม งานการการพยาบาลผู้ป่วยนอก 1 ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภายหลังการเปลี่ยนผ่านเมื่อมีผู้ปฏิบัติงานได้เกษียณอายุการทำงานออกไปในหน่วยงานที่ฉันปฏิบัติงานอยู่ จากเดิมที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ที่โอพีดีสูติกรรม ฉันต้องย้ายมาปฏิบัติงานที่ห้องตรวจโครงการวินิจฉัยทารกในครรภ์อยู่ที่ 621 ชั้น 6 อาคารสิริกิติ์ เป็นห้องตรวจเล็ก ๆ แบ่งเป็น 3 ห้อง สถานที่ตรวจแห่งนี้เพื่อตรวจวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์และตรวจติดตามทารกในครรภ์ที่มีความผิดปกติ ซึ่งจะมีการทำหัตถการเฉพาะคือ การเจาะเนื้อรก เจาะน้ำคร่ำ และเก็บเลือดจากสายสะดือของทารกในครรภ์เพื่อตรวจวินิจโรคทางพันธุกรรม การตรวจและการทำหัตถการแพทย์และพยาบาลจึงต้องมีความรู้และความชำนาญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากที่สุด 

ภายหลังการตรวจและเมื่อทราบผลการตรวจ ฉันต้องพบกับอารมณ์หลากหลายของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มาตรวจ เพราะผลการตรวจมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย การบอกข่าวดีเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การบอกข่าวร้ายสำหรับฉันนั้นเป็นเรื่องยากเสมอ ฉันจะได้เห็นอาการดีใจของคุณแม่และญาติ ภายหลังที่ฉันบอกว่า “ลูกในครรภ์แข็งแรงดีนะคะ” หรือ “คุณได้ลูกผู้ชาย (ผู้หญิง) นะคะ” บางครั้งที่ฉันโทรแจ้งทางโทรศัพท์ ฉันก็จะได้ยินน้ำเสียงที่ตื่นเต้นดีใจเสมอเมื่อฉันบอกข่าวดีให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับทราบ แต่ข่าวดีไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่มาตรวจครรภ์ ฉันได้เห็นสีหน้าของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความกังวล บางคนร้องไห้เมื่อทราบผลการวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์ มีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือบางคนพบว่าต้องสูญเสียลูกในครรภ์ ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉันต้องพบเจออยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งฉันก็รู้สึกเห็นใจและเสียใจกับการสูญเสียหรือข่าวร้ายที่เกิดขึ้น ฉันทำในสิ่งที่ฉันพึงกระทำได้คือการปลอบประโลมบุคคลเหล่านั้น 

อีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า ฉันควรทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เกิดการสูญเสียหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงสายของการตรวจวันหนึ่ง ภายในห้องตรวจอัลตร้าซาวด์มีแสงไฟสลัว ๆ แพทย์กำลังตรวจคุณแม่อายุ 30 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ เครื่องตรวจอัลตร้าซาวนด์ทำงานปกติ แต่คุณหมอและฉันไม่ได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ฉันหันไปมองคุณแม่ที่นอนหลับตา ไม่หันมามองหน้าจออัลตร้าซาวด์ที่อยู่ปลายเตียง สีหน้าที่นิ่งเฉยนั้นเป็นสีหน้าที่แฝงไปด้วยความวิตกกังวล ไม่อยากลืมตามองภาพเบื้องหน้านั้น ฉันเห็นแล้วก็พอจะเดาความรู้สึกของเธอได้ 

เมื่อตรวจเสร็จ ฉันชวนคุณแม่พูดคุย “วันนี้ง่วงนอนหรือคะ ช่วงตรวจพยาบาลเห็นหลับตาตลอดเลยค่ะ หรือวันนี้คุณหมออัลตราซาวนด์นานเกินไป คนไข้นอนหลับได้หลายตื่นเลย” ขณะที่ฉันถามก็ส่งยิ้มให้ผู้ป่วย คุณแม่ตอบกลับมาว่า “ฉันไม่อยากเห็นหัวใจลูก มันทรมาน ยิ้มที่ฉันส่งให้ไป เป็นอันต้องหุบยิ้มทันทีเมื่อฉันได้ยินประโยคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ตอบกลับมา ฉันเงยหน้าและสายตามองไปที่คุณแม่ท่านนั้นและทวนคำตอบที่ได้รับกลับมา “คุณรู้สึกทรมานเมื่อเห็นหัวใจลูกหรือคะ” เธอพยักหน้าพร้อมกับน้ำตาซึมที่เริ่มซึมออกมาจากดวงตาทั้งสอง ฉันสัมผัสมือเธอเบา ๆ พร้อมกับมองด้วยสายตาที่บอกให้ทราบว่าฉันยินดีและเต็มใจฟังเรื่องราวของเธอ เธอรับรู้ได้ในสิ่งที่ฉันต้องการสื่อสาร เธอเริ่มเล่าเรื่องราวอันแสนเศร้าและความทุกข์ใจของเธอเมื่อตั้งครรภ์ให้ฟัง 

“ท้องนี้เป็นท้องที่สองแล้วค่ะ ท้องแรกต้องยุติเพราะลูกเป็นโรคหัวใจร้ายแรง” ฉันตั้งใจพร้อมพยักหน้ารับรู้ เธอก็เริ่มเล่าเรื่องราวของเธอต่อ เหมือนรู้สึกอัดอั้นมานานและต้องการคนที่ฟังความรู้สึกของเธอ 

“ตั้งแต่ท้องที่แล้วที่ยุติการตั้งครรภ์ไป ไม่สามารถนอนหลับได้สนิทอีกเลย ไม่รู้จะหาทางออกยังไงดี” ฉันได้ยินแล้วรู้สึกจุกที่ลำคอ ในใจคิดว่าฉันจะช่วยเธอได้อย่างไร การรับฟังความรู้สึกและให้เธอได้ระบายออกมาบ้างน่าจะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ของเธอได้บ้าง “คุณรู้สึกอย่างไรบ้างคะ” ฉันถามเธอกลับไป  

“ฉันรู้สึกเศร้า เสียใจ รู้สึกผิดกับลูก” เธอตอบกลับมา “คุณได้ระบายความรู้สึกเหล่านี้ให้สามีหรือคนในครอบครัวฟังบ้างไหมคะ”  

 “ไม่ได้เล่าให้ใครฟังเลยค่ะ ไม่รู้จะเริ่มเล่ายังไงดี” ฉันมองหน้าเธอด้วยสายตาอ่อนโยนพร้อมสัมผัสมือเธอ “บอกความรู้สึกว่าเรารู้สึกอย่างไร เราเศร้า เสียใจ และรู้สึกผิดที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ลูกต่อได้ เล่าสิ่งเหล่านี้ที่อยู่ในใจออกมา ความทุกข์ ความทรมาน อาจเบาบางลงไปได้บ้างนะคะ” ฉันกล่าวออกไป พร้อมมองสบตาเธอและส่งกำลังใจผ่านสีหน้าและการสัมผัสโดยการบีบมือเธอเบา ๆ “แต่ตอนนี้ถ้าคุณจะเล่าอะไรให้พยาบาลฟังก็พร้อมรับฟังนะคะ พยาบาลมีเวลาให้คุณเล่าได้เต็มที่เลยค่ะ” เธอได้แต่พยักหน้า 

 “ขอบคุณคุณพยาบาลนะคะ” และบทสนทนาก็เงียบลง สักพักเธอก็พูดออกมาว่า “ท้องนี้ลูกก็ไม่แข็งแรง เป็นโรคหัวใจเหมือนคนแรก” ฉันนิ่ง สบตา และพยักหน้ารับฟังเธอพูด “คุณหมอนัดอาทิตย์หน้ามาตรวจอีกครั้ง กลัวว่าเหตุการณ์อาจจะเหมือนลูกคนแรกอีกค่ะ”  ฉันกุมมือของเธอไว้ “เราต้องมีความหวังค่ะ พยาบาลเอาใจช่วยขอให้ท้องนี้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้นะคะ” เธอมองหน้าฉันพร้อมยิ้มให้แต่สีหน้าก็ยังคงดูเศร้า

 “วันนี้ขอกลับก่อนนะคะ” ฉันพยักหน้า ยื่นบัตรนัดของครั้งหน้าให้เธอ และทิ้งท้ายบอกเธอไว้ว่า “ถ้ามีปัญหาอะไรสามารถโทรมาถามหรือปรึกษาได้นะคะตามเบอร์โทรในบัตรนัดเลยค่ะ” 

“ขอบคุณค่ะ” เธอกล่าวและเดินออกจากห้องให้คำปรึกษา การได้พูดเพื่อระบายความรู้สึกออกมาเป็นการช่วยระบายความทุกข์ของเราได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันได้เริ่มคิดว่า ฉันควรทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เกิดการสูญเสียเหล่านี้

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป คุณแม่ท่านนี้ได้กลับมาตรวจตามนัด และเหตุการณ์ที่เธอกลัวก็ได้เกิดขึ้นจริง ถึงเแม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็ตาม การตั้งครรภ์ของเธอนั้นจำเป็นต้องยุติลงในอายุครรภ์เพียง 20 สัปดาห์ เนื่องจากหัวใจของทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง ถึงแม้เราจะเตรียมใจรับกับเหตุการณ์การสูญเสียและความผิดหวังที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น แต่ฉันเชื่อว่าในใจทุกคนล้วนหวังให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจริงเสมอ แม้จะเหลือความหวังอันน้อยนิดก็ตาม แต่ครั้งนี้ปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้นกับเธอ แพทย์ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงแผนการดูแลเพื่อยุติการตั้งครรภ์ให้กับเธอและสามีได้รับทราบ ทั้งคู่รับฟังอย่างเงียบ ๆ แม้เธอจะเตรียมใจไว้บ้างแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยการตั้งครรภ์เหมือนครั้งแรก แต่ความผิดหวัง ความเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ก็ได้ส่งผ่านมาทางน้ำตาและเสียงร้องไห้ของเธอ สีหน้าที่เจ็บปวดของเธอทำให้ฉันน้ำตารื้นขึ้นมาเช่นกัน แม้จะมีประสบการณ์การสูญเสียเมื่อครั้งอดีตมาแล้ว แต่คงยากที่จะทำใจยอมรับกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งใหม่นี้ได้ ฉันได้เชิญทั้งคู่ออกมานั่งรอด้านนอกและได้ปรึกษากับแพทย์เพื่อดูแลด้านจิตใจของทั้งคู่ ฉันและแพทย์มีความเห็นตรงกันว่าจะส่งผู้ป่วยปรึกษาแผนกจิตเวช เพื่อประเมินสภาพจิตใจของเธอและสามีอย่างต่อเนื่อง 

ฉันนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้และอีกหลายเรื่องราวที่คล้ายกันมาทบทวน แล้วฉันก็คิดว่าในหน่วยงานของฉันควรมีการดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ฉันนำเรื่องราวไปปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานของฉันว่า ฉันต้องการสร้างกลุ่มเพื่อดูแลและให้คำปรึกษากับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูญเสียหรือพบความผิดปกติของการตั้งครรภ์และไม่สามารถปรับตัวหรือก้าวผ่านเหตุการณ์การสูญเสียนั้นไปได้ หัวหน้าสนับสนุนในความคิดของฉัน เราจะมองข้ามความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันบอกกับตัวเองว่า ต่อแต่นี้ฉันจะไม่แก้ตัวกับตัวเองว่าฉันไม่มีเวลา งานฉันยุ่ง จนไม่มีเวลาดูแลจิตใจให้ข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ป่วยเหล่านี้ ฉันจะไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป ฉันจะให้การพยาบาลทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเต็มความสามารถที่ฉันมี การสละเวลาเพื่อรับฟังความรู้สึกหรือสิ่งที่ผู้ป่วยถามด้วยความตั้งใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายและตอบคำถามในสิ่งที่ผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือสงสัยเป็นการช่วยบรรเทาความโศกเศร้าของผู้ป่วยได้บ้าง ถึงแม้เป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ที่ฉันพอจะทำได้ในตอนนี้ ฉันก็ยินดีและเต็มใจที่จะทำต่อไป

ไม่กี่เดือนต่อมาหัวหน้าได้บอกฉันว่าจะให้ฉันไปเรียนหลักสูตรเฉพาะทางสี่เดือนเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ หลักสูตรที่ฉันเรียนมีทั้งแพทย์ เภสัชกร นักปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผู้ที่จบปริญญาโท และปริญญาเอกแล้ว ฉันยอมรับว่าหลักสูตรที่ฉันเรียนนั้นยากสำหรับฉันมาก ในช่วงแรกฉันต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้เรียนตามคนอื่นทัน มีการสอบย่อยเป็นระยะเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาจากโจทย์ที่ได้รับมาโดยแสดงบทบาทสมมติ ฉันรู้สึกกดดันและเครียดกับการเรียนมากในช่วงแรก แต่เมื่อฉันนึกถึงเหตุการณ์ที่ฉันต้องพบกับผู้ป่วยในหน่วยงานที่ฉันทำงานอยู่ สิ่งที่ฉันได้เรียนมาน่าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของฉันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือต้องสูญเสียทารกในครรภ์ ฉันจะนำสิ่งที่ฉันได้เรียนมาไปดูแลและให้คำปรึกษาผู้ป่วยเหล่านั้น ฉันพยายามเรียนรู้อย่างเต็มที่เพื่อนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้กับผู้ป่วยในหน่วยงานที่ฉันดูแล ฉันรู้สึกขอบคุณหัวหน้าและหน่วยงานของฉันที่สนับสนุนการเรียนและให้โอกาสฉัน ฉันจะนำสิ่งที่ได้รับมานี้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างเต็มความสามารถของฉันตลอดชีวิตการทำงานอย่างเต็มที่ตลอดไป

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาภายในฉบับที่ 52